เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit ท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ระบาดหนัก ข่าวที่สับสนเรื่องวัคซีน เรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการต่อสู้ที่พลิกไปพลิกมาระหว่างคนกับเชื้อโรค ก็มีข่าวอุบัติภัยหายนะอื่นๆ มาผสมโรง ที่โดยรวมแล้วไม่ได้รุนแรงน้อยกว่าโรคระบาดโควิด เดือนที่แล้วมีอุทกภัยร้ายแรงที่เยอรมนีและประเทศใกล้เคียง ที่จีน ที่อินเดีย ทำความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก เกิดคลื่นความร้อนที่แคนาดาตะวันตก อุณหภูมิสูงถึง 46.6 องศา เกิดไฟไหม้ป่าที่แคนาดาและสหรัฐฯนับล้านไร่ ขณะนี้เกิดไฟป่าที่รุนแรงมากที่ตุรกี กรีก และภาคใต้ของอิตาลี เกาะซิซิลีและซาร์เดญา ประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด ซึ่งร้อนกว่า 40 องศา ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดอัคคีภัยในธรรมชาติครั้งนี้ เช่นเดียวกับที่เกิดในออสเตรเลียเมื่อปีกลายปีก่อนนาน 79 วัน ไหม้ป่าไปกว่า 1.6 ล้านไร่ สัตว์ตายไปหลายพันชนิดหลายล้านตัว ไม่ใช่แต่แกงการู หมีคัวล่า แต่นกหนู สัตว์เล็ก แมลง ที่สร้างควาสมดุลให้ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม โดยไม่ลืมไฟไหม้ป่าอะเมซอน สองปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าบางส่วนยังไม่ดับสนิท ไหม้ป่าไปกว่า 20 ล้านไร่ ทำลายพืชพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์เล็กใหญ่หมื่นแสนสายพันธุ์นับพันล้านตัว ภัยธรรมชาติเหล่านี้เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนที่ร้อนขึ้นทุกปี มีความซับซ้อนมาก แต่สรุปได้ว่า ส่งผลให้เกิดฝนตกนาน น้ำท่วม ดินถล่ม เกิดความแห้งแล้ง ทำให้หนาวจัด เย็นจัดถึงจุดเยือกแข็งในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิด ที่หนักหนาสาหัส คือ พายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น ไซโคลน ที่ทำให้เกิดความเสียหายหนักทุกปี Oxfam ของอังกฤษบอกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เกิดพายุใหญ่ อุทกภัย หายนะในทรัพย์สินและชีวิตผู้คนมากขึ้นเป็น 3 เท่า และ 10 ปีที่ผ่านมา (2011-2021) นับเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุด นักวิทยาศาสตร์อธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ว่า เมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เผาน้ำบนพื้นผิวโลกให้ร้อนจัดโดยเฉพาะในแม่น้ำ ทะเลสาบ มหาสมุทร ก็จะกลายเป็นไอลอยขึ้นไป จับกันเป็นก้อนเกิดฝน เกิดลมพายุ ยิ่งอากาศร้อนมากพายุเหล่านี้ก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้น สาเหตุของ “โลกร้อน” เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาน้ำมัน ถ่านหิน จากรถยนต์ คมนาคม กระบวนการทางอุตสาหกรรม การผลิตทางการเกษตร การเผาป่า ตัดไม้ทำลายป่า เหล่านี้ขึ้นไปเพิ่มเติมเรือนกระจกที่เกิดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักในภัยที่เกิดขึ้น จึงเกิดพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี 2005 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลก คือบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับเดียวของโลกที่มีเป้าหมายผูกพันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากนั้นในปี 2015 ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศต่างๆ ร่วมกันลงนามเพื่อวางเป้าหมายการลดภาวะโลกร้อนร่วมกัน รวมจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสองอันดับแรก แต่สหรัฐฯในยุคนายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีได้ถอนตัวจากข้อตกลงที่ผูกมัดตนเองนั้น แต่นายไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ก็นำสหรัฐกลับเข้าไปเหมือนเดิม ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2021 นี้ จะมีการประชุมสหประชาติว่าด้วยโลกร้อนที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เป็นการประชุมนานาชาติที่สำคัญและน่าติดตามมาก การประชุมครั้งนี้น่าจะมีการเชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาร่วมของโลก ของทุกประเทศ เช่นเดียวกับปัญหาโรคระบาดในขณะนี้ ที่ต้องหาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าชาติรวยหรือจน เมื่อเป็น “ปัญหาร่วมของโลก” ก็ต้องมี “ทางออกร่วมของโลก” (global problem, global solution) ในเวลาเดียวกันก็คงจะได้เห็นการเชื่อมโยงปัญหาไม่ใช่แต่ระหว่างพื้นที่ ระหว่างประเทศ แต่ระหว่างภาคส่วนของสังคม เรื่องเศรษฐกิจ การค้าที่เป็นธรรม (fair-trade) สิทธิมนุษยชน เพราะถ้าหากยังคงระบบทุนนิยมทีส่งเสริมการบริโภคอย่างบ้าคลั่งและไม่สนใจอะไรอื่นนอกจากกำไรแล้ว การแก้ปัญหาคงเกิดได้ยาก เมื่อ 30 กว่าปีก่อนได้ไปร่วมขบวนการชุมชนที่น่านในการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ที่นำโดยพระครูพิทักษ์นันทคุณ และเครือข่ายพระสงฆ์ กับเครือข่ายฮักเมืองน่าน อนุรักษ์ป่าเก่า เกิดป่าใหม่หลายแสนไร่ สิบปีที่แล้วพบท่านพระครูอีก ท่านบอกว่า เราทำงานหนักเพื่อฟื้นฟูป่า พอข้าวโพดราคา 8 บาท ป่าเตียนเหมือนเดิม ท่านพระครูให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่า ต้นไม้ที่เราปลูกและรักษาไว้ลดความร้อน ทำให้อากาศเย็นลง ดูดอากาศเสีย ปล่อยอากาศดี ดูดซับน้ำไว้ในราก ต้นไม้เต็มเขาทำให้เกิดแหล่งน้ำที่ไหลลงมาให้เราได้ใช้ ต้นไม้ ป่าป้องกันน้ำท่วม ป้องกันดินไม่ให้ถล่มลงมา ป่าทำให้สัตว์ นกหนู แมลงได้อยู่อาศัย ได้อาหาร สร้างความสมดุลให้ธรรมชาติ ในหมู่บ้าน ในเมืองก็ควรปลูกต้นไม้มากๆ จะได้ลดมลพิษ ลดฝุ่น ให้ร่มเงา ลดความร้อนแรงของแสงแดด แสงอัลตราไวโอเลตที่มากไปก็เป็นอันตราย ที่สำคัญ ท่านแนะนำให้ปลูกต้นไม้ เพราะจะทำให้ใจคนเย็นลง ไม่เครียดด้วย ความจริง การปลูกต้นไม้วันนี้มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ปลูกต้นไม้ใช้หนี้ เป็นคาร์บอนเครดิต ปลูกเป็นเกษตรผสมผสาน วนเกษตร โคกหนองนา ซึ่งก็มีการส่งเสริมสนับสนุนกัน แต่ก็ยังน้อย ยิ่งมีโรคระบาดก็ดูจะเงียบไป แทนที่จะเป็นโอกาสให้ปลูกต้นไม้ เช่นเดียวกับที่ส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจร สมุนไพร ถ้าวางแผนชีวิตให้ดี คนอายุ 20-30-40 ปีที่เริ่มชีวิตใหม่ในยามวิกฤติ ตกงาน ไม่มีงานทำ ถ้าปลูกไม้ใหญ่ไว้สัก 500-1,000 ต้น เพียง 10 ปี ถ้าวางแผนดีก็สามารถพึ่งตนเองได้ และช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย นี่คือวิธีหนึ่งที่คนธรรมดาจะช่วยแก้ปัญหา เพราะ “จุดเทียนขึ้นมาสักเล่ม ดีกว่านั่งด่าความมืด”