ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล หลังจากที่ได้รับและได้อ่านรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 แต่เพิ่งมาเปิดเผยเอาปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งพออ่านตัวเลขแล้วต้องยอมรับว่า “ยิ้มแฉ่ง!” ก็แล้วกัน เนื่องด้วย “ตัวเลขทางเศรษฐกิจ” ทุกตัวเลขหรือทุกปัจจัยนั้น “บวกหมด!” ที่ต้องบอกเลยว่า “เจริญเติบโตขึ้นมาก” แต่อาจเจริญเติบโตเฉพาะเบื้องบนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่บรรดาบริษัทเล็กๆ หรือ “เอสเอ็มอี (SME : SMALL AND MEDIUM ENTERPRISE)” ไม่ค่อยได้รับอานิสงส์เท่าใดนัก หรือที่มักกล่าวกันว่า “รวยกระจุก-จนกระจาย” หรือ “รวยแต่เศรษฐีแต่คนจนก็ยังจนกันอยู่!” บังเอิญผมเป็นแฟนของคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” ของ “คุณลม เปลี่ยนทิศ” มาอย่างยาวนานหลายสิบปี เพราะรู้จักกันมายาวนานมากจึงชอบการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจที่เรียกว่า “แม่นยำมากที่สุด” และ “ตรงไปตรงมาที่สุด!” ไม่ค่อยมีอคติกับใครหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่สุด จึงขอนำคอลัมน์ “เศรษฐกิจไทยโตร้อยแรงอีกแล้ว” มาขยายในคอลัมน์ผมและนำมาวิเคราะห์ต่อในช่วงท้าย “เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ต้องยกให้เป็นผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ที่ปลุกปั้นมากว่า 3 ปี จนเริ่มฟื้นไข้ การเติบโตของจีดีพีไตรมาส 3 โตขึ้นเกือบทุกด้าน รายจ่ายครัวเรือน +3.1 รายจ่ายรัฐบาล +2.8 การส่งออก +7.4 การลงทุนรวม +1.2 การเกษตร +9.9 อุตสาหกรรม +4.3 การก่อสร้าง -1.7 (ติดลบอยู่เพียงสาขาเดียว) การขนส่ง +8.1 การค้า +6.4 โรงแรมและภัตตาคาร +6.7 รวมแล้วจีดีพีไตรมาส 3 เติบโตร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 โตร้อยละ 3.3 ไตรมาส 2 โตร้อยละ 3.8 รวม 9 เดือนแรกปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.8 ทำให้ไทย มีเงินเกินดุลสูงถึง 593,800 ล้านบาท เป็นการ เกินดุลการค้า 337,400 ล้านบาท เกินดุลบริการ 256,400 ล้านบาท สภาพัฒน์ จึงปรับคาดการณ์ จีดีพีปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 ซึ่งมาจากมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.6 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 บัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.4 ของจีดีพี และคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้า 2561 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6-4.6 หากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังดีต่อเนื่อง การทำตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 นี้ สภาพัฒน์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้ปรับปรุงตัวเลขให้ทันสมัยขึ้น เช่น พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเกษตรไตรมาส 2 ปรับปรุงตามพยากรณ์ล่าสุดของกระทรวงเกษตรฯ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปรับปรุงตามรายงานเดือนตุลาคม 2560 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูลการนำเข้าและส่งออก และบริการไตรมาส2 ก็ปรับปรุงตามข้อมูลบัญชีเดินสะพัดล่าสุดของเดือนตุลาคมของแบงก์ชาติ จึงถือว่าเป็นข้อมูลที่ทันสมัยมากขึ้นจากเดิม แต่ทั้งหมดนี้เป็น ภาพรวม ของเศรษฐกิจไทยที่ยัง รวยกระจุกจนกระจาย ในเวทีสัมมนาประจำปี หอการค้าไทยทั่วประเทศ ที่ สุราษฎร์ธานี สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 แต่ที่ลึกกว่าข้อมูลของ สภาพัฒน์ ก็คือ มีการแจกแจงลงไปถึงจีดีพีรายภาค ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จีดีพีที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 มาจาก กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 3.8 ภาคกลาง ร้อยละ 3.4 ภาคตะวันออก ร้อยละ 5 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.4 ภาคใต้ ร้อยละ 3 โดยมี ภาคตะวันออก เป็นตัวพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จากข้อมูลหอการค้าไทยจะเห็นว่า ภาคเหนือเศรษฐกิจแย่ที่สุด รองมาเป็นภาคอีสาน ภาคที่เศรษฐกิจดีที่สุดคือ ภาคตะวันออก ที่เป็น ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ (ECC) ช่วยหล่อเลี้ยงจีดีพีให้โตถึง 3.9% ผมก็หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไม่มองแต่ภาพรวมที่โตมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ควรเจาะลึกเป็นรายภาคแบบหอการค้าไทย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนให้ตรงจุด แม้จีดีพีไตรมาส 3 ไทยจะโต 4.3% แต่ก็ยังโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย 6.2% เวียดนาม 7.5% ฟิลิปปินส์ 6.9% อินโดนีเซีย 5.1% มีแต่ การเติบโตของเศรษฐกิจจากภายในประเทศเท่านั้น คนไทยจึงจะหายจน และมีความสุข” นั่นคือ การนำเสนอของหน่วยงานภาครัฐบวกกับการวิเคราะห์ของพี่ “ลมเปลี่ยนทิศ” ที่น่าสนใจทีเดียว ทั้งนี้ “สภาวะเศรษฐกิจโลก” เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สนับสนุนพยุงทำให้สภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปสนับสนุนกันเองหมด หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้าน หมายความว่า “ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนชักจูงให้ลอยขึ้นพร้อมๆ กัน มิเช่นนั้นตัวเลขไม่มีทางเป็นบวกเช่นนี้หรอก” หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือว่า “เมื่อทุกปัจจัยหรือทุกอย่างลอยจึงดึงกันลอยหมด!” แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “เครื่องยนต์หลัก” นั้น ดังที่เราทราบอยู่แล้วว่ามี “สี่อุตสาหกรรมเครื่องยนต์” กล่าวคือ “อุตสาหกรรมบริโภค-อุตสาหกรรมส่งออก-อุตสาหกรรมท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมการผลิต” ที่ต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าหนึ่งเครื่องอาจทำงานกระพร่องกระแพร่ง ก็ยังสามารถนำพาประเทศชาติไปได้ หรือแม้กระทั่งสองเครื่องยนต์ทำงานไม่ค่อยดีก็ยังสามารถ “ถูลู่ถูกัง” ประเทศไปได้ ตัวอย่างในอดีต “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” นำโด่งมาโดยตลอด ยังทำให้จีดีพีไทยโตประมาณ 3-3.2 เปอร์เซ็นต์ แต่พอส่งออกดีจึงทำให้โตสูงถึง 3.4-3.5 เปอร์เซ็นต์ พอบริโภคดีขึ้นจึงทำให้โตสูงถึง 3.7-3.8 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อ 3 ถึง 4 อุตสาหกรรมเครื่องยนต์สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งแน่นอนต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลกับประเทศเล็กกับประเทศไทย ทั้งนี้ถึงแม้ว่าไทยเราประเทศเล็กเราต้องติดตามข้อมูลตลอดเวลา พร้อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเชิงนวัตกรรมอย่างรวดเร็วตลอดเวลาครับ แปลว่า “ทีมงานต้องเจ๋งครับ!”