แสงไทย เค้าภูไทย การที่ สธ.ไทยยถอนทะเบียนยา 77 ตำรับ อย.สหรัฐถอน 222 ตำรับในปีนี้ และยังเพ่งเล็งจะถอนสารกลัยโฟเสต ออกจากยาฆ่าหญ้า ขณะที่หมอแสงผลักดันการวิจัยตัวยารักษามะเร็งของตนโดยแรงกดดันจากมวลชนที่ไปขอรับยาฟรี เป็นเรื่องที่เกิดความรู้สึกขัดแย้งในสังคมอยู่มาก การเพิกถอนตัวยาฟีนิลบิวตาโซน ( Phenylbutazone) จากทะเบียนตำรับยาสำหรับมนุษย์ด้วยเหตุผลว่า เป็นตัวยาที่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงเนื่องจากทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ( aplastic anaemia) และเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ทำให้ยาที่มีตัวยานี้เข้าตำรับถูกถอนทะเบียนถึง 77 ตำรับ ตามประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน 2560 ในบัญชีตำรับยา 77 ตำรับในบัญชีแนบท้ายประกาศ มีชื่อยาที่คุ้นชื่ออยู่หลายตำรับเช่น Butazone , Pantazone,Phenazone ฯลฯ อีกด้านหนึ่ง มีงานวิจัยเรื่องอาหารและยาที่เกิดผลข้างเคียงจนถูกสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ ( U.S. Food and Drug Administration-USFDA) เพิกถอนตำรับที่ขึ้นทะเบียนในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาว่ามีจำนวนถึง 222 ตำรับ ยาเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นยาที่ได้รับความนิยมมาก เป็นที่ติดปากผู้บริโภคและ ติดตลาด มียอดจำหน่ายสูง 71 ตำรับ ซึ่งมีผลข้างเคียงที่อันตรายมากหลายด้านเช่นทำให้เกิดอาการเครียด ติดเชื้อ เกิดลิ่มเลือด ตับอักเสบ ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง จนแม้กระทั่งมะเร็ง และมีบางรายทำให้เสียชีวิต ตัวยาอีกตัวที่อ.ย.สหรัฐกำลังเพ่งเล็งอยู่ แม้จะไม่ใช้กับมนุษย์ แต่ก็มีผลข้างเคียงหากมนุษย์และสัตว์เลี้ยงได้รับสะสมจนทำให้เกิดมะเร็ง นั่นคือกลัยโฟเส็ต( glyphosate) ในยาฆ่าหญ้า ราวด์อัพ ยาปราบวัชพืชยี่ห้อนี้ เข้ามาบ้านเรากว่า 30 ปีแล้ว อีกด้านหนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการเผยแพร่ข้อมูลสำรวจพืชผักผลไม้ที่ขายในท้องตลาด พบว่า มีถึง 64% ที่ปนเปื้อนสารพิษ ในจำนวนนั้น มีสารกลัยโฟเส็ตปนเปื้อนอยู่บางส่วน เพราะแม้จะใช้ฉีดพ่นในแปลงเกษตรคนละแปลง แต่ก็ยังมีละอองปลิวไปตามลมไปจับต้องพืชผลในแปลงข้างเคียงได้ ตามปกติยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงจะมีคำเตือนแก่ผู้ใช้กำกับทั้งในเอกสารกำกับและบนฉลากปิดภาชนะบรรจุให้ใช้สารดังกล่าวด้วยความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด โดยมีกำหนดระยะปลอดภัยของการใช้สารไว้ เช่นระยะเวลาที่สารสลายตัว ที่พืชผลเหล่านั้นสามารถนำไปบริโภคได้ปลอดภัย เช่น 7-10 วันเป็นต้น แต่การขายผลผลิตของเกษตรกรยุคนี้ มักจะเป็นการขายยกสวน ผู้ซื้อจึงละเลยเรื่องระยะปลอดภัยของพืชผลที่ใช้ยาฉีดพ่น เกษตรกรเองก็รู้ว่า ควรจะแยกแปลงขาย เนื่องจากพืชผลออกไม่พร้อมกัน แก่อ่อนไม่เท่ากัน ส่วนที่โตกว่าแก่กว่า ก็พ่นยากันแมลงเบียฬก่อน เนื่องจากเป็นระยะที่มีรสชาติชวนกิน แต่ก็มีบางส่วนที่ผลยังดิบหรือ ยังโตไม่ได้ที่ จึงต้องฉีดภายหลัง ระยะปลอดภัยจึงยังไม่ถึง แต่พ่อค้าแม่ค้าซื้อเหมาสวนมักจะไม่ใส่ใจในข้อนี้ ใช้วิธียกสวนทุกแปลง ถือว่าลดต้นทุนขนส่ง ไม่ต้องมาหลายเที่ยว เมื่อซื้อไปขาย ก็ไม่ได้กันส่วนที่เพิ่งฉีดยารอให้ตัวยาสลายไปตามกำหนด หากแต่เร่งขายให้หมดๆ มุ่งแต่รายได้ท่าเดียว จึงไม่แปลกที่การสำรวจตรวจสอบด้านสารพิษ ดำเนินการครั้งใด ก็ได้ผลเหมือนครั้งก่อนๆ คือพบสารพิษปนเปื้อนในปริมาณสูงทุกครั้ง สำหรับกรณียาฆ่าหญ้าราวด์อัพนั้น ทางบริษัทมอนแซนโต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปัจจัยเกษตรด้านพันธุ์พืชและสารเคมีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่งสินค้าไปขายทั่วโลก ทำเงินเข้าประเทศปีละหลายพันล้านดอลลาร์ ด้วยการทำรายได้เข้าประเทศมากขนาดนี้ อย.สหรัฐคงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเพิกถอนสารตัวนี้ออกจากตำรับย่าฆ่าหญ้า เนื่องจากมอนแซนโต้สู้ยิบตา นำนักเคมี นำนักวิชาการเกษตร นักปกป้องสิ่งแวดล้อม ฯลฯมายืนยันความปลอดภัยในการใช้สาร “นอกหลอดทดลอง” จนกว่าจะขายสินค้ารุ่นนี้ได้หมด โดยไม่ต้องเรียกคืนหรือถอนสินค้าออกจากตลาด ขณะเดียวกัน ก็เตรียมสารตัวใหม่ที่ปลอดภัยมาแทนที่ อย่างไรก็ดี งานวิจัยของโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลันเยล(Yale School of Medicine)พบว่า 1ใน 3 ของตำรับยาที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนยาในช่วงค.ศ. 2001-2010 ล้วนมีสารที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ที่มีอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ผลต่ออวัยวะบางส่วนไปจนถึงเสียชีวิต แสดงว่า เมื่อ 7 ถึง 16 ปีที่แล้ว ยาเหล่านี้ได้รับการรับรองหรือยอมรับว่าปลอดภัย แต่มาถึงวันนี้พวกมันกลับก่อเกิดพิษภัย ทำให้เกิดคำถามว่า อย.สหรัฐอนุมัติให้ยาขึ้นทะเบียนเร็วไปกว่าชาติยุโรปซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดยาโลกรายสำคัญของสหรัฐไปหรือเปล่า ตามปกติแล้ว แพทย์จะรับรองการรักษาด้วยยาแต่ละตำรับว่าปลอดภัยหลังการใช้ยาโดยเฉลี่ย 4.2 ปีโดยถือเอาสถิติการรักษาคนไข้ 1,000 คนเป็นเกณฑ์ จึงนำมาเป็นเกณฑ์กำหนดระยะเวลาปลอดภัยหลังการทดลองทางคลินิกมาจนถึงปัจจุบัน แต่เพราะผลการสำรวจและวิจัยพิษภัยของยาและผลข้างเคียงในระยะหลังๆมียารักษาโรคหัวใจและมะเร็งหลายตำรับถูกถอนออกจากทะเบียนยา เพราะแม้จะรักษาได้หายในระยะ 5 ปีแรก แต่หลังจากพ้นระยะไปแล้ว โรคกลับมาเป็นอีก ยังผลให้อย.สหรัฐ ขยายระยะเวลาทดสอบด้านพิษวิทยาของยาแต่ละตำรับออกไปจาก 5 ปีเป็น 10 ปี ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังแนะนำให้ใช้เกณฑ์ 5 ปีอยู่ เพราะฉะนั้น ที่เรียกร้องให้ยารักษามะเร็งของหมอแสงได้ขึ้นทะเบียนยารักษาโรคมะเร็งให้ได้นั้น คงจะต้องรอดูผลการทดลองในหลอด ในสัตว์ ในคนเป็นระยะเวลา 5 ปีเป็นอย่างต่ำก่อน วันนี้หาย อีก 5-6 ปีตาย ยังไม่ถือว่ารักษาได้หายขาด แต่ถ้ามองในแง่ซื้อเวลา ต้องการเพียงยืดอายุคนไข้ออกไป 4-5-6 ปี ถือว่าคุ้มแล้ว ทำใจกันได้ เพราะยังมีพวกที่เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย บางคนขอแค่ปีเดียวเท่านั้นพอ ก็มี ปะเหมาะคราะห์ดี มียาหรือการรักษารูปแบบใหม่ๆมาช่วยให้รอดชีวิตในช่วงรอตายนี้ ก็มีความเป็นไปได้อยู่ ตราบเท่าที่มีลมหายใจ ชีวิตย่อมไม่สิ้นหวัง