เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงทางตะวันตกของเยอรมนี รวมไปถึงประเทศเบเนลุกซ์ (เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลุกแซมบูร์ก) ฝนตกหนักหลายวัน เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่มไหลไปทำลายบ้านเรือน ถนนหนทาง คนตายถึงวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม ในเยอรมันกว่า 150 คน สูญหายอีกหลายร้อยคน นับเป็นอุทักภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบร้อยปี ที่สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินในแง่หนึ่งยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พันธมิตรได้โจมตีและทำลายบ้านเรือนในเมืองใหญ่ แหล่งอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นหลัก แต่ครั้งนี้ทั้งเมืองและหมู่บ้านถูกทำลายมากมาย และทางภาคใต้ติดออสเตรียก็เริ่มท่วม เป็นภัยร้ายแรงที่ไม่มีใครคาคคิดว่าจะเกิด เร็วจนตั้งตัวไม่ได้ หนีไม่ทัน แม้แต่รถราที่วิ่งบนถนนในเมืองนอกเมืองหลายร้อยคันยังถูกท่วมจนคนเสียชีวิตในรถจำนวนมาก บางคนเรียกว่าเป็นสึนามิบก ไม่ได้มาจากทะเล แต่มาจากภูเขา มาตามแม่น้ำลำคลอง นำเอาต้นไม้ หินดินโคลนถล่มทะลักลงมา นอกจากบ้านเรือนเสียหายแบบพังทลายทั้งหลังจนอยู่ไม่ได้ น้ำท่วมชั้นใต้ดินแทบทุกบ้านในบริเวณถูกท่วม รวมไปถึงชั้นหนึ่ง รถยนต์มากมายลอยเหมือนเรือไปตามถนนที่กลายเป็นแม่น้ำลำคลอง แม้เยอรมนีจะมีระบบป้องกันภัยดี แต่มาแบบนี้ก็ตั้งตัวไม่ทัน ไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต ถูกตัดขาด เกิดความโกลาหล หลายคนหนีไม่ได้ อย่างคนพิการในสถานพักพิงก็เสียชีวิตไปกว่าสิบคน คนชราที่อยู่คนเดียวหรือสองคนที่หนีไม่ทันก็มาก หลายคนห่วงทรัพย์สินกลับไปเอาของ จมน้ำตายในห้องใต้ดินก็มี ในยามวิกฤติเช่นนี้ ได้เห็นวิธีการเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงของเยอรมันทุกระดับตั้งแต่ชุมชน เทศบาล รัฐ ไปจนถึงสหพันธรัฐอย่างพร้อมเพรียงและรวดเร็ว ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกล ไปเยี่ยมผู้ประสบภัย รู้สึกช็อคกับหายนะที่ร้ายแรงกว่าที่ได้เห็นในข่าว ภาพที่เห็นเปรียบดัง “วันสิ้นโลก” (apocalypse) ประกาศว่า รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อเยียวยา ฟื้นฟูทุกอย่างด้วยช่องทางเร่งด่วน (fast-track) ที่น่าสนใจในคำกล่าวของเธอ และของนายกฯ ของรัฐต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมไปถึงนายกเทศมนตรีที่พูดคำเดียวกันคำหนึ่งว่า การกู้ภัยและให้ความช่วยเหลือทุกอย่างจะต้อง “ไม่ทำแบบราชการ” (unbuerokratisch) ที่ทุกคนย้ำเรื่องนี้เพราะประชาชนที่นี่หรือที่ไหนในโลกก็เป็นห่วงว่า “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” เพราะ “ขั้นตอน” และ “ระเบียบราชการ” งานเร่งด่วนแบบนี้ หน่วยงานรัฐเยอรมันปรับตัวทำงานรวดเร็ว “แบบเอกชน” ทันที ขณะที่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมก็เพียงแต่เสริมหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่ทำแทน ซึ่งก็มีกฎหมายที่บอกไว้ชัดเจนว่า ในยามภัยพิบัติให้ทำอะไรในแบบ “ไม่ปกติ” หรือ “แบบพิเศษ” ซึ่งก็มีระบบตรวจสอบ ทำอย่างโปรงใส ไม่ใช่งุบงุบอ้างว่าเร่งด่วนแบบที่มักเห็นกันในบ้านเรา บ้านเขาทำได้เพราะมี “ระบบดีที่ทำให้คนทำถูกได้ง่าย ทำผิดได้ยาก” ตอนนี้ก็เร่งเก็บกวาดขยะที่กองเป็นภูเขาเลากา อาสาสมัครมาเต็มไปหมด ระดมช่วยกันเต็มที่ คาดว่าน้ำไม่น่าจะมาอีก ได้เห็นวิธีการจัดการให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยในที่ต่างๆ โรงแรมหลายแห่งเปิดรับผู้ได้รับผลกระทบ คนไม่มีบ้านอยู่ให้พักฟรี นับเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า ยา ข้าวของเครื่องใช้หลั่งไหลมาจนเกินความจำเป็น มีแพทย์ พยาบาล จิตอาสามาดูแลคนป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ องค์กรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองในการกู้ภัยสงคราม กระนั้นก็ยังถูกวิจารณ์ว่า ระบบเตือนภัยน่าทำได้ดีกว่านี้ หมอที่ไปทำงานช่วยเหลือมีจำนวนมาก บอกเล่าผ่านสื่อทีวีว่า คนในที่พักพิงพิเศษต่างๆ ที่เจ็บป่วยส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว หยูกยาหายไปกับสายน้ำหมด ต้องหายาใหม่มาให้ โรคใหม่เป็นความเครียดช็อคไม่หาย (trauma) หมอคนหนึ่งบอกว่า เคยไปช่วยเหลือภัยพิบัติร้ายแรงรวมสึนามิมาหลายประเทศ มาเจอที่บ้านตนเอง ฟังคนเล่าความทุกข์ด้วยภาษาแม่แล้วสะเทือนใจ กระทบจิตใจหมอเองรุนแรงไม่แพ้ชาวบ้านเอง เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อโควิด 3.7 ล้านคน เสียชีวิต 9 หมื่นกว่าคน น้อยกว่าหลายประเทศในยุโรป เยอรมันรับมืออย่างเคร่งครัดมาแต่ต้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีเวลาให้แพทย์พยาบาลรับมือได้ ผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์และสติปัญญาในการบริหารบ้านเมือง มีความโปร่งใส สัตย์ซื่อต่อประชาชน วันนี้กว่าร้อยละ 60 ของคนเยอรมัน 84 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร้อยละ 47 ได้รับเข็มที่สอง สถาบันที่รับผิดชอบติดตามโรคระบาดนี้บอกว่า ต้องให้ประชาชนร้อยละ 85 ได้รับสองเข็มจึงจะเกิดภูมิต้านทานหมู่ ซึ่งคงอีกไม่นาน แต่ก็เตือนว่า ระลอก 4 กำลังมา ถ้าตั้งรับไม่ดีการระบาดอาจพุ่งเหมือนอังกฤษ สเปน โควิด-19 และอุทกภัยใหญ่ สองภัยพิบัติที่มาพร้อมกันครั้งนี้มีบทเรียนสำหรับคนเยอรมันว่า ไม่ว่าจะตั้งรับดีแต่ไหนก็จะไม่มีทางป้องกันภัยทุกอย่างได้ เพราะสาเหตุหลักคือการพัฒนาโลกที่ทำลายธรรมชาติ ที่สูญเสียความสมดุล เชื้อโรคที่กลายพันธุ์ระบาดรวดเร็วอย่างโควิด-19 และไม่รู้อะไรอีกที่อาจตามมา น้ำท่วม หลักๆ มาจากภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนแล้วว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเป็นฝนตกหนัก มีการอธิบายอย่างเป็นวิชาการทางสื่อให้ประชาชนทราบ เพื่อจะได้รับรองนโยบายการลดภาวะโลกร้อนของรัฐบาลที่กำลังออกมาเป็นกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่อียูจะให้เลิกขายรถใช้น้ำมัน ใช้ก๊าซภายในปี 2035 อีกเพียง 14 ปี ในยามเกิดโควิด-19 ประชาชนคนไทยคงอยากได้ยินคำว่า “ไม่เอาระเบียบราชการ” (unbureaucratic) จากปากของผู้นำประเทศ นักการเมือง ผู้บริหาร อย่างที่เยอรมันพูดและทำในยามวิกฤติ ซึ่งคงยากเพราะนี่เป็นรัฐราชการ เมืองไทยในยามภัยพิบัติร้ายแรง จึงเห็นเอกชนอย่าง “สรยุทธ” อย่าง “บิณฑ์” อย่าง “ตูน” และอื่นๆ ที่ทำงาน “แทน” หน่วยงานของรัฐ การแก้ปัญหาโรคระบาดวันนี้ไม่มีประสิทธิภาพ สับสนวุ่นวาย เพราะที่ร้ายแรงไม่น้อยกว่าโควิด คือวิธีคิดแบบราชการ กับการใช้อำนาจหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการสู้กับโรคระบาดและภัยพิบัติไม่ว่าแบบใดและครั้งใด