ทวี สุรฤทธิกุล "เพื่อนแท้เขาแทงกันจากข้างหน้า - True friends stab you in the front. " ข้อความนี้เป็นของออสคาร์ ไวล์ด (Oscar Wilde – ค.ศ. 1854 - 1900) นักเขียนและกวีคนสำคัญชาวไอริช มีงานเขียนที่โด่งดังมากมาย อย่างเช่น เรื่อง The Picture of Dorian Gray ที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยนำมาดัดแปลงสร้างเป็นบทละครออกแสดงทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อ 60 ปีก่อน ในชื่อไทยว่า “ลูกคุณหลวง” ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ที่เรียกในสมัยนี้ว่า “เรตติ้งถล่มทะลาย” นั่นแหละ ข้อความนี้ปรากฏขึ้นในตอนต้นของภาพยนตร์เรื่อง The Special Relationship ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ HBO และ BBC ใน พ.ศ. 2553 แต่ผู้เขียนเพิ่งได้ชมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางทีวีอินเตอร์เน็ตช่องหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษ” ระหว่างประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐอเมริกา กับนายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ในช่วงปี 2540 ถึง 2550 ที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในโลก คือกรณีของสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโคซาโว ที่ผู้นำทั้งสองคนนี้ได้ร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์จนเรียบร้อย ในขณะที่ก็มีเหตุร้ายส่วนตัวเกิดขึ้นกับบิล คลินตัน คือกรณี “ลูวินสกี” อันอื้อฉาว คำว่า “Special Relationship” เป็นคำที่ใช้ในทางการทูต มีนัยยะที่แสดงถึงความสนิทสนมกันเป็นพิเศษของผู้นำประเทศ ที่แสดงออกด้วยการให้เกียรติยกย่องและช่วยเหลือกันและกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในความร่วมมือกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อย่างเรื่องความสัมพันธ์ของคลินตันกับแบลร์นี้ก็เป็นไปในลักษณะดังกล่าว แต่เขาทั้งสองไม่ได้ช่วยกันแต่เฉพาะในเรื่องวิกฤติของโลก แต่ยังได้ช่วยเหลือกันใน “วิกฤติส่วนตัว” นั้นด้วย ซึ่งไม่ค่อยจะได้พบเห็นในความสัมพันธ์ทางการเมืองโดยทั่วไป อย่างที่มีการกล่าวไว้ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในทางการเมือง” ภาพยนตร์เรื่อง The Special Relationship เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ที่สร้างขึ้นเพื่อนำเสนอชีวประวัติของนายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษนี้โดยเฉพาะ โดยเป็นเรื่องที่ 3 ต่อจาก 2 เรื่องแรก คือ The Deal กับ The Queen ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2546 และ 2549 ก่อนหน้านั้น (The Deal เป็นเรื่องของโทนี่ แบลร์ ในตอนก่อนที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของพรรคเลเบอร์ ส่วน The Queen เป็นตอนที่แบลร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเน้นในช่วงที่เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ ซึ่งเรื่องหลังนี้ได้เข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ด้วย ซึ่งผู้เขียนก็เคยได้ดู เป็นภาพยนตร์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษกับพระราชินี คือควีนอลิซเบธ ในรูปแบบที่สะท้อนวัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองการปกครองของอังกฤษได้ชัดเจนดีมาก) The Special Relationship เริ่มฉากแรกในครั้งที่โทนี่ แบลร์ ยังเป็นแค่ ส.ส.คนหนึ่งของพรรคเลเบอร์ แล้วได้ไปพบปะกับทีมงานหาเสียงของประธานาธิบดีคลินตัน แล้วแบล์ก็สามารถชนะเลือกตั้งได้ตามคำแนะนำนั้น คลินตันได้ต้อนรับแบลร์เป็นอย่างดีทุกครั้ง ตั้งแต่ก่อนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นแล้ว ทำให้แบล์รู้สึกซาบซึ้งและเชื่อว่าคลินตันนี้คือมิตรแท้ คลินตันเป็นคนแนะนำให้แบลร์ “สร้างประวัติศาสตร์” เพราะสิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้นำประเทศ ซึ่งแบลร์ก็ทุ่มเทอย่างหนักในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนของไอร์แลนด์เหนือ ที่เป็นปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อของอังกฤษมาหลายสิบปี และสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ ต่อมาก็เกิดปัญหากองทัพเซอร์เบียบุกโจมตียูโกสลาเวีย ที่เรียกว่าวิกฤติโคซาโว แบลร์ได้เรียกร้องให้ยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาให้ร่วมรบอย่างเต็มที่ แต่สหรัฐได้อิดออดในช่วงแรก เพราะมีบทเรียนจากสงครามเวียดนามรวมถึงตะวันออกกลาง ที่สหรัฐมีบทเรียนจากความพ่ายแพ้ในสงครามเหล่านั้น กระทั่งแบลร์เกือบจะหมดใจ แต่ท้ายที่สุดคลินตันก็ยอมเข้ามาช่วย และสามารถยุติสงครามในโคซาโวได้ในที่สุด ก่อนหน้านั้น คลินตันได้มีเรื่องอื้อฉาวกับสาวฝึกงานในทำเนียบขาว ชื่อ โมนิกา ลูวินสกี เรียกว่า “กรณีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม – Inappropriate Relationship” จนถึงขั้นถูกนำเรื่องขึ้นสู่การไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เรียกว่า “คดีไวท์วอเตอร์” แต่วุฒิสภาได้ลงคะแนนให้คลินตันพ้นผิดไปได้ แต่กระนั้นก็ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2543 ที่คลินตันไม่ได้ลงสมัคร เนื่องจากอยู่ครบวาระ 2 สมัย แต่ อัล กอร์ ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีของคลินตันลงสมัครแทน จนพ่ายแพ้ดังกล่าว (แต่ก็เป็นการพ่ายแพ้ที่เฉียดฉิว เพราะเกิดกรณีไฟฟ้าดับในการนับคะแนนที่ฟลอริดา ที่ทำให้จอร์ช บุช พลิกกลับมาเอาชนะได้ เมื่อมีการนับคะแนนใหม่อย่างช้า ๆ อัล กอร์ ก็ประกาศขอยอมแพ้ ด้วยคำกล่าวที่ว่า “เพื่อรักษาประชาธิปไตย”) ในช่วงที่เกิดกรณีลูวินสกี แบลร์ได้เดินทางไปพบคลินตันที่สหรัฐอเมริกา และได้ออกสื่อช่วยกู้ภาพลักษณ์ให้กับคลินตัน ทำให้คลินตันรู้สึกซาบซึ้งในมิตรภาพในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง The Special Relationship ได้พยายามสื่อให้เห็นว่า นี่คือ “ความเป็นมิตรแท้” เพราะแบลร์ได้กล่าวถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมในทางเพศนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในฐานะผู้นำประเทศรวมถึงผู้นำครอบครัวแล้ว คลินตันถือได้ว่าทำหน้าที่ได้ดีเป็นอย่างยิ่ง สมควรที่จะต้องได้รับการยกย่องนับถือ นั่นก็คือ แบลร์ได้ “แทงซึ่งหน้า” เพราะได้พูดถึงคลินตันออกสื่อต่อหน้าคลินตันที่ยืนอยู่ข้าง ๆ นั้นด้วย แต่ก็ด้วยความจริงใจในมิตรภาพและความเคารพนับถือ อย่างคำกล่าวของ ออสการ์ ไวลด์ ที่ยกมาข้างต้นนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากจะเป็นมีอาชีพเป็นนักการเมืองมาก เพราะมีข้อแนะนำในการวางตัวและการแสดงออกของคนที่จะเป็น “นักการเมืองมืออาชีพ” ไว้มากมาย แต่ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษก็ตอนต้นเรื่องที่แบลร์ได้ประชุมร่วมกับทีมหาเสียงของประธานาธิบดีคลินตัน แล้วมีข้อแนะนำว่า “จงนำเสนอนโยบายที่ประชาชนอยากได้ ที่เรา(ผู้สมัคร)อาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อชนะเลือกตั้งแล้วก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ (แม้จะยากเพียงใดก็ตาม)” นั่นก็คือ นักการเมืองต้องรักษาคำพูด การพยายามทำให้ได้อย่างที่พูด แม้ไม่สำเร็จ ก็ยังดีกว่าไม่พยายามทำตามที่พูดไว้ และมีช่วงหนึ่งแบลร์ได้ยกมือถามว่า “เคล็ดลับในการเอาชนะเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดคืออะไร” ก็ได้รับคำตอบว่า “จงทำตัวให้โดดเด่น ให้เป็นที่จดจำ” มิน่าล่ะ นักการเมืองส่วนใหญ่จึง “หิวแสง” ซึ่งบางคนก็ดับ และบางคนก็ได้ดี