เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) เป็นแนวคิดที่กำลังมาแรงทั่วโลกวันนี้ อาจเรียกชื่ออื่น แต่โดยรวมแล้วหมายถึงการให้เงินฟรีๆ แก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (ต่อไปขอเรียกว่า รพถ. หรือ UBI) แตกต่างจากสวัสดิการที่รัฐให้ เพราะเป็นการให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ยุ่งยาก ให้ทุกเดือน เช่น ประเทศไทยอาจจะโอนเงินเข้าบัญชีของคนไทยทุกคนหรือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าการเสียภาษี ทุกเดือน 5,000 บาท หรือรูปแบบอื่น ฟังดูอาจจะฝันเฟื่อง หรือไม่ก็เป็นการหาเสียงของนักการเมืองประชานิยมสุดโต่ง แต่ลองศึกษาหาข้อมูลและหลักฐานข้อเท็จจริง (ซึ่งมีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต) อาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้ รพถ.ไม่ใช่เรื่องใหม่ โทมัส โมร์ (1478-1535) เมื่อเกือบห้าร้อยปีก่อน โทมัส เพน (1737-1809) เมื่อสองร้อยปีก่อนพูดถึงส่วนแบ่งที่เป็นธรรมที่ราษฎรควรได้รับจากภาษีรายได้ของรัฐ มิลตัน ฟรีดมัน (1912-2006) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มาร์ติน ลูเธอร์ คิง อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐหลายคน จนถึงริชาร์ด นิกสัน ที่เกือบผ่านกฎหมาย UBI ในปี 1971 ผ่านสภาล่างและไปตกที่สภาบน กฎหมายที่ต้องการ “แจกเงิน” คนอเมริกันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เรื่องดูเหมือนเงียบไปหลายปี มาเริ่มพูดถึงกันอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องเพราะความกลัวว่า อนาคตคนจะตกงาน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่โรงงานต่างก็ย้ายไปอยู่ประเทศกำลังพัฒนาที่แรงงานถูกกว่า และงานทุกระดับกำลังถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จนนักอนาคตวิทยาบางคนทำนายว่า 12 ปีข้างหน้า (2030) จะมีคนตกงาน 2,000 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของแรงงานงานวันนี้ ขณะเดียวกัน โปรแกรมสวัสดิการต่างๆ ของรัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้จริง คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง ความเหลื่อมล้ำถ่างออกไปทุกที และเป็นเช่นนี้ทั่วโลก ไม่ว่าประเทศรวยหรือจน ภาพรวมของทั่วโลกดูน่ากลัว จึงไม่แปลกที่คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้และแนวทางแก้ปัญหาด้วย รพถ.จะมีนักการเมืองทั้งซ้ายและขวา ทั้งสังคมนิยมและทุนนิยม รวมทั้งมาร์ก ซักเคอร์เบอร์กแห่งเฟสบุ๊ก และอีลอน มัสก์แห่งเทสลา และบรรดาผู้ประกอบการในซิลิคอน วัลเลย์ ที่สำคัญ มีงานวิจัยทดลองนำร่องในหลายประเทศ อย่างที่แคนาดาที่ทำการทดลองในเทศบาลแห่งหนึ่งตั้งแต่เมื่อปี 1970 เศษ แต่วิจัยเสร็จไม่มีการนำผลมาวิเคราะห์เพราะเปลี่ยนรัฐบาลท้องถิ่น หลายปีที่ผ่านมามีการนำผลมาวิเคราะห์พบว่าได้ผลดี สุขภาพผู้คนดีขึ้น อาชญากรรมลดลง ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมมีมากขึ้น และอื่นๆ ที่แคนาดาจึงมีการทดลองอีกเมื่อไม่นานมานี้ในอีกบางพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย นามีเบีย ยูกันดา เคนยา บราซิล และอีกหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการทดลองนำร่อง ประชากรเป้าหมาย 1,000-8,000 คน ระยะเวลาสองสามปีถึงสิบปี มีหลายโครงการได้สรุปผลการทดลองในเบื้องต้นแล้วอย่างที่อินเดีย ที่เคนยา และหลายแห่งกำลังวางแผนทำการทดลอง ซึ่งธนาคารโลกเองก็ให้การสนับสนุนและได้ร่วมทำการวิจัยในหลายประเทศ แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งงานวิจัยนำร่องต่างๆ ก็ให้คำตอบ เช่น เป็นโครงการที่แพงมากก็จริง แต่มีหลายรูปแบบ ถ้าหากคำนวณให้ดี ก็จะพบว่าไม่ได้แพงเกินกว่าจะหางบได้ เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้ม เพราะลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ปัญหาสังคม อาชญากรรม ทำให้คนมีการศึกษาดีขึ้น มีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น คนมีอิสรภาพมากขึ้น หรือวิจารณ์ว่า คนจะขี้เกียจและไม่ทำงาน ซึ่งไม่จริง เพราะถ้ามีเงินดำรงชีพพื้นฐานคนก็จะมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกงานที่มีความหมายต่อชีวิตของตนเองมากขึ้น มีพลังสร้างสรรค์และมีความสุขมากขึ้น หรือบอกว่ายากจะเกิดขึ้นได้เพราะเป็นการปฏิวัติโครงสร้างเลยทีเดียว ต้องเปลี่ยนระบบสวัสดิการ ลดงานสวัสดิการ แต่ก็เกือบเกิดขึ้นที่อเมริกาเมื่อปี 1971 และวันนี้กำลังเป็นที่สนใจของรัฐบาลหลายประเทศ รพถ.เป็นการปรับกระบวนทัศน์เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ที่คนมีอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและสังคมมักคิดแทนประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจน คิดโครงการแก้ปัญหา เป็นสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เป็นร้อยเป็นพันอย่าง ตั้งเงื่อนไขมากมายให้คนปฏิบัติตาม รพถ.ไม่ใช่สวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นการให้เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรจะได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรมในมรดกที่บรรพบุรุษได้ทำไว้และส่งต่อมาให้เรา ระบบปัจจุบันทำให้คนรวยได้รางวัล คนจนถูกลงโทษ ซึ่งเป็นความอยุติธรรมทางสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนเลวลง คนจนไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เพราะไม่มีเงิน ไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนมีผลงาน (productive) และหลุดพ้นจากความจน สังคมไทยก็มีสวัสดิการมากมายหลายอย่างที่ใกล้เคียงกับแนวคิด รพถ. อย่างสวัสดิการผู้สูงอายุ “สุขภาพถ้วนหน้า” รักษาได้ทุกโรค แต่บางสวัสดิการดูเหมือนจะดีแต่มีเงื่อนไขและเงื่อนงำ ให้คูปองซื้อของในร้านที่กำหนด แทนที่จะให้เงินสดไปซื้อของในตลาดนัดหรือที่ไหนก็ได้ หรือว่าสวัสดิการส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นกับดักความยากจน ไม่ได้ช่วยปลดปล่อยศักยภาพคนจนให้ “ระเบิดจากข้างใน” ไปสู่ความเป็นไท ?