ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 25 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ที่นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ครั้งที่ 31 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2560 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่มีความสำคัญทั้งสองประชุม ที่จัดในภูมิภาคเอเชียเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เดินทางมาเยือนภูมิภาคเอเชียเป็นครั้งแรก หลังจากรับตำแหน่งตั้งแต่ต้นปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 3-14 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งนับว่ายาวนาน แน่นอนว่าประเด็นด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับผลประโยชน์ด้านการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นประเด็นหลักในการหารือของฝั่งสหรัฐฯ ในครั้งนี้ “การถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)” ที่ครั้งหนึ่งเคยปรากฏขึ้นมาเป็นเสาหลักทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯในเอเชีย ได้ทิ้งให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายและผู้นำทางธุรกิจทั่วภูมิภาคเป็นกังวลเกี่ยวกับอนาคตของการค้า และยังคงไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของผู้ดูแลนโยบายด้านเอเชียในกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่อาจสับสน ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นตัวตั้งตัวตีกับการจัดตั้ง TPP ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การเดินทางเยือน 5 ชาติเอเชีย อันประกอบไปด้วยญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์เป็นระยะเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 3-14 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดของทรัมป์ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 4 ประการ หนึ่ง คือ การเดินทางเยือนครั้งนี้ของทรัมป์จะเป็นการแสดงความชัดเจนว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะมุ่งหน้าไปทางไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในเอเชีย โดยมีความรู้สึกเป็นกังวลค้างคามาโดยตลอดว่า วิสัยทัศน์ “อเมริกาเฟิร์สต์” หรืออเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์อาจส่งผลถึงการไม่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย นอกจาก TPP (TRANS PACIFIC PARTNERSHIP) แล้ว การถอนสมอจากเอเชียของสหรัฐฯที่เป็นกังวลกันยังไม่เกิดขึ้น ทรัมป์ไม่ได้เบี่ยงเบนจากนโยบาย “หันหาเอเชีย” ของฝ่ายบริหารในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามามากนัก ข่าวจากเว็บทำเนียบขาวที่ประกาศแจ้งถึงการเดินทางครั้งนี้ของทรัมป์ระบุว่า การเยือนของทรัมป์จะแสดงให้เห็นถึง “พันธะสัญญาที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องต่อพันธมิตรและคู่ค้าของสหรัฐฯในภูมิภาค” สอง คือ การเดินทางเยือนเอเชียของทรัมป์มีขึ้นในช่วงหลังจากการตอกย้ำสถานภาพความเป็นผู้นำในญี่ปุ่นและจีนชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม อาจทำให้เขามีอำนาจในการขยายบทบาทด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นในภูมิภาค โดยอาเบะมีความรับผิดชอบในการผลักดันทีพีพี ที่มีสมาชิกเหลืออยู่อีก 11 ชาติไปข้างหน้าอยู่แล้วหลังจากสหรัฐฯถอนตัวไป ขณะที่การประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนครั้งที่ 19 เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำ “สถานะความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” และเผยให้เห็นถึงความต้องการก้าวขึ้นมามี “บทบาทในภูมิภาค” และ “ในระดับโลก” มากขึ้นของจีนสีพูดถึง “สมดุลใหม่” ในเอเชียและประกาศวิสัยทัศน์ระยะยาวของจีนในการเป็นผู้นำโลกในแง่ของพลังอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับประเทศและอิทธิพลในระดับนานาชาติ คำประกาศของประธานาธิบดีสีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จีนจะเสาะหาทุกโอกาสในการเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจคาดว่าทรัมป์จะพัฒนาความสัมพันธ์กับทั้งอาเบะและสีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงกับประธานาธิบดี มุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ที่แม้ว่าทรัมป์จะยกเลิกแผนการเดินทางเขตปลอดทหาร แต่ก็มีแผนพบกับผู้นำ เกาหลีใต้ในกรุงโซล ซึ่งในการพบกับมุน สี อาเบะและผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนรายอื่นๆ นั้น ทรัมป์จะเสาะหาความร่วมมือจากพันธมิตรเพื่อ “สร้างฉันทามติที่แข็งแกร่งขึ้นในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเกาหลีเหนือ” และเดินหน้าไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ทรัมป์ยอมรับว่าจีนสนับสนุนการคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่เชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งจะต้องทำมากกว่านี้เพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้เขายังจะผลักดันมุนให้สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือมากกว่านี้ และมีความเป็นไปได้ว่าจะย้ำสาระในเรื่องนี้ต่อบรรดาผู้นำอาเซียนด้วย สาม คือ การเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้เป็นโอกาสในการต่อรองด้าน “ผลประโยชน์ทางการค้า” ของสหรัฐฯ ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางการค้าที่สหรัฐเสียเปรียบมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องสงสัยว่าเขาจะผลักดันเรื่องนี้อย่างหนักใน “การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก)” ในเวียดนาม ทำเนียบขาวหวังว่า การเดินทางครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการเริ่มต้นใหม่หรือบรรเทาสถานการณ์อันยุ่งเหยิง วุ่นวายในการดำรงตำแหน่งปีแรกของทรัมป์ให้เบาบางลงได้ อย่างไรก็ตาม การเดินทางต่อไปสู่การ “ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31” และ “การประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง” ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2560 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ นอกจากการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันแล้ว ยังเป็นการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และเลขาธิการสหประชาชาติ การประชุมอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมผู้นำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยปีนี้จะมี “การประชุมสุดยอดผู้นำวาระพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป” ด้วย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีโอกาสได้พบกับนายกรัฐมนตรีไทยด้วยเช่นเดียวกัน มีกำหนดหารือกับภาคธุรกิจในการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก และจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดแม่โขง – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการประชุมนอกกรอบอาเซียน สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่คาดว่าผู้นำจะหารือกันคือการมองอนาคตในอีก 20-30 ปี ข้างหน้าของประชาคมอาเซียนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม อย่างมีเสถียรภาพที่ยึดหลักนิติธรรม และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยประชาชนอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งประเด็นที่เป็นความท้าทายของโลก และการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค ดังนั้น การประชุมสำคัญทั้งสอง ทรัมป์จะเปิดโลกทัศน์อย่างมาก และพยายามกอบโกยผลประโยชน์มากสุดร่วมกับกลุ่มประเทศในเอเซีย!