ชัยวัฒน์ สุรวิชัย • ชาย ในพรรคการเมืองที่ปู่จิ๊บเคยทำงาน มีใครที่เป็นแบบอย่าง ทั้งนำหน้า เคียงข้างและตามหลัง ปู่จิ๊บ เคยใช้ชีวิตทุ่มเทให้กับ “ พรรคการเมือง “ อยู่ 3 พรรค แต่มิใช่ “ ชาย 3 โบสถ์ นะครับ “ขอไล่เรียงตามวันเวลาที่ผ่านมาในชีวิต ในการเข้าสังกัด 3 พรรค ด้วยรักจริงใจและเอาจริง 1. พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย มีสองช่วง 2517 – 2519 และ 2520 -2524 2. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 2519 – 2524 3. พรรคพลังธรรม 2535 – 2541 • พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ( พสท. ) 2517 – 2519 และ 2520 -2524 ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงกระแสสูงของสังคมนิยมในประเทศไทย กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลาง ได้จัดตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งปรารถนาจะเห็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินสามารถลืมตาอ้าปาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย และได้รับความเสมอภาคเป็นธรรมอย่างแท้จริงด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม ที่ถูกนำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ ทั้งทางด้านวิชาการการเคลื่อนไหวทางสังคม ประชาชนพากันขานรับอุดมการณ์สังคมนิยม ที่เป็นความหวังในการปลดปล่อยพลังชีวิตของผู้ทุกข์ยากในแผ่นดินที่เกิดจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบกับคนกลุ่มน้อยที่มีอภิสิทธิ์อำนาจในสังคมไทย ความคิดการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยม เกิดจากความเรียกร้องต้องการของประชาชนในยุคนั้น และคณะผู้ก่อการต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้การสร้างพรรคสำเร็จและเป็นไปตามคำขวัญของพรรคที่ว่า“ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” พสท. จดทะเบียนก่อตั้งพรรคตามพรบ. พรรคการเมืองพุทธศักราช 2517 โดยได้ยื่นจดทะเบียนต่อ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อปี 2517 มีพันเอก สมคิด ศรีสังคม เป็นประธานพรรค และนาย บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นเลขาธิการพรรค การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ได้ 15 สส. พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 10 ที่นั่ง พรรคพลังใหม่ที่ได้ 12 ที่นั่ง รวมกันเป็น 37 ที่นั่ง ทำให้สามารถสร้างอำนาจการต่อรองได้สูงพอควร 28 กุมภาพันธ์ 2519 นายบุญสนอง เลขาธิการพรรคก ถูกลอบยิงเสียชีวิต พสท.พร้อมกับพรรคการเมืองอื่นๆถูกยุบตามคำสั่งของ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะฉบับที่ 6 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 • คำประกาศของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างธรรมกับอธรรม ชนชั้นสูงผู้กดขี่ได้เบียดเบียนและฉกชิงผลผลิตจากแรงงานของเพื่อนมนุษย์ด้วยวิธีการและรูปแบบต่าง ๆ การเบียดเบียนได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของพลังและวิถีการผลิต ได้มีการสร้างกลไกการปกครอง กฎหมาย ตลอดจนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการกดขี่ขูดรีดในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ระบบการขูดรีดได้เพิ่มพูนพลังขึ้นมาก จาก : ระบบทาส ศักดินา ทุนนิยม มาสู่ระบบจักรพรรดินิยม, พฤติกรรมกดขี่เหล่านี้มีลักษณะเป็นอำนาจอธรรม ได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล เป็นการทำลายคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้ยากไร้อย่างที่สุด การต่อสู้ของมวลชนผู้ถูกกดขี่เป็นการต่อสู้ของฝ่ายธรรม กลุ่มชนผู้กล้าหาญได้สละเลือดเนื้อชีวิต และ ประโยชน์สุขส่วนตนทุ่มเทพลังกาย พลังปัญญา เพื่อให้ได้มาและดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ด้วยความมั่นใจว่า “ ธรรมจะต้องชนะอธรรม “ • นโยบายพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคสังคมนิยมจะเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะระบอบปกครองแบบรัฐสภา โดย การดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยม จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน มุ่งส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมระหว่างบุรุษและสตรี ทั้งในสิทธิการเข้ารับราชการ สิทธิในการทำงาน สิทธิทางสังคมต่าง ๆ และมีนโยบายในด้านต่างๆ ขอยกมาเพียงบางด้าน คือ นโยบายทางเศรษฐกิจ ยึดถือหลักการจัดระบบเศรษฐกิจตามหลักสังคมนิยมโดยทั่วไป หาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนมีและคนจน ระดมทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปในทางสร้างสรรค์ความเป็นธรรมทางสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ • การดำเนินการขงพรรคพสท. แตกต่างจากพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาอื่นๆ คือ นอกจากการเคลื่อนไหวในสภาแล้ว บทบาทที่โดดเด่นของพรรคคือ การเคลื่อนไหวนอกสภา ในการเผยแพร่แนวคิดและนโยบายของพรรค การคัดค้านความไม่ถูกต้องของรัฐบาล นายทุน และเจ้าที่ดิน ที่เอาเปรียบชาวบ้าน เช่นกรณี “แม่เลียง” จังหวัดลำปาง ที่เคลื่อนไหวร่วมกับสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาภาคเหนือ ,การคัดค้านกรณี “ ถีบลงเขาเผาลงถังแดง ” ที่พัทลุง, การคัดค้านการตั้งฐานทัพของสหรัฐ ……… รูปแบบการเคลื่อนไหว จะประสานกับมวลชนในพื้นที่ที่มีปัญหาและการนำปัญหาต่างๆ มาเปิดเผยให้ พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดปราศรัยใหญ่ที่สนามหลวง ซึ่งมีคนมาฟังมากมายไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน บทบาทที่โดดเด่นของพรรคฯ อีกเรื่องก็คือ การประสานการเคลื่อนไหวนอกสภากับในสภา และมีลักษณะมวลชน โดยการนำเอาปัญหาและความเดือนร้อนของชาวบ้านไปพูดในสภา และนำประเด็น ออกมาพูดกับชาวบ้าน มีการประสานงานของพรรคการเมืองกับขบวนการประชาชน ทั้งกรรมกร,ชาวนา,นักศึกษา และประชาชน • การที่ ส.ส.จากพรรคฯ และพรรคแนวร่วมได้ที่นั่งในสภาถึง 37 ที่นั่ง และมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างเข้มแข็ง มีการประสานกับขบวนการประชาชน ทั้ง กรรมกร,ชาวนา และนักศึกษา ได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอนุรักษ์พร้อมกับกลุ่มทุนร่วมกันตอบโต้ อย่างเป็นระบบในการคุกคามขบวนการประชาชน ซึ่งเน้นไปที่ผู้นำขององค์กร มีการลอบสังหารผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ผู้นำกรรมกร ผู้นำนักศึกษา และนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้า และ ในคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 เลขาธิการพรรค ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ก็ถูกลอบสังหาร การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี 2519 ฝ่ายปฏิกิริยาก็ประสบความสำเร็จ สามารถสกัดผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยมฯ ,พรรคแนวร่วมฯ ได้ส.ส.รวมกัน6 คน โดยพรรคสังคมนิยมฯ ได้มาเพียง 1 คน คือ อ.ไร่น่าน อรุณรังสี จากพัทลุง • และหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ถูกปิดตามประกาศของคณะปฏิรูป แต่พรรคกลับไม่ยอมยุบพรรค ประกาศการต่อสู้ต่อไป โดยก่อนหน้านี้หลังจากเริ่มมีการข่มขู่คุกคามผู้นำของพรรค ผู้นำพรรคบางส่วนนำโดยไขแสง สุกใส ฯ ได้เดินทางเข้าสู่ฐานที่มั่นภูพานเพื่อเตรียมปูทางให้กับน้องๆ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2519 ชุดที่สองเดินทางสู่ฐานที่มั่นทางภาคเหนือในวันที่ 7สิงหาคม 2519 ได้แก่ ธีรยุทธ บุญมี , ชัยวัฒน์ สุรวิชัยประสาร มฤคพิทักษ์,วิสา คัญทัพ มวลชน สุขแสง ฯลฯ และเดินทางต่อไปที่สำนักแนวร่วม A 30 ที่แนวหลังฯ เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม กรรมการและสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ก็มุ่งหน้าสู่ฐานที่มั่นสีแดง พร้อมกับประกาศว่า “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจักไม่ยอมยุบพรรค แต่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพลังรักชาติรักประชาธิปไตยต่างๆ “ • ปู่จิ๊บ ได้ร่วมก่อตั้งและทำงานในพสท. ในฐานะกรรมการกลาง และรับผิดชอบงานมวลชนของพรรค และได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการในชุดที่สอง และเป็นรองประธานในช่วงที่เข้าต่อสู้ในชนบท ฯลฯ งานในสำนักงานฯ จะร่วมดูแลด้วยกัน กับ วิรัติ ศํกดิ์จิระพาพงษ์ รองเลขาธิการฯ โดยพักอยู่ประจำ ที่ทำการพรรคแรก อยู่ที่ซอยร่วมมิตรฯ ซึ่งยังไม่มีอะไรมาก แต่เมื่อย้ายมาอยู่ที่ซอยอารีสัมพันธ์ 5 ในช่วงปี 2518-9 เหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรง จากฝ่ายอนุรักษ์ นวพลกระทิงแดง ที่มาข่มขู่คุกคามประจำ งานมวลชน ปู่จิ๊บ จะออกไปเคลื่อนไหวร่วมกับ กรรมกร โดยเน้นหนักไปที่ ชาวนาโดยเฉพาะภาคเหนือ ลำปาง ( แม่เลียง ) ลำพูนและเชียงใหม่ ที่มีการจัดตั้งสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาภาคเหนือ ได้ไปช่วยประสานงานเรื่อง “ ผู้นำนักศึกษา ถูกจับ “ และการลอบสังหารผู้นำชาวนาฯรายวัน ฯลฯ • ชาย ที่เดินนำหน้า จะมี อ. บุญเย็น วอทอง ดร.แสง สงวนเรือง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน พี่ไขแสง สุกใส ประธานพรรค พอ.สมคิด ศรีสังคม (พรรคเดียวที่ใช้ตำแหน่ง “ประธานพรรค“ และมีคำว่า “แห่งประเทศไทย “) พี่คำสิงห์ ศรีนอก ฯ และยิ่งสนิทสนมกันมาก ในช่วงที่เข้าไปร่วมต่อสู้ฯในชนบทฯ ที่ปู่จิ๊บทำหน้าที่ประสานและ ให้กำลังใจและดูแล “ พี่ๆเหล่านี้ “ เพราะ มีทัศนะที่ต่างกัน ต่อ พคท. และ แนวทางการต่อสู้ การพึ่งพาจีนมากไป โดยเฉพาะพี่ไขแสง สุกใส ปู่จิ๊บซึ่งเป็นโสด ได้รับหน้าที่ดูแลในการไปรักษาตัวที่คุนหมิงและเซี้ยงไฮ้ ปี 2520 พวกพี่นักวิชาการ เก่งและเชื่อมั่นตัวเองมาก ส่วนพี่ไขแสง มีลักษณะชาวบ้านและการช่วยเหลือน้องๆมากกว่า อาจารย์สมคิด มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ ที่เข้าใจบรรดากรรมการและสมาชิกมาก และให้คำแนะนำฯ • คนที่เดินคู่กันมา คือ ชำนิ ,วิรัติ, จรัล, พีรพล , ธัญญา ,วิสา,สมบูรณ์ สุวรรณฝ่าย ,เกรียงเดช,อานนท์ฯลฯ แต่มีส่วนที่ร่วมบุกเบิกตั้งแต่ต้น แต่ไม่เข้ามาเป็นกรรมการ คือ ธีรยุทธ บุญมี เพื่อรักษาภาพนักวิชาการฯ ชำนิ ตอนเป็นสส และรองเลขาธิการพรรค จะติดลมบน ในรัฐสภาฯ แต่เมื่อสอบตก มาเป็นเลขาฯ จึงติดดินฯ จรัล ดิษฐาอภิชัย เข้ามาอย่างมีเป้าหมาย เพราะ “ เป็นคนของพคท.” ที่จะเข้ามาจัดตั้งฯคนในพสท. ปกติ จรัล จะเป็นคนนิ่มนวล ประสานประนีประนอม แต่เมื่อเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ดุเดือดเอาเป็นเอาตายฯ คนที่สนิทกันมาก เป็น วิรัติ วิสา และพีรพล โดยเฉพาะ “ วิรัติ “ ที่เป็นหลักคู่กับปู่จิ๊บ ในสถานการณ์ล่อแหลมฯ • ส่วนผู้ที่ตามหลัง ก็จะเป็นเพื่อนๆและรุ่นน้อง ทีมีจิตใจรักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้กล้าเสียสละ ไม่กลัวตายฯ มีคนจำนวนหนึ่ง ที่ได้เดินทางไปศึกษางานมวลชน กับพคท. ช่วงปลายปี 2518 แต่กลับมาก่อน เพราะยุบสภาฯ • โดยสรุป การได้ร่วมก่อตั้งพสท. เป็นกรรมการฯ ที่ทำงานหนัก เอาจริง ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ต้องคิดใหม่ตลอด เป็นช่วงแห่งการพัฒนาความคิด-ตนเอง ฯลฯเป็นการสะสมประสบการณ์ที่มีคุณค่าความหมาย เป็นพรรคการเมืองที่คิดทำเพื่อประชาชนแท้จริง ที่เสียดายคือมีเวลาน้อยไป และตอนนั้นมีบทเรียนยังไม่มากพอ