ตะเกียงเจ้าพายุ / ทวี สุรฤทธิกุล ใครที่รักหรือเกลียดราชการ ควรมารับฟังทัศนะของข้าราชการอังกฤษคนนี้ เธอชื่อแคเธอรีน กัน ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองขององค์กรข่าวกรองอังกฤษที่ชื่อ GCHQ (Government Communication Headquarter) มีฐานะเป็นข้าราชการระดับล่าง เธอเพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 2 ปีก็เกิดเรื่อง งานที่เธอทำก็คือการถอดข้อความข่าวด้วยการรับฟังและการส่งข้อความต่าง ๆ (ภาษาชาวบ้านก็คือการแอบฟังและแอบอ่านจดหมายของบุคคลที่เป็นเป้าหมายในการหาข่าวในด้านความมั่นคงต่าง ๆ) วันหนึ่งเธอได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานให้จัดทำรายงานจากอีเมล์ฉบับหนึ่ง ที่มีการติดต่อกันระหว่างนักการทูตของอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา เธออ่านข้อความแล้วก็ตกใจและฉุกคิด เพราะเป็นการแจ้งข่าวว่าสหรัฐขอร้องให้อังกฤษช่วย “โน้มน้าว” นักการทูตของประเทศที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงที่ไม่ใช่สมาชิกถาวร จำนวน 5 ประเทศ (สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงในสหประชาชาติ มี 2 ประเภท คือสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ส่วนสมาชิกไม่ถาวรจะมี 10 ประเทศ มาจากการเลือกตั้งในหมู่สมาชิกขององค์การสหประชาชาติ หมุนเวียนกันไป มีวาระประเทศละ 2 ปี) เพื่อให้มีคะแนนเสียงเพียงพอที่จะลงมติให้สหรัฐและประเทศพันธมิตรส่งทหารเข้าไปยังอิรัค เพื่อทำลายอาวุธนิวเคลียร์ ตอนนั้นเป็นช่วงปี ค.ศ. 2003 ประธานาธิบดีของสหรัฐก็คือจอร์จ บุช และนายกรัฐมนตรีอังกฤษก็คือโทนี่ แบลร์ (คนละคนกับโทนี่ วูดซั่ม อดีตนายกรัฐมนตรีหนีคดีของไทย) สหรัฐนั้นเพิ่งถูกสมาชิกขององค์กรก่อการร้ายที่อิรัคสนับสนุน เอาเครื่องบินมาถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์ค เมื่อ 9 กันยายน 2001 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ “911” นั่นเอง จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะล้างแค้นและกอบกู้ชื่อเสียงความเป็นมหาอำนาจคืนมา ถึงขั้นให้มีการส่งคณะกรรมาธิการพิเศษเข้าไปในอิรัค เพื่อพยายามสืบหาว่าอิรัคนั้นสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งก็ได้เจอแต่เพียงร่องรอยโรงงานเก่า ๆ และชิ้นส่วนที่ไม่สามารถทำอาวุธอะไรได้อีกแล้ว แต่สหรัฐก็ยังไม่ละความพยายาม ถึงขั้นตั้งข้อกล่าวหาอิรัคว่า “มีสมรรถนะเพียงพอที่จะก่อสงครามนิวเคลียร์” ได้ (เข้าทำนองนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะนั่นแหละ ที่พอหาเหตุจะกินลูกแกะทำผิดที่มาแย่งน้ำกินไม่ได้ สุดท้ายหมาป่าก็อ้างว่าพ่อของลูกแกะนั้นเคยทำผิด แล้วหมาป่าก็กินลูกแกะในที่สุด) แต่การจะส่งทหารเข้าไป “เคลียร์พื้นที่” หรือปราบปรามอิรัคนั้น จำเป็นจะต้องได้รับเสียงข้างมากจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงเสียก่อน แคเธอรีน กัน เธอเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการหลอกลวงชาวโลก ที่ร้ายแรงที่สุดในความรู้สึกของเธอก็คือ รัฐบาลอังกฤษยอมตน “ทำงานรับใช้” สหรัฐ ทั้งยังเป็นงานที่สกปรก ที่สหรัฐอาศัยมืออังกฤษให้ร่วมมือกันลวงชาวโลก เธอจึงแอบลอกสำเนาเอกสารเอาไปให้เพื่อนที่เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มต่อต้านสงคราม แล้วเพื่อนของเธอคนนี้ก็เอาเอกสารไปให้นักข่าวของหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษคือ The Observer พอเปิดโปงขึ้นก็มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ใน GCHQ ครั้งแรกแคเธอรีนปฏิเสธ แต่ต่อมาเธอก็ยอมรับสารภาพ จึงถูกจับกุมและสอบสวนโดยตำรวจ เพื่อทำสำนวนให้อัยการส่งฟ้องต่อไป ซึ่งคดีเกี่ยวกับความมั่นคงนี้จะต้องให้อัยการสูงสุดเท่านั้นที่เป็นผู้สั่งฟ้อง มีคนแนะนำให้แคเธอรีนไปหาทนายชื่อดังด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ให้ข้อแนะนำว่าต้องรักษาเอกสารการติดต่อระหว่างนักการทูตอังกฤษกับสหรัฐนั้นไว้ให้ดี การสอบสวนในช่วงนี้ใช้เวลาเป็นปี จนสหรัฐได้ส่งทหารเข้าในอิรัคแล้ว โดยที่ไม่ได้รอการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่ให้สิทธิในเรื่องนี้ไว้ เมื่อสงครามผ่านไปแล้ว ด้วยความเสียหน้ามหาศาลของสหรัฐที่ไม่เจออะไรสักอย่าง นอกจากมีคนตายจำนวนมากและความเสียหายมโหฬารจากการรุกรานของกองทัพสหรัฐในครั้งนั้น แคเธอรีนก็ถูกส่งตัวขึ้นศาล ศาลถามอัยการว่าจะฟ้องแคเธอรีนหรือไม่ อัยการบอกว่าไม่ฟ้องแล้ว ศาลก็คะยั้นคะยอว่าเหตุผลอะไรหรือ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนสนใจมาก สาธารณชนควรได้รับรู้เหตุผล ซึ่งทนายของแคเธอรีนก็เปิดเผยเองว่า อัยการคงกลัวว่าจะต้องมีการเปิดเผยเอกสาร “สกปรก” ฉบับนั้น ซึ่งอาจจะกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐ ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษว่าถูกแทรกแซง เพราะมีการสืบพบว่ามีการติดต่อกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับอัยการสูงสุดของอังกฤษ ดังนั้นคงเป็นคำสั่งของอัยการสูงสุดอังกฤษเองที่พยายามจะรักษาหน้าของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ที่สำคัญก็คือรักษาหน้าของอัยการสูงสุดและกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษนั่นเอง รายละเอียดที่ว่ามานี้ ผู้เขียนได้มาจากการรับชมภาพยนตร์เรื่อง Official Secrets ทางช่อง HBO เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ทำมาจากเรื่องจริงของข้าราชการสาวที่ชื่อ แคเธอรีน กัน โดยในตอนท้ายของเรื่องเธอยังได้ออกมาปรากฏตัวในฉากที่เป็นภาพข่าวตอนที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และเธอก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวข้างหน้าศาล หลายคนชื่นชมเธอว่าเธอมีความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในระหว่างที่รอขึ้นศาลเป็นเวลาปีกว่านั้น เธอทั้งถูกข่มขู่คุกคามและถูกด่าประณาม ทั้งจากเจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมของรัฐและจากสาธารณชนจำนวนหนึ่ง สามีขอเธอที่เป็นผู้อพยพต่างชาติเกือบถูกเนรเทศออกไป ชีวิตเธอตกต่ำไม่มีใครคบ ซึ่งในภาพยนตร์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้สุดท้ายเธอจะกลายเป็นวีรสตรี หรือผู้กอบกู้ศักดิ์ศรีให้กับคนอังกฤษ แต่เธอก็ไม่อาจจะระงับสงครามอย่างที่เธอตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกในตอนที่นำเอกสารนี้ไปเปิดเผยได้ รวมถึงที่ไม่อาจจะฉีกหน้ากากความชั่วร้ายของรัฐบาล ที่บังอาจหลอกลวงประชาชนของตนนั้นได้ มีวรรคทองหรือคำพูดคม ๆ ที่ผู้เขียนนำมาเป็นตั้งเป็นชื่อบทความตอนนี้ ก็คือตอนที่ตำรวจสก็อตแลนยาร์ด (ที่เราเอามาเป็นต้นแบบตำรวจคดีพิเศษที่ทำคดีการเมืองต่าง ๆ ที่ยังเละ ๆ เทะ ๆ อยู่นี่แหละ) มารีดคั้นจะเอาความจริงจากแคเธอรีน แล้วบอกว่าถ้าเธอไม่ให้ความร่วมมือ เธอจะถูกประณามว่าเป็น “ข้าราชการที่เลว” เพราะเธอให้คำปฏิญาณก่อนที่จะมาทำงานด้านความมั่นคงนี่แล้ว คำตอบของเธอก็คือ “ฉันเป็นข้าราชการของรัฐบาลที่ปกป้องประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลที่หลอกลวงประชาชน”