พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ส่วนหนึ่งที่ทางเมืองไทยกำลังถกกันว่าด้วยเนื้อหาในพรบ. พรรคการเมืองตามรธน.ฉบับพ.ศ. 2560 ในขณะนี้ ประเด็นที่กำลังถกกันอยู่นั้น ยังไม่พ้น ปัญหาเกี่ยวกับระบบและกระบวนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงอำนาจของประชาชน กล่าวคือ เกิดปัญหาขึ้นว่า ประชาชนจะได้มีส่วนร่วม (ใช้อำนาจ) ในการเลือกตั้งมากน้อยขนาดไหน อย่างไร โดยเฉพาะส่วนร่วมผ่านพรรคการเมืองที่ตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว พรรคการเมืองถือเป็นตัวแทนหรือเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สนองเจตนารมย์ ใช้อำนาจแทนประชาชนส่วนใหญ่ ขณะที่แน่นอนว่าพรรคการเมืองก็ต้องถูกตรวจสอบจากประชาชนเช่นเดียวกับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันตุลาการ โดยหลักการนั้น การตรวจสอบดังกล่าวกระทำผ่าน 2 ทาง คือ หนึ่ง การเลือกตั้ง (Re-election) ซึ่งถือเป็นการยืนยันความไว้วางใจจากประชาชน (ว่าประชาชนยังคงไว้วางใจหรือไม่ เช่น ถ้าได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกก็แสดงว่า ประชาชนยังให้ความไว้วางใจ) และสอง การตรวจสอบ โดยอาศัยข้อเท็จจริงในการทำงาน เช่น ผลงาน พฤติกรรมทั้งส่วนตัวและสาธารณะของนักการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า ระบบการเมืองในแง่ของการตรวจสอบได้พัฒนาไปถึงการสร้างหรือวางระบบการตรวจสอบอย่างซีเรียสหรืออย่างจริงจัง โดยสถาบันการเมือง เช่น พรรคการเมือง ด้วยกันเอง เพื่อให้เกิด “ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์”ปรากฏต่อสายตาของสาธารณะชน สิ่งนั้นก็คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงเชิงการวิจัยและสืบสวนสอบสวนที่สามารถทำโดยตัวของนักการเมืองเอง ก่อนที่ “ข้อเท็จจริง”ดังกล่าวจะถูกนำไปอภิปรายในสภาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้ถูกเรียกได้ว่า เป็น“ข้อเท็จจริง”จริงๆ ไม่ใช่การกล่าวหา ไม่ใช่จินตนาแบบเว่อร์ๆ หรือ ไม่ใช้คารมยกเมฆมาพูดแต่ได้แต่อย่างใด หากข้อมูลที่พูด ถูกกลั่นกรองและพิสูจน์มาก่อนแล้วว่า เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เป็นวิทยาศาสตร์ แถมในแง่ตรรกะศาสตร์ก็ใช้ได้ ไม่แปลกที่การทำงานของนักการเมือง (ที่อยู่ในพรรคการเมือง) อเมริกัน จะมีลักษณะการทำงานเป็นทีม สส.หรือ สว.หนึ่งคนมีสำนักงาน หรือออฟฟิศเป็นของตนเองอยู่ที่ตึกคองเกรส ในออฟฟิศของ สส.หรือสว.ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ประจำแบ่งงานกันทำ เช่น งานด้านนโยบาย  งานด้านกฎหมาย งานด้านสังคม งานด้านต่างด้าว (อิมมิเกรชั่น) เป็นต้น นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานท้องถิ่นที่เรียกว่า Local office  ในแต่ละเขตของนักการเมืองคนนั้นๆ  เช่น  สส. Dina Titus (เดโมแครต) นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานที่ดี.ซี.แล้ว เธอยังมีสำนักงานที่เมืองลาสเวกัส เขตเลือก ตั้งที่ 1ของรัฐเนวดาอีกด้วย โดยสำนักงานในเขตเลือกตั้งยังมีการแบ่งงานแบบเดียวกันกับสำนัก งานที่ดี.ซี.หรือแคปิตัลฮิลล์ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานตลอด นักการเมือง (สส./สว.) มีทีมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ การติดตามสถานการณ์ข่าวสารในประเด็นต่างๆ ของสมาชิกรัฐสภา (คองเกรส/ซีเนต) เนื่องจากการออกกฎหมายซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสมาชิกฯโดยตรงนั้น สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและ ต่างประเทศ นอกเหนือไปจากผลต่อกระแสตอบรับหรือความนิยมจากประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ด้าน ข้อมูลข่าวสารที่ทำงานให้กับสมาชิกคองเกรสทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎ หมาย และการวางท่าทีในการแสดงความเห็นหรืออภิปรายของสมาชิกคองเกรสต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ  ทำให้สมาชิกคองเกรสสามารถวางตัวอย่างถูกต้อง ส่งผลต่อคะแนนนิยมในตัว สส./สว.ของ ประชาชน และภาพลักษณ์ของสมาชิกคองเกรสคนนั้นๆ ที่สำคัญคือ สส.และสว.อเมริกัน มีทีมงานด้านวิจัยเป็นของตนเองในแต่ละออฟฟิศ เป็นการทำงานด้านข้อมูลเชิงลึกของสมาชิกฯ และเป็นส่วนหนึ่งของการ แสวงหาข้อมูลเพื่อการอภิปรายและนำเสนอปัญหาหรือข้อเท็จจริง สมาชิกฯ จำนวนไม่น้อยอาศัยนักวิชาการด้านต่างๆ ดำเนินการวิจัยประเด็นปัญหาต่างๆ ก่อนนำไปสู่การอภิปรายในสภา หรือก่อนที่จะมีการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับต่างๆ  หลายครั้งที่ผู้ดำเนินการวิจัยจากสำนักงาน ของสมาชิกคองเกรสต้องลงพื้นที่จริงทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาข้อมูลและสรุปผลการวิจัยนั้นเสนอต่อผู้ ว่าจ้างคือ สมาชิกคองเกรส/ซีเนต นั่นเอง ดังมีอยู่หลายครั้งที่ทีมวิจัยอเมริกันลงพื้นที่ในเมืองไทย  เพื่อหาข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานในต่างประเทศของอเมริกัน เช่น สถานทูตสหรัฐฯ  หน่วยงานสันติภาพอเมริกัน (US Peace Corps)ในประเทศไทย เป็นต้น น่าสังเกตว่าในช่วงหลังๆ การแสวงหาข้อมูลของสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน เป็นไปแบบคู่ขนาน 2 ลักษณะ ได้แก่  หนึ่ง การแสวงหาข้อมูลจากหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลอเมริกันที่มีอยู่แล้ว เช่น หน่วยงาน  Bureau of East Asian and Pacific Affairs ของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น และสอง ส่งผู้วิจัยลงพื้นที่โดยตรงเพื่อเจาะปัญหาเชิงลึก ขณะเดียวกันบางครั้ง สมาชิกคองเกรสก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเองอีกด้วย เช่น การลงพื้นที่ของสส. และสว.อเมริกันบางคนในพื้นที่เขตแดนระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโก เพื่อศึกษาปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามพรมแดน และปัญหายาเสพติด ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างสหรัฐฯกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกในด้านงบประมาณสำหรับวิจัย  สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ผู้ประสงค์ทำการวิจัยเชิงลึก ดำเนินการใน 3 ระดับ คือ 1. ดำเนินการในนามส่วนตัวของสมาชิกคองเกรสผู้นั้น โดยอาศัยงบประมาณจากสภาคองเกรสต่อหนึ่งสมาชิก ที่ได้รับตามปกติ 2. สมาชิกรัฐสภาทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณพิเศษจากสภาคองเกรสหรือซีเนตในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องทำวิจัยเพื่อให้มาซึ่งข้อเท็จจริงในบางประเด็น หรือบางปัญหา (แน่นอน รวมถึงการวิเคราะห์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาด้วย) 3. สมาชิกรัฐสภา ดำเนินการวิจัยภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของ รัฐสภาอเมริกัน ซึ่งก็จะต้องนำเสนอโครงการวิจัยต่อสภาคองเกรส/ซีเนตเพื่ออนุมัติงบประมาณ ก่อนการวิจัยจะเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า รัฐสภาอเมริกันทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการวิจัย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็น “ข้อเท็จจริง” จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ก่อนนำไปอภิปรายหรือลงมติในสภา นอกเหนือไปจากการใช้หลัก เหตุผลเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในบรรดานักอภิปรายในสภา หรือในบรรดานักการเมืองระบบสภา โดยทั่วไป   “การวิจัยเชิงลึก” จึงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของนักการเมืองอเมริกันที่เลยไปจากการพ่นน้ำลายฉายเหตุผล ทางปากเพียงอย่างเดียว หากมันคือ การนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความเชื่อหรือความเห็นของนักการเมืองคนนั้นๆว่าเป็นความจริง พร้อมวิเคาะห์ผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่อประเด็นของเพื่อนสมาชิกรัฐสภา ประเด็นที่วิจัยกันส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่แหลมคม หลายครั้ง เป็นประเด็นลับหรือความลับ ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและลงมติร่างกฎหมายของสภาฯ เช่น ประเด็นความมั่นคง  ประเด็นเศรษฐกิจ ประเด็นสังคม เป็นต้น สำหรับรัฐสภาอเมริกัน การวิจัยจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชี้นำเพื่อการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะการตัดสินใจเพื่อลงมติโดยไม่คำนึงความเป็นพรรค หากแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า แม้ภาพลักษณ์นักการเมือง อเมริกันเองจะไม่ได้ต่างไปจากภาพลักษณ์ของนักการเมืองของประเทศอื่นมากนักก็ตาม แต่บางครั้ง “ข้อเท็จจริง”จากงานวิจัยที่ถูกนำเสนอ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการรับรู้ของมวลชนหรือประชาชนทั่วไป เสียงของประชาชนเหล่านี้ มีผลต่อท่าทีของนักการเมือง คองเกรสหรือสภาล่างเอง ถึงกับตั้งหน่วยงานบริการด้านการวิจัยสำหรับสมาชิก คือ Congressional Research Service -CRS  เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ในการวิจัยงานในส่วนของคองเกรสโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วหน่วยงานวิจัยแห่งนี้ เป็นหน่วยงานของคองเกรสโดยไม่สังกัดพรรค ขึ้นกับ The Library of Congress ทำหน้าที่ในการวิจัยตามปกติอยู่แล้ว แต่หากสมาชิกคองเกรสคนใดต้องการให้วิจัยประเด็น(เรื่อง)ใดเป็นพิเศษก็สามารถทำได้ โดยเสนอประเด็นที่เป็นหัวข้อวิจัยไปยังหน่วยงาน CRS  หมายความว่า สมาชิกคองเกรส สามารถทำการวิจัยได้ 2 ทาง  คือ ใช้บริการหน่วยงานวิจัยกลางอย่าง CRS และดำเนินการวิจัยโดยสำนักงานและคณะ(กรรมาธิการ/ทีม)ของตนเอง  เพราะหน่วยงานวิจัย CRS มีข้อจำกัดบางประการ เช่น กระบวนการอนุมัติประเด็นวิจัย กระบวนการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น ปัจจุบัน CRS  มีเจ้าหน้าที่ทำงานประมาณ 600 คน จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์   นักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ในปี 2012 คองเกรสอนุมัติเงินพื่อหน่วยงานแห่งนี้ จำนวน 106.8 ล้านเหรียญ CRS ยังทำงานร่วมกับ สำนักงบประมาณของคองเกรส (The Congressional Budget Office) และ สำนักงานพิจารณาการงบประมาณของรัฐ (Government Accountability Office)  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกคองเกรสทางด้านการเงิน หรือการงบประมาณของรัฐ ตรวจสอบระบบบัญชีของรัฐจากโครงการใช้จ่ายในด้านต่างๆ หากรวม 3 หน่วยงานของคองเกรส ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมทำงานมากกว่า 4,000  คน