ณรงค์ ใจหาญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลักประกันแก่ผู้พิพากษาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติ และเพื่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญให้หลักประกันแก่ความเป็นอิสระด้านการบริหารงานบุคคล แก่ตุลาการในศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่จะมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง โดยคณะกรรมการของแต่ละศาลเป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นกลไกที่ทำให้ผู้พิพากษาไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการแต่งตั้งโยกย้าย อันจะมีผลต่อการวินิจฉัยหรือทำคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นความเป็นอิสระในด้านงานบริหารบุคคลจึงมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้ตุลาการปราศจากอิทธิพลที่จะทำให้มีผลต่อการทำคำพิพากษาเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน องค์กรในรัฐธรรมนูญอีกองค์กรหนึ่งคือ อัยการ ก็ได้รับหลักประกันความเป็นอิสระในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และให้หลักประกันการบริหารงานบุคคลเช่นเดียวกับศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่จะดำเนินการที่เป็นอิสระ และมีคณะกรรมการเข้ามาควบคุมดูแลแยกจากฝ่ายบริหาร อันเป็นหลักประกันการทำงานของพนักงานอัยการที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง เดิมทีเดียว การมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลงานบริหารบุคคลของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมนั้น มุ่งเน้นที่ศาล เพราะถือว่าเป็นองค์กรที่แยกออกมาจากฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและการดุลและคานอำนาจในระบบประชาธิปไตย ดังนั้น องค์กรตุลาการจึงเป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างเอกชนกับเอกชนหรือ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือในบางกรณีเช่น การจำกัดเสรีภาพของบุคคลในทางอาญา ตุลาการเป็นองค์กรที่ตรวจสอบความจำเป็นในการจับ การควบคุม และการค้นตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยการออกหมายจับ หมายค้น เป็นต้น ส่วนหน่วยงานอื่นๆ เช่น อัยการ ตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เจ้าพนักงานบังคับคดี ยังคงอยู่ในการบังคับบัญชาของรัฐมนตรีที่หน่วยงานนั้นสังกัด แต่ต่อมาภายหลัง องค์กรอัยการได้แยกออกมาจากกระทรวงยุติธรรม และเป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 และในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตามลำดับ เพราะองค์กรอัยการเป็นหน่วยงานสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา หากมีการแทรกแซงการวินิจฉัยสั่งคดีแล้ว จะส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือเลือกปฏิบัติในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย มีข้อสังเกตว่า องค์กรตำรวจ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สองประการ ประการแรก เป็นหน่วยงานสืบสวน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกัน บุคคลการในองค์กรนี้หากมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ก็อาจทำหน้าที่อีกประการที่สองคือ การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งในบางประเทศเช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น ถือเป็นอำนาจเดียวกับการสอบสวนและสั่งคดีอาญา ซึ่งต้องการความเป็นอิสระในการดำเนินการเช่นเดียวกับอำนาจตุลาการ ดังนั้นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการสอบสวนและสั่งคดีจึงควรได้รับหลักประกันการทำงานและมีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลเช่นเดียวกับตุลาการเช่นกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการแทรกแซงทางการเมืองเข้าในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลากรในหน่วยงานนั้นๆ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน องค์กรตำรวจ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามลำดับ ไม่ได้แยกออกเป็นเอกเทศดังเช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอัยการ แต่อย่างไร ดังนั้นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือข้าราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ยังมีรัฐมนตรีเข้าไปกำกับดูแล หากไม่มีการตรวจสอบรัดกุมแล้ว อาจได้รับอิทธิพลของฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายได้ เช่นกัน การพิจารณาถึงความเป็นอิสระในงานบริหารบุคคลของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสอบสวนคดีอาญาจึงน่าจะนำมาพิจารณาในการปฏิรูปตำรวจที่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศพิจารณาอยู่นี้ว่าควรมีกลไกอย่างไรในการทำให้คณะกรรมการตำรวจมีความเป็นอิสระในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยปราศจากอิทธิพลของฝ่ายการเมือง ฝ่ายเอกชน และเน้นหลักคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้ง เพราะหากไม่ได้คนดี มีคุณธรรมและมีคุณภาพแล้ว การดำเนินการสอบสวนซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนส่งให้พนักงานอัยการแล้ว การประสานงานระหว่างอัยการและพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิรูปประเทศที่เร่งด่วนนี้ก็จะไร้ผลในทางความเป็นจริง เพราะอาจมีการละเว้นไปเก็บข้อมูลบางเรื่องหรือละเว้นไม่ดำเนินคดีแก่บุคคลบางคนได้ หากเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอิทธิพล และใช้อิทธิพลดังกล่าวในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวนได้ การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นอกเหนือจากการให้หลักประกันความมั่นคงในการดำเนินงานแล้ว ข้อสำคัญอีกประการคือ การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง รวมถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ต้องมีความรู้ดี มีการพัฒนาทักษะของการปฏิบัติงานที่ยาวนานและต่อเนื่อง ตลอดจนการฝึกอบรมวิทยาการใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง กลไกในการพัฒนาบุคลากรจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานต่างประเทศที่เป็นองค์กรวิชาชีพ ตำรวจ อัยการ หรือศาลที่จะร่วมมือในการถ่ายทอดประสบการณ์ การฝึกอบรม เพื่อให้บุคลากรมีการพัฒนาองค์ความรู้ในทางปฏิบัติ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ กลไกเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการที่แต่ละหน่วยงานจะมีความร่วมมือและพัฒนาบุคลากรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการพัฒนาบุคลากรของแต่ละหน่วยงานตามความต้องการของแต่ละหน่วยงาน แต่ยังขาดการประสานความร่วมมือเพื่อให้บุคลากรของแต่ละหน่วยงานได้ทำงานร่วมกันและประสานงานได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ ทัศนะคติในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณการ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสามารถพัฒนาไปได้อย่างสอดคล้องกัน กล่าวคือ ปัญหาในการบริหารงานยุติธรรมเท่าที่ผ่านมาพบว่า บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม ยังขาดการทำงานร่วมกันในลักษณะการประสานการทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานตามหน้าที่ของตน และไม่ได้มีการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานที่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จึงเกิดความล่าช้าในการทำงานหรือมีการทำงานที่ไม่ประสานงานกัน เพราะขาดความเข้าใจและไม่คุยกันเพื่อแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้การพัฒนาบุคคลากรของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จึงควรมีการประสานความร่วมมือและฝึกอบรมร่วมกัน ในลักษณะนำปัญหาที่ต้องทำงานร่วมกันมาร่วมกันแก้ไขปัญหา และหาทางออกร่วมกัน แทนที่จะพัฒนาบุคลากรต่างคนต่างทำ ซึ่งในกรณีหลังนี้จึงเกิดปัญหาว่าไม่อาจแก้ไขปัญหาการประสานการทำงานในระหว่างหน่วยงานที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน เช่น ระหว่างหน่วยงานสอบสวนและสั่งคดี เป็นต้น โดยสรุป การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จึงควรยกระดับการพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลให้เกิดความเป็นอิสระในการแต่งตั้งโยกย้าย เน้นระบบคุณธรรม และผลการทำงานเป็นปัจจัยในการพิจารณาเลื่อนระดับของเจ้าพนักงาน ส่วนการเสริมสร้างบุคคลกรให้มีความรู้ ทักษะ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องทำอย่างมีแผนและต่อเนื่องโดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำองค์ความรู้ของหน่วยงานวิชาชีพที่ได้มาตรฐานสากลมาถ่ายทอดความรู้และทักษะด้วย อีกทั้งต้องพัฒนาบุคลากรให้สามารถประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ.