เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com คุณหมอประเวศ วะสี พูดไว้หลายครั้งว่า “สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา มีความรู้น้อย ใช้ระบบอำนาจเป็นใหญ่เนื่องจากขาดความรู้ เช่น ระบบราชการ คือ ตัวแทนขององค์กรเชิงอำนาจ มีแต่เน้นกฎหมาย ระเบียบ การสั่งการและการควบคุม ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาที่ซับซ้อนและยากต่อการแก้ไขมากขึ้น” กรณี “หมอแสง” ปราจีนบุรีที่แจกสมุนไพรรักษามะเร็ง เขามีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ รู้กฎหมาย รู้วิธีการทำงาน ให้คนป่วยไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ จัดระเบียบการรับสมุนไพรฟรี แต่ที่สุดก็ยังมีปัญหากับทางราชการ บ่นว่าอาจจะขายลิขสิทธิ์ให้ฝรั่ง แต่เบื้องหลังเบื้องลึกมีอะไรก็ไม่ทราบ หรืออย่างกรณีคุณบรรยง นันทโรจนาพร ที่นครศรีธรรมราชทำ “โปรไบโอติก” ก็ถูกข้อหามากมาย จนอยากขายลิขสิทธิ์ให้ต่างชาติ เสียใจที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในสังคมไทยไม่เห็นความสำคัญ ไม่ให้การส่งเสริมสนับสนุน ตามไม่ทัน “โปรไบโอติก” ยาแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกกำลังพัฒนา ยังมีอีกหลายกรณี ไม่แต่ในแวดวงสาธารณสุข แต่ในทุกวงการที่ประสบปัญหาเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็อ้างแต่ระเบียบกฎหมาย ก่อนมาตั้งสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ผมทำหลักสูตร “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” แล้วนำไปเสนอความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เรียกชื่อว่า “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” ตกลงร่วมกันว่า หน่วยงานของผมจะช่วยเหลือมหาวิทยาลัยของรัฐในการจัดการหลักสูตรดังกล่าวนี้ 5 ปี ช่วยฝึกอบรมรมอาจารย์และร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ จากนั้นก็ให้ดำเนินการเอง ระหว่างปี 2549-2552 เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 8 แห่งโดยมีข้อตกลงว่า เราจะได้รับค่าตอบแทนในความร่วมมือนี้ร้อยละ 15 ของค่าเล่าเรียนนักศึกษา ทุกแห่งเป็นไปด้วยดี ยกวัน 1 แห่งที่จ่ายไปเพียงตอนเริ่มต้น จากนั้นก็ไม่จ่าย อ้างว่าไม่มีระเบียบรองรับ ผมไปร่วมประชุมชี้แจงในสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้น อธิการบดีบอกว่า ไม่มีระเบียบให้จ่ายได้ ก็มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งจากสำนักงบประมาณบอกว่า งบประมาณในมหาวิทยาลัยถ้ามาจากงบประมาณแผ่นดินก็มีระเบียบ ถ้าเป็นรายได้พิเศษก็มีระเบียบ และถ้าหากกรณีนี้ไม่มีระเบียบรองรับก็ออกระเบียบใหม่ และคนที่ออกระเบียบก็ “นั่งอยู่ในที่นี่ไงครับ” เขาบอกที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้น เขาออกระเบียบหรือไม่ออกไม่ทราบ แต่มหาวิทยาลัยก็จ่ายให้ส่วนหนึ่ง แล้วก็ไม่จ่ายอีก ยังค้างอยู่ 25 ล้านบาท ไปทวงถามหลายครั้ง ผู้บริหารบอกว่าอยากได้ให้ฟ้องเอา ในสมัยรัฐบาล “ประชาธิปัตย์” มีโครงการ “ต้นกล้าอาชีพ” หน่วยงานของผมเป็นเอกชนดำเนินการ 1,000 กลุ่ม จำนวน 50,000 คน ทั่วประเทศ โดยตามระเบียบต้องทำผ่านหน่วยงานของรัฐ เมื่องานจะจบ ต้องเบิกงบประมาณที่เหลือหลายสิบล้านบาท หน่วยงานของรัฐที่ว่านี้ไม่ยอมจ่าย บอกว่าไม่มีระเบียบ เรื่องราวต้องไปถึงรัฐบาลผ่านรัฐมนตรีถึงได้เบิกงบประมาณนั้นได้ เลยไม่รู้ว่า ไปพบระเบียบที่ให้เบิกได้ที่ไหน หรือว่า “ระเบียบกฎหมาย” เป็นเพียงข้ออ้างในบางครั้งเพื่อผลประโยชน์ของตน ถ้าสังคมไทยจะพัฒนาไป 4.0 ราชการต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่าที่มาจากการมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง) ที่ใช้แต่ระเบียบกฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมและรักษาอำนาจ อ้างว่าเป็น “หน้าที่” ไม่ได้เอาชิวิต เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นตั้วตั้ง เอาแต่ระเบียบเป็นสรณะ ราชการอำนาจนิยมแบบนี้จึงคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ “ควบคุมตรวจสอบ” ไม่ใช่ “กำกับดูแลส่งเสริมสนับสนุน” เป็นกระบวนทัศน์โบราณที่ล้าสมัยและเป็นอุปสารรคต่อการพัฒนาประเทศ ราชการแบบนี้ให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยนำเข้า” (input) และ “กระบวนการ” (process) โดยไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์” (output) เมื่อนิเทศประเมินโรงเรียนทั่วประเทศจึง “ผ่าน” เกือบหมดเพราะไปดูแต่ว่า มีห้องเรียน ครู อุปกรณ์ หนังสือ ชั่วโมงเรียน ฯลฯ แต่เมื่อมีการประเมินความรู้ เด็กไทย (output) สอบตกเกือบทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขาดปัจจัยนำเข้า (input) อะไร แถมยังเรียนมากกว่าหนักกว่า (process) เด็กในประเทศอื่นๆ ที่สอบได้อันดับต้นๆ ของโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่อง “ระบบ” การทำงานว่า “ให้ประหยัด” (input) “เรียบง่าย” (process) “ประโยชน์สูงสุด” (output/outcome/impact) ปฏิรูประบบราชการน่าจะนำคำสอนของพระองค์ไปถอดรหัสและปฏิบัติตามโดยให้ความสำคัญทั้ง 3 ส่วนอย่างสมดุลและสัมพันธ์กัน ในกรณียาสมุนไพรและการรักษาพื้นบ้าน ราชการมักถามแต่สูตรยาและวิธีรักษา ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าหายป่วยกี่คน หายอย่างไร เอาแต่ระเบียบกฎหมายไปวัดไปจับ ให้ความสำคัญกับกฎหมายมากกว่า “คน” โดยไม่ได้คิดว่า กฎหมายมีไว้สำหรับคน ไม่ใช่คนมีไว้สำหรับกฎหมาย ถ้าชีวิตคนสำคัญกว่า ก็น่าแก้ไขกฎระเบียบ ถ้ารักษาแต่โรค ไม่รักษา “คน” ก็ไม่เข้าใจความทุกข์ ความเจ็บปวดของคนที่ไม่ได้อยู่ที่โรคหรือบาดแผลทางร่างกาย แต่ชีวิตทั้งชีวิตที่เป็นทุกข์ กฎหมายไทยส่วนใหญ่ไปลอกของฝรั่ง นักกฎหมายไทยจบจากเมืองนอก ไม่สนใจศึกษาภูมิปัญญา ระเบียบประเพณีวิถีไทยเพื่อจะได้ “จิตวิญญาณ” ของกฎหมายที่มีรากเหง้าไทย การดูแลรักษาก็ไปเอาหลักเกณฑ์ระเบียบวิธีแบบฝรั่งที่แยกส่วน เอามาควบคุมบังคับภูมิปัญญาไทยที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ถ้ายังไม่ “เข้าใจ” ชีวิต ไม่เข้าใจชาวบ้านก็จะไม่ “เข้าถึง” คุณค่าภูมิปัญญารากฐานสังคม และไม่มีทาง “พัฒนา” บ้านเมืองตาม “ศาสตร์พระราชา” ได้