รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้จ่ายในส่วนของธุรกิจภาคบริการคิดเป็นเม็ดเงินราว ๆ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านทำงานเป็นหลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวทำให้รูปแบบการจับจ่ายใช้สอยสินค้าหรือบริการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว การเดินทาง และการกินข้าวนอกบ้านตามร้านอาหารหรือภัตตาคารหายไป แต่หันมาซื้ออาหารตุนที่บ้าน ซื้ออุปกรณ์กีฬาเพื่อออกกำลังกายที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ สบู่ แอลกอฮอล์ มียอดขายพุ่งขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์... นอกจากนี้ วิตามิน อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ย้อมหรือทำสีผม และกาแฟ มียอดซื้อต่อเนื่องไม่ลดลงทั้งในยุโรปและอเมริกา ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ชะลอการซื้อ ได้แก่ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด สำหรับวิธีการซื้อสินค้าคือ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ (Online shopping) ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตอย่างก้าวกระโดด จริงแท้ ... “โควิด-19” ... คือปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและนิสัยการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน!!! เหตุใด? การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้คน เพราะทุกคนกลัว ‘หมดลมหายใจ’ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค การกระจาย และการแลกเปลี่ยน ที่ต้องเผชิญหน้ากันเข้าสู่สภาวะชะงักงันหรือหยุดชะงัก ขณะเดียวกันผู้คนกลับตกงานนับล้าน ๆ คน สวนทางกลับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ผู้คนต่างต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดทางการเงินกันในทุกวิถีทาง รวมถึงการยื่นมือเข้าช่วยเหลือทางการเงิน (Financial support) ของรัฐบาล จากผลการสำรวจของ Pew Research Center พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของชาวอเมริกันคือ “แย่ลง” ต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้นไปกว่าที่สถานะทางการเงินจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และบางคนคิดว่าสถานะทางการเงินของตนเองจะไม่มีทางฟื้นตัวดีขึ้นเลย ขณะที่เว็บไซต์ Investopedia เปิดเผยว่า อัตราการออมส่วนบุคคล (Personal saving rate) ของชาวอเมริกาในช่วงต้นปี 2021 สูงขึ้น 27.6% แม้ว่าเปอร์เซ็นต์การออมเงินเพิ่มขึ้นแต่ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลง และหลายคนก็มีหนี้สินล้นท่วมตัว แต่ก็ยังมีบางคนสามารถออมเงินได้ภายใต้สถานการณ์ช่วงโควิด-19 เช่นกัน กล่าวง่าย ๆ คือ โควิด-19 ได้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ อย่างชัดเจน คือคนที่รอดก็จะรอดและมีสถานะทางเศรษฐกิจการเงินแกร่งมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่รอดก็คือไม่รอดและมีสถานะทางการเงินแย่ลงเรื่อย ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นคือ พฤติกรรมและนิสัยการจับจ่ายใช้สอย สถานะทางการเงิน และการออมเงินที่แปรเปลี่ยนไปเพราะ ‘โควิด-19’ ของผู้คนในประเทศอื่น สำหรับพฤติกรรมและนิสัยการจับจ่ายใช้สอย สถานะทางการเงิน และการออมเงินของคนไทยจะเป็นอย่างไร? ติดตามผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” อาทิตย์ที่ 22 สิงหาคมนี้ ครับ.... ถึงแม้ว่า ‘โควิด-19’ จะนำมาซึ่งสิ่งเลวร้ายนานาประการทั่วโลก แต่หวังว่าจะมีข่าวดี ๆ ตามมาเร็ว ๆ นี้!!! ถ้าหากการได้รับวัคซีนกระจายอย่างทั่วถึงเข้าถึงประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย และทั่วทั้งโลก ไม่ใช่เพียงบางส่วนของโลกหรือเฉพาะประเทศที่เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายและสะดวกกว่าเท่านั้น...รวมถึงการไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เมื่อกิจกรรมทางธุรกิจกลับมาเปิดทำการได้ใหม่อีกครั้ง ก็จะทำให้ภาวะความตึงเครียดทางการเงินคลี่คลาย การจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ของผู้คนก็จะกลับมาเป็นปกติตามเดิมหรือดีกว่าเดิมก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ ต่ำกว่า 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย แล้วโลกเก่าใบใหม่จะหมุนกลับมาอีกครั้ง ยิ้มสู้ไปพร้อมกันครับ...