รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต การวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีตัวแปรที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนที่ยากต่อการควบคุมของมนุษย์ โดยเฉพาะตัวแปรเร่งให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทุก ๆ ด้านอย่าง “โควิด-19” เรามาดูงานวิจัยเรื่อง “การสำรวจพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง COVID -19” ของนายพชร สุขวิบูลย์ นักศึกษาปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนในเจนต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ได้แก่ Generation Baby Boomers, Generation X, Generation Y, Generation Z และคนที่มีระดับความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ซึ่งผลที่สำคัญชี้ให้เห็นว่า “พฤติกรรมของแต่ละ Generation ในแต่ละช่วงการระบาดของโรค COVID-19 มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่แตกต่างกัน และระดับความรู้ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมที่ประชาชนจะเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันการติดโรค” (https://tu.ac.th/thammasat-210164-tbs-research-behavior-people-during-co...) ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 241 คน ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ พบว่า มีการปรับตัวในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แบ่งได้ 3 แบบ คือ 1) พฤติกรรมที่มีการปรับตัวชั่วคราว เช่น การออกไปข้างนอกเพื่อพบเจอและสังสรรค์กับเพื่อนหรือครอบครัว 2) พฤติกรรมที่ไม่มีการปรับตัว หรือปรับตัวเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น การใช้ Social Media ซื้อของผ่านบริการช็อปปิ้งออนไลน์ ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ 3) พฤติกรรมที่เป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือปาก พยายามอยู่ห่างผู้ที่ไอหรือจาม สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านหรืออยู่ในที่สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งในความแตกต่างของพฤติกรรมในแต่ละ Generation ยังพบว่า คนเจน Boomers และคนเจน X มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 คล้ายกัน ส่วนคนเจน Y และเจน Z ก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคล้ายกัน นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของ PwC ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่สำรวจมุมมองผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย (Global Consumer Insights Survey) ประจำปี 2564 จำนวนทั้งสิ้น 8,700 คนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าชาวไทยมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก คำนึงถึงการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ของร้านค้าเป็นสำคัญ และให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเงินสดซึ่งอาจเป็นแหล่งของเชื้อโรค(https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20210518.html) …นี่แค่ข้อมูลที่เรียกน้ำย่อยจากท่านผู้อ่าน และในสัปดาห์นี้จะมีผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยในยุคโควิด-19” ที่จะไปเจาะใจวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้คนที่ผ่าน “แบบสอบถามออนไลน์” 1,000 กว่าคน จะทำให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ถึง 1) มุมมองของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และ 2) มุมมองของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย เช่น ในด้านการทำงาน การเดินทาง การใช้ชีวิต การซื้อของ การออกไปข้างนอก เป็นต้น 3) มุมมองของประชาชนที่มีต่อ “พฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่” เช่น การดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง การใช้โซเชียลมีเดีย การเข้าร่วมมาตรการของภาครัฐ เป็นต้น ติดตามผลโพลได้ในวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2564 นี้ ท่านผู้อ่านจะได้รับรู้ว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่เปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 เห็นข้อมูลแค่นี้ คงถึงบางอ้อนะครับว่า “เจ้าโควิด-19” มันร้ายกาจจริง ๆ