ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้กล่าวไว้ว่า “เศรษฐกิจปี 2017 หรือ 2560 ดีแน่!” จากตัวเลขที่นำมาประกอบทั้งการศึกษาและพิจารณารวมกัน จึงน่าเชื่อว่าทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและภูมิภาค ตลอดจนเศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ไม่ว่า เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เศรษฐกิจเอเชีย (ASIA) โดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ถูกโจมตีตลอด ไม่ว่า หน่วยงานภาครัฐที่สืบสวนสอบสวนเขาและครอบครัวตลอด และแม้กระทั่งประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ชอบเขา แต่สภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ ผงกหัวขึ้น เพียงแต่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปเท่านั้นที่ยังคงอ่อนแอ (FRAGILE) อยู่ เนื่องด้วยประเทศเยอรมันนียังคงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เนื่องด้วยนางแองการ่า แมร์เคิล จะมีเสียงมากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งที่สาม แต่ก็ยังเป็น “รัฐบาลผสม” ที่ยังไม่มีใครยอมร่วมรัฐบาลด้วย ถึงแม้จะยอมง้อพรรคฝ่ายค้าย ซึ่งก็ยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในขณะเดียวกันประเทศฝรั่งเศสก็เพิ่งค่อยยืนขึ้น บวกกับอังกฤษที่เพิ่ง BREXIT ออกจากสหภาพยุโรป ถามว่า กว่า “สหภาพยุโรป” จะฟื้นตัวเศรษฐกิจได้เต็มที่คงต้องใช้ระยะเวลาซักประมาณไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วที่สุดหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนทีมงามทางด้านความมั่นคง และโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจโดยนายเจอโรม พาวเวลล์ จะดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือนธันวาคม แต่น่าเชื่อว่า เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านี้เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน แต่เศรษฐกิจเอเชียดูจะสดใสในที่สุด ที่ทั้งภูมิภาคน่าจะมีตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงระหว่าง 4-7 เปอร์เซ็นต์กว่าทั้งภูมิภาค เพียงมีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่อาจแกล้งทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงยังไม่ถึงร้อยละ 2 เท่านั้น ส่วนประเทศไทยเรานั้น ก็ต้องกล่าวต้อนรับ “ครม.ประยุทธ์ 5” ที่ได้เปลี่ยน “โหมดใหม่” มุ่งหน้าเข้าสู่ “เศรษฐกิจ-มั่งคั่ง” ที่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จำต้องปรับคณะรัฐมนตรีด้วยการนำทีมของตนเองเข้ามามากถึง 6-7 คนที่ตนเองสามารถควบคุมเป็น “ทีมเวิรค์” ได้ ทั้ง กระทรวงพลังงาน พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คลัง หรือแม้กระทรวงเกษตรฯ กับดิจิตัล ที่มิใช่พรรคพวกตนเอง แต่ก็ต้องอาศัยนายกรัฐมนตรีคอยประสานให้ ถามว่า เวลาเพียง 1 ปีกว่านั้น รองฯ สมคิดจักทำได้หรือไม่ น่าเชื่อว่าทำได้ แต่ต้องยอมรับว่า “หนักอก-หนักใจ-หนักบ่า” อย่างมากที่ “ต้องทุ่มสุดตัว” กันเลยทีเดียว! อย่างไรก็ตาม จีดีพีปี 2560 นี้โตร้อยละ 3.8 ส่งออกร้อยละ 8.4 ที่ดีกว่าเดิม ถามว่าเนื่องด้วยภาคการส่งออกดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นมาก ส่วนภาคการผลิตนั้นยังตกต่ำอยู่ เหตุผลเพราะแรงงานต่างด้าวและเนื่องด้วยสินค้าเกษตร แต่ภาคการบริโภคค่อยๆ ขยับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ก็ต้องขอย้ำว่า “เหนื่อยพอสมควร!” ส่วนความท้าทายในปี 2018/2561 นั้น มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง หนึ่ง “การก่อการร้ายข้ามชาติ”การก่อการร้ายของ 4 องค์กรหลัก Islamic State, Al-Qaeda, Boko Haram, และTaliban ถึงแม้จะโดนกระชับพื้นที่การปฏิบัติการ แต่ดูเหมือนว่าลัทธิก่อการร้ายได้กลายพันธ์ ขยายวงนอกอาณาเขตตนเอง และทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ลักษณะฉายเดี่ยวในสหรัฐฯ เยอรมัน เบลเยียม ตุรกี อังกฤษ และล่าสุดที่ สเปน และฟินแลนด์ สอง “ความขัดแย้งที่นำมาซึ่งความรุนแรงระหว่างรัฐ”ทั่วโลก ยังคงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหา ระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน ซึ่งต่างฝ่ายไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงการหยุดยิงขีปนาวุธ จีนยังคงดำเนินการก่อสร้างฐานทัพในทะเลท่ามกลางการคัดค้านของนานาประเทศ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่ยังมองไม่เห็นข้อยุติ สาม “ความขัดแย้งที่นำมาซึ่งความรุนแรงในประเทศ”สงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียซึ่งมหาอำนาจหลายประเทศมีส่วนร่วมในการทำสงครามตัวแทน ปัญหาความขัดแย้งในประเทศซูดาน โซมาเลีย อัฟกานิสถาน ทำให้ประชาชนกว่า 65 ล้านคน ไร้ที่อยู่หรือย้ายถิ่นฐาน และล่าสุดปัญหาความไม่สงบในประเทศเวเนซูเอลา ซึ่งดูเหมือนว่าอาจบานปลาย สี่ “จำนวนมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้น”ความตึงเครียดล่าสุดในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ การขาดความต่อเนื่องในการบริหารสถานการณ์นิวเคลียร์ของอิหร่าน และความสัมพันธ์ที่ทดถอยของรัสเซียกับสหรัฐซึ่งเห็นได้จากการไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของรัสเซียในครั้งล่าสุด และการระงับข้อตกลงร่วมในการทำลายพลูโตเนียมชนิดผลิตอาวุธกับสหรัฐ ห้า “เสถียรภาพเศรษฐกิจโลกที่บอบบาง”เศรษฐกิจโลกโตเพียง 3% ในปี 2016 โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโตเพียง1.6% ประเทศแทบอเมริกาใต้และแอฟริกาโตติดลบเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ธนาคารกลางส่วนใหญ่ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ยกเว้นธนาคารกลางสหรัฐที่เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย หก “การกำกับดูแลโลกไซเบอร์”ปีที่ผ่านมามี Cyber Attack อยู่หลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาของสหรัฐว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลัง Cyber Attack เพื่อชี้นำผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เหตุการณ์ Ransomware หรือ ไวรัสเรียกค่าไถ่ WannaCry ซึ่งสร้างความเสียหายกับบริษัทในกว่า100 ประเทศบนช่วงเวลาแค่ 48 ชั่วโมง และล่าสุดเมื่อเดือน มิถุนายนไวรัสเรียกค่าไถ่ Petya ระบาดอย่างหนักในยูเครนและรัสเซีย ซึ่งแนวโน้มของ Cyber Attackน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ็ด “การรับมือปัญหาโลกร้อน”ถึงแม้ความตกลงปารีสได้รับการตอบรับจากประเทศผู้เข้าร่วมอาจมองได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ในความพยายามลดภาวะโลกร้อนแต่เนื่องจากแต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายกันเองโดยถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้ทั้งหมด ก็ยังห่างเป้าหมายหลักในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นายทรัมป์ซึ่งถือเป็นผู้ปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อน ได้นำสหรัฐออกจากความตกลงปารีส แปด “การขยายความเจริญไปสู่ประเทศด้อยโอกาส” ธนาคารโลกก็ได้ขยายขนาดกองทุนตนเองในการช่วยเหลือกลุ่มประเทศด้อยโอกาส เพื่อต่อสู้กับความยากจนอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก 10% ซึ่งสูงสุดตั้งแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการลดความยากจนให้เหลือศูนย์ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เก้า “การค้าระหว่างประเทศ”การค้าระหว่างประเทศเติบโตเพียง 1.6% ในปี 2016 โดยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่โตต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยโลก ผลประชามติ Brexit และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคดูเหมือนจะเปลี่ยนจากยุคโลกาภิวัตน์ ไปสู่การดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้าผ่านแนวคิดชาตินิยมที่มากขึ้น สิบ “พลวัตสุขภาพโลก”2-3 ปีการระบาดของโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้น เริ่มจากไวรัสอีโบลาในกลุ่มประเทศแอฟริกา ตามด้วยไข้ซิกาที่ระบาดไปกว่า 29 ประเทศ รวมถึงอหิวาตกโรคในเฮติ, เยเมน และโปลิโอ ในอัฟกานิสถาน, ปากีสถาน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงปัญหาของการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งทำให้โรคร้ายแรงบางประเภทไม่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทั่วไปได้ นั่นคือ ความท้าทายระหว่างประเทศที่ไม่ทราบว่ารองนายกฯ สมคิดได้ศึกษาไว้หรือไม่ เพราะว่า “ปัญหาภายใน” ก็หนักพอควรอยู่แล้ว ทั้งนี้ขอให้โชคดีครับ! ……………………