เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit แฟชั่นเสื้อผ้าผลิตกันปีละมากมายโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย กลายเป็น fast fashion ที่ผลิตกันเร็ว ขายเร็ว ซื้อเร็ว ใส่เร็ว ทิ้งเร็ว ไม่ต่างจากฟาสต์ฟู้ด ที่เรียกกันว่าอาหารขยะ (หรือแ-กด่วน) มีปัญหาต่อสุขภาพ จึงควรเรียกว่าแฟชั่นขยะ ที่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และต่อเศรษฐกิจการเมืองในและระหว่างประเทศ ดูเหมือนว่า ปรากฏการณ์เสื้อผ้าวันนี้จะมี “จิตสำนึกใหม่” ของฝ่ายผลิต โดยถูกกดดันจากภาคประชาสังคมและการเมือง โดยเฉพาะหลังจากโศกนาฏกรรมตึกโรงงานที่บังกลาเทศถล่มเมื่อปี 2013 คนงานเสียชีวิต 1,134 คน บาดเจ็บ 2,500 คน แต่เบื้องหลังป้ายที่มีคำ “จิตสำนึก” หรู ๆ ติดตามเสื้อผ้าของแบรนด์ยักษ์ใหญ่มีอะไรซ่อนอยู่ เสื้อผ้า “ยั่งยืน” จริง หรือเป็นเพียงเล่ห์กลการตลาด ในยุคสังคมบริโภค ที่ทุนนิยมไม่ปรานีใคร โควิดมา ล็อกดาวน์เข้มหรือผ่อนก็ดูเหมือนไม่ได้ทำให้การซื้อขายเสื้อผ้าลดลง คนอยู่บ้านมากก็มีเวลาดูโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยโฆษณาแฟชั่นเสื้อผ้า ที่ซื้อได้ทั้งออนไลน์ หรือไปลองไปซื้อที่ห้าง นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เสื้อผ้าจึงขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คนอเมริกันทิ้งเสื้อผ้าปีละ 36 ก.ก.ต่อคน ร้อยละ 85 หรือ 13 ล้านตันของเสื้อผ้าถูกทิ้งไปในกองขยะหรือถูกเผา ทั่วโลก เพียงร้อยละ 12 ของเสื้อผ้าที่นำมารีไซเกิลได้ ข้อมูลที่เยอรมนีบอกว่า ปีหนึ่งคนเยอรมันซื้อเสื้อผ้าใหม่คนละ 26 กก. ใส่ 1.7 ครั้งต่อตัว เสื้อผ้าร้อยละ 40 ไม่เคยใส่ ซื้อมาเก็บไว้เต็มตู้ มีแบรนด์ดังประกาศให้นำเสื้อผ้าใช้แล้วไปคืน เมื่อไปซื้อใหม่จะได้ลด 15% แบรนด์นี้เมื่อปี 2016 เก็บเสื้อผ้าเก่ามา 16,000 ตัน ปี 2019 ได้ 29,000 ตันจากทั่วโลก อ้างว่าเอาไป “รีไซเคิ้ล” ความจริง การวิจัยของนักข่าวเยอรมันที่นำไปเสื้อผ้าไปวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมพบว่า ร้อยละ 70 ของผ้า “มือสอง” เป็นใยสังเคราะห์ ที่ทำจากน้ำมันดิบและจากขวดปลาสติก เอาไปรีไซเกิลไม่ได้ นักข่าวจึงตามไปดูว่า แล้วเสื้อผ้ามือสองไปไหน ในเยอรมนีเองก็แยกเอาที่ยังดีอยู่ไปขายต่อ ที่เหลือก็แยกเอาวัสดุที่ยังใช้ได้ไปผลิตซ้ำเป็น “ผ้าขี้ริ้ว” นอกนั้นก็เอาไปทำลายเหมือนขยะ แต่ส่วนใหญ่ถูกส่งไปประเทศยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ อัลเมเนีย บัลกาเรีย นักข่าวตามไปถึงโซเฟียเมืองหลวงของบัลกาเรียพบว่า มีการนำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วจากเยอรมนี สวิส และอื่นๆ มีบริษัทใหญ่ที่รับเสื้อผ้ามือสองมาแยกวันละ 25 ตัน ที่ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ส่วนที่ยังพอใช้ได้ก็แยกไปขาย อีกส่วนหนึ่งแยกวัสดุไปใช้ ซึ่งมีน้อยมากวันนี้ และแฟชั่นใหม่ๆ อายุสั้น คุณภาพไม่ดี ไม่ยืนยาว ส่วนใหญ่จึงขายไปทำไฟให้ความร้อนในบ้านคนจน ซึ่งตามสลัมในเมืองหลวงของบัลกาเรียหลายแห่งไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีเครื่องทำความร้อน จากการศึกษาของอียูพบว่า เด็กที่ “นอนหนาว” ที่สุดในยุโรปคือเด็กบัลกาเรีย เมื่ออุณหภูมิติดลบ อะไรที่พอจุดทำไฟให้ความร้อนได้ก็ใช้หมด เสื้อผ้าเก่าจึงเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกของคนจน นักข่าวเยอรมันนำตัวอย่างผ้าเหล่านั้นกลับมาส่งสถาบันวิจัย พบว่าเมื่อจุดไฟเผาจะเกิดก๊าซที่เป็นพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งคนในบ้านที่สูดดมและเมื่อระบายออกไปภายนอก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โซเฟียเป็นเมืองมลพิษสูงสุดในยุโรป ข้อสรุปเรื่องนี้ คือ ที่ผู้ผลิตอ้างว่าเอาเสื้อผ้าเก่าไปรีไซเคิลนั้นจริงๆ ทำได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น แล้วยังอ้างว่าเป็นการผลิตเสื้อผ้าแบบ “ยั่งยืน” ซึ่งต้องดูทั้งกระบวนการผลิตว่า “ยั่งยืน” จริงหรือไม่เพียงใด การใช้สารเคมีในการปลูกฝ้าย การทำลายดินและสิ่งแวดล้อม การผลิตใยสังเคราะห์ แม้ฝ้ายยังมีส่วนผสมสังเคราะห์ ที่สำคัญ คือ สวัสดิการแรงงานยุติธรรมหรือไม่ เพราะโรงงานผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังกลาเทศ และอื่นๆ ในทุกทวีป ที่ย้ายจากประเทศพัฒนา เพราะค่าแรงที่ถูก ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องฟรีเทรด (free trade) แต่เป็นแฟร์เทรด (fair trade) รวมไปถึงการจ้างแรงงานผลิตกฎหมาย ที่ไร้สวัสดิการ แรงงานเด็ก วันนี้มีองค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Fashion Revolution ที่เกิดหลังเหตุการณ์ที่บังกลาเทศในปี 2013 แต่ก็มีสาขาภาคีไปทั่วโลก มีภาคการเมืองที่กดดันให้ประเทศต่างๆ ออกกฎหมายควบคุมการผลิตเสื้อผ้า ที่ดูจะนำหน้าใครก็เป็นความพยายามของประชาคมยุโรป ที่กำลังถกกันหนักเรื่องนี้ แนวโน้มของจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อมอาจจะดูดีขึ้น มี “แฟชั่นทางเลือก” อย่าง Vintage ที่มีอยู่ทั่วโลกรวมทั้งไทย ซื้อขายออนไลน์ได้ด้วย มีส่วนที่เป็นเสื้อผ้ามือสอง บางส่วนที่นำมาดัดแปลงแต่งเติม ราคาที่คนทั่วไปซื้อหามาสวมใส่ได้ หรือมีองค์กรอย่างมูลนิธิ “กระจกเงา” นำเสื้อผ้ามือสองจากการบริจาคมาแยกแยะ นำไปช่วยคนจน ให้องค์กรชุมบนขาย หรือแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ ผู้นำวินเทจบางคนบอกว่า น่าจะหยุดทำการผลิตเสื้อผ้าสัก 3-5 ปี เพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดเพราะการผลิตและการเผาทำลายเสื้อผ้าร้อยละ 10 และเสื้อผ้าในโลกวันนี้มีมากเกินพอเพียง คงเป็นความฝัน (wishful thinking) ที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เพราะคนมีเงินที่ติดแฟชั่นจะ “ลงแดง” ตายเท่านั้น แต่ห่วงโซ่เสื้อผ้าคงกระทบระบบเศรษฐกิจโลกไปด้วย น่าจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ที่มาจากจิตสำนึกใหม่ของผู้บริโภค และนโยบายทางการเมือง ความจริง คนติดแฟชั่นขยะน่าจะไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น คนส่วนใหญ่ในบ้านเราคงไม่มีใครมีเงินไปซื้อเสื้อผ้ามาเก็บไว้เต็มตู้จนไม่มีที่เก็บ ส่วนใหญ่ยังคงซื้อเสื้อผ้าราคาถูกตามตลาดนัด ตามห้างมาใส่ แต่ก็ซื้อมาเกินจำเป็น เพราะถูกปลุกเร้าจากการโฆษณา ค่านิยมที่ยัดเยียดจากสังคมบ้าบริโภค ให้อยากมีอยากได้ไม่รู้จบ แฟชั่นจากการประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำด้วยมือ ย้อมสีธรรมชาติ วัตถุดิบฝ้าย หม่อนไหมอินทรีย์มีอนาคต แต่ก็เหมือนอาหารสุขภาพที่เป็นทางเลือกที่วันนี้ยังไม่อาจต้านกระแสหลักได้ แต่อย่างน้อยก็ค่อยๆ เติบโต โดยไม่รอให้เห็นโลงศพแล้วค่อยหลั่งน้ำตา