เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit ภายในสิ้นปี 2021 WHO บอกว่า โลกจะผลิตวัคซีนได้ 14,000 ล้านโดส เมื่อต้นปี ไฟเซอร์ว่าจะขายให้ COVAX (กองทุนวัคซีน) หนึ่งในสาม เช่นเดียวกับโมเดอร์นา และยี่ห้ออื่น แอสตรา ของจีนและรัสเซีย นั่นเป็นคำสัญญาในการประชุมผู้นำโลกเมื่อปลายมีนาคม แต่เมื่อโควิดระบาดระลอกใหม่ด้วยสายพันธุ์เดลตา ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศที่ผลิตวัคซีนอย่างสหรัฐฯ ยุโรป จีน อินเดีย ต่างก็ลดการส่งออกและการบริจาคลง อินเดียถึงกับระงับการส่งออก เพราะเดลตาระบาดรุนแรงจากที่นี่ การระบาดของโควิดทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ประเทศรวยมีวัคซีนหลือ และกำลังฉีดรอบสามเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพราะได้จองวัคซีนไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อย่างแคนาดามีประชากร 38 ล้าน แต่จองซื้อล่วงหน้า 414 ล้านโดส ประเทศรวยมีวัคซีน 90 โดสต่อประชากร 100 คน แอฟริกามีเพียง 6 โดสเท่านั้น วัคซีน 85% อยู่ในประเทศรายได้สูงและสูงปานกลาง ประเทศยากจนที่มีจีดีพีต่ำสุดนั้นได้เพียง 0.3% ประเทศเฮตีมีเพียง 1 โดสต่อประชากร 1,000 คน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกยังไม่ได้ฉีดสักคน ทั้งๆ ที่วันนี้ผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 53,000 คน ตาย 1,050 คน ประชากร 92 ล้านคน ตรวจไม่ถึง 300,000 คน ตัวเลขจริงคงติดตายมากกว่านี้ องค์การอนามัยโลกได้ก่อตั้ง COVAX เพื่อรับบริจาคเงินหรือวัคซีนจากประเทศร่ำรวย โดยมีเป้าหมายให้ได้วัคซีนปีนี้ 1 พันล้านโดส และกลางปีหน้าอีก 1 พันล้านโดส แต่ดูเหมือนเงินบริจาคไม่พอ แม้บริษัทต่างๆ ที่ผลิตวัคซีนจะลดราคาให้ COVAX แต่ก็ไม่มีงบเพียงพอเพื่อซื้อวัคซีนอยู่ดี ปัญหาโควิดครั้งนี้เป็นโรคระบาดโลกที่ต้องฉีดวัคซีนคนทั้งโลก 6-7 พันล้านคน และไม่ใช่ครั้งเดียว แต่อาจต้องฉีดทุกปีหรือหกเดือนด้วยซ้ำ และยิ่งไวรัสนี้กลายพันธุ์คงต้องพัฒนาวัคซีนใหม่หรือปรับของเก่าให้ดีพอเพื่อรับมือ รวมทั้งอาจเกิดโรคระบาดชนิดใหม่ ที่คนตั้งตัวไม่ทันแบบโควิด วัคซีนและยาก็ยังไม่มี กองทุนวัคซีน (COVAX) มีเป้าหมายว่า ภายในเดือนกันยายน 10% ของประชากรแอฟริกาควรได้รับการฉีดวัคซีน แต่วันนี้มีเพียง 1.7% เท่านั้น ต้องได้รับวัคซีน 183 ล้านโดสจึงจะไปถึงเป้าหมาย และเป้าหมาย 30% ที่วางไว้ปลายปีนี้ก็ต้องได้วัคซีน 729 โดส ข้อจำกัดของปริมาณวัคซีนและการกระจายอย่างเป็นธรรมทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายร่วมกันหาทางออก เพราะนี่เป็นปัญหาโลกที่มีผลประทบถึงกันหมด จะไม่สามารถหยุดโควิดได้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศรวยจะรอดคนเดียวไม่ได้ แต่ก็อาจคิดได้แต่ไม่เกิดสำนึก การที่ประเทศรวยจะพยายามช่วยประชาชนของตนเองก่อนก็เป็นที่เข้าใจได้ แต่ก็ควรหาวิธีที่เป็นไปได้ที่จะผลิตวัคซีนให้ได้เร็วขึ้นและปริมาณมากขึ้น โดยมีการกระจายการผลิต การลดกฎเกณฑ์เรื่องสิทธิบัตร หรือการไม่ต้องจดสิทธิบัตร และมีการแบ่งปันข้อมูลความรู้ทักษะในการผลิตวัคซีน ฟังดูก็ดี เพราะเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่ควรมีต่อประชากรโลก โดยเฉพาะที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงวัคซีน แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากบริษัทยา ผู้ผลิตวัคซีนที่เห็นว่าจะทำให้ขาดแรงจูงใจให้สร้างนวัตกรรม อันเป็นตรรกะของทุนนิยมที่ต้องการการผูกขาดเพื่อทำกำไรให้เพียงพอ ก่อนที่จะ “ปล่อย” แต่ประเทศต่างๆ แม้แต่สหรัฐฯเองก็เห็นด้วยกับการก่อตั้งองค์กรกลางเพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีต้านโควิด (Covid-19 Technology Access Pool, C-TAP) เพื่อให้บริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ที่พิสูจน์แล้วได้แชร์ข้อมูลความรู้และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้ผลิตใหม่ๆ สามารถเข้าถึงความรู้ในราคาถูกหรือฟรี จะได้ลดกระบวนการขั้นตอนในการศึกษาวิจัยและพัฒนาจนได้วัคซีน ซึ่งยุ่งยาก ยาวนานและต้องลงทุนสูง นี่เป็นแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาวิกฤติโลกร่วมกัน ซึ่งถ้าคิดกันให้กว้างก็น่าจะเป็นวิถีทางที่ถูก เพราะเพียงไม่ถึงปี บริษัทผู้ผลิตวัคซีนก็ถอนทุนและทำกำไรได้มหาศาลอยู่แล้ว และถ้าหากไม่เร่งผลิตวัคซีนให้เพียงพอ คงหยุดโควิดไม่อยู่ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม มีโมเดอร์นาที่ดูเหมือนเห็นด้วยที่จะแชร์ข้อมูล แต่ส่วนใหญ่ถ้าไม่ต่อต้านก็ยังเงียบ อีกอย่าง มีการแนะนำว่า ควรส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ เซเนกัล คอสตาริก้า เป็นต้นเพื่อจะได้แก้ปัญหาว่า ผลิตแล้วต้องใช้กับประชาชนของตนก่อน เพราะประเทศเหล่านี้มีพลเมืองไม่มาก เพื่อแก้ปัญหาอย่างที่กำลังเกิดที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ใช้ในประเทศตนเองก่อน ประสบการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายปีที่ผ่านมา (เรื่อง CL Compulsory Licensing การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตร) ทำให้เห็นว่า อาจมีการใช้กับวัคซีนและยาใหม่ๆ ที่จะออกมาก็เป็นได้ เพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงกว่าเอชไอวีด้วยซ้ำ แต่การผลิตวัคซีนโดยใช้ข้อมูลความรู้จากกองกลางอย่าง C-TAP คงไม่ง่ายนัก เพราะต้องมีการเรียนรู้ การฝึกอบรม การถ่ายทอด know-how และความช่วยเหลือจากบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร ปัญหาโควิดเกี่ยวข้องกับสาธารณสุข (epidemiology) กับเศรษฐกิจและกับศีลธรรม จัดการโควิดไม่ได้ เศรษฐกิจไม่มีทางฟื้น และความหวังของโลกอยู่ที่วัคซีนเท่านั้น ดูเหมือนว่า ความเหลื่อมล้ำทางวัคซีนแสดงให้เห็น “ความล้มเหลวทางศีลธรรม” (moral failure) อย่างที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกบอก การบริจาควัคซีนจากประเทศรวยที่ “ตุน” ไว้มากจนเหลือ ก็ยังมีข้อกังขาว่า เป็นเพราะเป็นยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพน้อย หรืออาจจะใกล้ “หมดอายุ” หรือไม่ เพราะหลายประเทศรวยมีปัญหาการฉีด ต้อง “จ้าง” คนมาฉีดเป็นเงิน เป็นอาหาร เป็นรางวัลจึงยอมมา แต่ก็ช้ากว่าตอนต้นมาก ที่คาดว่าจะฉีดทุกคนในเร็ววันคงยาก โลกจึงอยู่บนทางสองแพร่ง (dilemma) จะช่วยกันผลิตและกระจายวัคซีนให้มากที่สุดโดยเร็ว หรือว่าจะปล่อยให้โควิดระบาดเพราะขาดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นเหมือนมือไม้ของเศรษฐกิจโลก ถ้าอ่อนเปลี้ยเพลียแรง โลกก็เหมือนคนหัวโตสมองดี แต่ไม่มีแรงทำงาน เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้อย่างไร