ทวี สุรฤทธิกุล การบริหารประเทศคือ ฟังให้มาก คิดให้ดี และตัดสินใจให้เด็ดขาด ระบบที่ปรึกษามีมาตั้งแต่การปกครองครั้งโบราณ ถ้าเราอ่านวรรณกรรมแบบจักร ๆ วงศ์ ๆ ก็จะพบว่ากษัตริย์ที่เป็นผู้นำในสมัยโบราณจะต้องมี “ปุโรหิต” หรือพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาต่าง ๆ แก่กษัตริย์ หรือในเรื่องรามเกียรติ พระรามก็มีพิเภกเป็นที่ปรึกษา โดยพิเภกนี้เป็นน้องของทศกรรฐ์ ตัวร้ายของเรื่อง แต่ได้ “แปรพักตร์” มาอยู่ข้างพระราม ด้วยเหตุที่ตักเตือนทศกรรฐ์แล้วไม่ฟัง จึงมาอยู่ด้วยกับพระรามเพื่อที่จะให้สงครามนั้นยุติ ฟังดูก็คล้าย ๆ กับ คล้าค คลิฟฟอร์ด เพื่อนของประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน ในเรื่อง Path of War ที่ได้นำเสนอมาในบทความนี้ติดต่อกันมาสองสัปดาห์นั้น ซึ่งคลิฟฟอร์ดเตือนจอห์นสันมาตั้งแต่แรกว่า การทำสงครามกับเวียดนามจะเป็น “สงครามที่อเมริกันไม่มีวันชนะ” จึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐ ที่ทำให้สหรัฐเสียศูนย์ สิ้นสุดความยิ่งใหญ่ในโลกทางการทหารมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุที่เรามีระบอบการปกครองแบบเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้นำที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตยเหล่านั้น ก็ยังนิยมใช้การบริหารประเทศแบบรวบอำนาจ อันอาจจะเป็นด้วยความคุ้นชินกับระบอบเผด็จการที่อยู่ในสายเลือดของคนไทยทั้งหลายนั้นมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง รวมถึงด้วยเหตุที่คนไทยอยู่ภายใต้ระบบไพร่มาอย่างยาวนาน คนที่เป็นผู้นำจึงมักจะลุแก่อำนาจและมีความเชื่อมั่นในตัวเองจนล้นเหลือ ไม่ใคร่จะรับฟังผู้น้อยหรือคนที่อยู่ใต้อำนาจ อันนำมาสู่จุดจบของผู้นำไทยหลายคน แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ นำมาสู่หายนะของคนไทยทั้งประเทศนั้นอีกด้วย หลายวันก่อนได้ดูรายการโทรทัศน์ที่พิธีกรได้พูดคุยกับ ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านหารทหารและความมั่นคง ช่วงหนึ่งมีการพูดคุยกันถึงเรื่องการใช้ที่ปรึกษาในสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สืบเนื่องมาจนถึงในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (ต้องขออกตัวก่อนว่าไม่ได้เปิดดูรายการนี้ตั้งแต่ต้น แต่ได้มาฟังในช่วงท้าย ๆ นั้นแล้ว จึงอาจจะมีใจความที่ไม่สมบูรณ์ จึงขออภัยไว้ในที่นี้) จับใจความได้ว่า พลเอกเปรมได้ใช้ระบบที่ปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะได้ทำให้เกิดระบบการบริหารที่ทันสมัย โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐกับเอกชน (กรอ.) ที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประสบความสำเร็จด้วยดี รวมทั้งการใช้ “เทคโนแครต” หรือข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่น มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในภาคส่วนต่าง ๆ จนทำให้ประเทศไทย “โชติช่วงชัชวาล” อย่างไรก็ตาม พลเอกเปรมก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะในกองทัพและในพรรคการเมือง ดังที่มีความขัดแย้งในกองทัพถึงขั้นที่ส่งอันตรายมาสู่ชีวิตของพลเอกเปรม ที่มีทั้งการลอบสังหารและก่อการกบฏ รวมถึงความวุ่นวายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง รวมทั้งที่พรรคบางพรรคต้องแตกแยกกันในพรรค ที่สุดหลังจากที่รัฐบาลของพลเอกเปรมบริหารประเทศเข้าสู่ปีที่ 8 ก็ได้มีกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวจัดทำฎีกา (น่าจะคล้าย ๆ กับในยุคนี้ที่ดาราและคนดัง ๆ “Call Out” ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนนายกฯในช่วงนี้) เพื่อขอให้พลเอกเปรมวางมือลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสีย ซึ่งพลเอกก็ได้ประเมินตนเองและไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ด้วยวาทะที่หลาย ๆ คนคงจำได้ว่า “ป๋าพอแล้ว” ต่อมาในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีกลุ่มที่ปรึกษา “รุ่นหนุ่ม” กลุ่มหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ให้คำแนะนำในนโยบายต่าง ๆ แก่รัฐบาล นำโดยท่านอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายของพลเอกชาติชาย ซึ่งมีนโยบายที่โดดเด่นก็คือ “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ อีกมาก จนทำให้เป็นอีกยุคหนึ่งที่ประเทศไทยมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทว่าก็ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันกับยุคป๋าเปรมอยู่เช่นเดิม คือกองทัพก็ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และมีความขัดแย้งกันในพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ที่สุดก็นำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 อันเป็นวันที่พลเอกชาติชายกำลังนำตัวพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงกลาโหม มาช่วย “จัดระเบียบ” ในกองทัพ ตัดฉากมาที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เขียนเชื่อว่าในตอนที่ทำรัฐประหารสำเร็จ ก็ดูเหมือนจะฟังสังคมรอบด้านอยู่พอควร แต่พอได้เห็นการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พร้อมกับล้มสภาปฏิรูปประเทศในปีต่อมานั้น ก็ทำให้หมดความเชื่อถือรัฐบาลในทันที เพราะนั่นแสดงถึงความไม่จริงใจที่จะถ่ายโอนอำนาจมาสู่ประชาชน เพียงแค่ไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ “ได้ดั่งใจ” ก็โละทิ้งไปเสีย รวมทั้งแสดงถึงการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ไม่สนใจกระแสสังคมที่ต้องการให้ทหารถอยออกไปโดยเร็ว แม้ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ทั้งแผ่นดินภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในปี 2559 ก็ยังให้โอกาสที่ทหารจะได้ดูแลพระราชพิธีต่าง ๆ ให้เรียบร้อย แต่ภายหลังจากนั้นก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 2562 กว่าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ กระนั้นก็เป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยังคงให้ทหารรวบอำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จ พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจย่างเข้าปีที่ 8 และตั้งแต่ที่มีสงครามโควิดในปี 2562 ท่านก็รวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีนี้ทั้งหมด ยิ่งทำให้เห็นว่าท่านมีความเชื่อมั่นในตัวท่านเองเป็นอย่างยิ่ง และถ้าหากจะพิจารณาจากการโต้ตอบสังคมของท่านในวาทะที่ผู้คนเอามาล้อเลียน เช่น “เข้าใจตรงกันนะ” “แล้วไง ๆ” หรือ “ผมผิดอะไร” เป็นต้น ก็พอจะมองเห็น “ความคิด” ในหัวสมองของผู้นำคนนี้ได้ว่า ท่านเป็น “ทหารมั่น” เพียงใด กุนซือที่กลายเป็นกุนเชียงเสียเองยังไม่น่ากลัวเท่า ผู้นำที่เชื่อว่าตัวเองเป็นกุนซือของตัวเอง แต่ที่แท้นั้นน่าจะเป็น “กุนเชียง” เสียมากกว่า