พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ มีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า เรื่องศาสนากับเรื่องการเมือง ในเมืองไทยนั้นแยกกันไม่ออก ต่างสัมพันธ์เชิงเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในแง่ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลเชิงพุทธสัญลักษณ์เอง พระสงฆ์ไทยต้องอยู่ภายใต้กติกาหรือกฎระเบียบถึง 3 ชั้น ชั้นแรก คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้พระวินัยในพระพุทธศาสนาเอง ชั้นที่สอง คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสงฆ์ (พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับ พ.ศ. 2505 แก้ไข พ.ศ. 2535) และชั้นที่ 3 พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองเฉกเช่นพลเมืองไทยโดยทั่วไป สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลเชิงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจนคือ กระบวนการในชั้นที่สอง พระสงฆ์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสงฆ์ การอยู่ภายใต้ร่างกม.ดังกล่าว แสดงให้เห็นบทบาทของรัฐที่เข้ามากำกับดูแลกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยมีองค์กรศูนย์กลางของศาสนาพุทธของทางการ หรือรัฐไทย คือ มหาเถรสมาคม (มส.) และหน่วยงานของรัฐที่เพิ่งจัดตั้งมาได้ไม่กี่ปี คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อีกหน่วยงานหนึ่ง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยแยกไม่ออกจากการเมือง ด้วยเหตุที่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มองอีกทีการเข้ามาเกี่ยวข้องของอำนาจรัฐดังกล่าว อาจเป็นผลดีกับพระพุทธศาสนาทั้งในแง่บุคคลและการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนอย่างเป็นทางการ หรือเป็นงานเป็นการ แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งจารีตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองตามแบบฉบับของไทยดังกล่าวก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในแง่ของความขัดแย้งทางด้านความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแต่ละคน (ปัจเจก) แม้แต่พุทธศาสนิกชนด้วยกัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่คิดว่าศาสนาพุทธแบบทางการ (รัฐ) คืออำนาจ และรัฐมีอำนาจที่จะกำหนดความเชื่อความศรัทธาของศาสนิกซึ่งก็คือชาวพุทธได้ ทั้งที่แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยเต็มทีในยุคโลกาภิ วัตน์ หรือยุคโซเชียลมีเดีย ที่การนับถือศาสนาของผู้คนมีลักษณะของความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต่างคนต่างนับถือศาสนาตามเหตุผลและความเชื่อของแต่ละคน มากกว่าการชี้นำโดยรัฐหรือองค์กรของรัฐด้วยซ้ำไป ทำให้อำนาจการเมืองแบบรวม ศูนย์กลาง(centralization) อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตค่อยๆ เลือนหายไปโดยอัตโนมัติ นัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นลักษณะของความเป็นไปของศาสนาและศาสนิกที่กำลังเป็นไปในโลก 2 ประการ ประการแรก คือ ความมีอิสระที่จะเชื่อหรือนับถือในลัทธิศาสนาที่ตนศรัทธา ประการที่สอง คือ การปรับตัวของระบบความเป็นอยู่ของศาสนาและศาสนิกเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกระแสสากลภายใต้รหัส 4.0 โลก 4.0 ที่ผู้คนเลือกเชื่อ เลือกนับถือในสิ่งที่ตนเห็น อยากเชื่อหรืออยากนับถือโดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่น รวมถึงการเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ก็เป็นทางเลือกของคนจำนวนมากภายใต้กระบวนทัศน์ 4.0 ในปัจจุบัน กระบวนทัศน์ของการนับถือศาสนาทั้ง 2 ประการในปัจจุบัน กำลังบอกเราว่า อำนาจรัฐที่จะเข้าไปควบคุมดูแลศาสนา ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (การเมือง) กับศาสนา ดังกรณีตัวอย่างการพยายามควบคุมวัดพระธรรมกายในเมืองไทยกำลังอ่อนลงเต็มที หน่วยงานทางการที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนามีกิจการศาสนาที่ต้องดูแลในมือน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความหลากหลายของศรัทธาต่อพระศาสนาในรูปแบบทั้งเก่าและใหม่ของศาสนิกกลับโถมทับทวีเพิ่มมากขึ้นทุกที ดังกรณีพระสงฆ์บางกลุ่มที่แม้แยกออกไปจากองค์กรพระพุทธศาสนาแบบทางการ (รัฐ)แล้วหากยังรักษาฐานของศาสนิกผู้ศรัทธาเอาไว้ได้อย่างแน่นแฟ้นแถมศาสนิกอาจยังกลับเพิ่มพูนมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ มองในแง่นี้เท่ากับศาสนาพุทธแบบทางการที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด (จากความเป็นทางการ แบบรวมศูนย์กลางแบบเดิม) ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่แค่ “รัฐพุทธ”หรือศาสนาประจำชาติเท่านั้น ซึ่งสวนกระแสกับกระแสศาสนาสากล 4.0 เมื่อมองในแง่การเผยแผ่พระศาสนาออกไปยังนานาชาติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของรัฐไทย จึงมีความย้อนแย้งกันอย่างยิ่ง ทั้งหลักการและวิธีการเผยแผ่ รวมถึงการตีความพระไตรปิฎกบนความเป็นทางการที่ถูกสงวนสิทธิ์ไว้โดยบุคคลของรัฐหรือบุคคลที่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ในขณะที่ในยุค 4.0 นี้ ยังมีกลุ่มชาวพุทธอื่นๆ ตีความหลักธรรมออกไปอีกหลากหลายนับไม่ถ้วน ดังการตีความเพื่อหาเหตุผลของความจำเป็นที่ภิกษุณีต้องเป็นบุคคลทางศาสนาแบบเดียวกับภิกษุ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายพุทธแบบทางการในเมืองไทย หากในที่สุดแล้วผู้นำภิกษุณีบางกลุ่ม เช่น กลุ่มของภิกษุณีธัมมนันทาหรือกลุ่มอื่นๆ ก็ยังคงดำรงสภาพความเป็นนักบวชหญิงในพุทธศาสนาอยู่ได้อย่างที่เป็น ยกเว้นเพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพภิกษุณีกับกฎหมายรัฐเท่านั้นที่ยังมีปัญหา ถึงแม้ข้อเรียกร้องของภิกษุณีและผู้ที่เห็นแย้งกับฝ่ายพุทธรัฐ จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ในการลงหลักปักฐานของบรรพชิตชาวพุทธเพศหญิงในเมืองไทยนั้นต้องนับว่าประสบผลสำเร็จอยู่ไม่น้อย หากมองจากความจริงเชิงพัฒนาการของพระพุทธศาสนาของโลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาก็จะเห็นได้ว่า รัฐประชาธิปไตยตะวันตกไม่ได้มีหน้าที่ค้ำจุนศาสนาแต่อย่างใด มีการแยกความเชื่อ และกิจการศาสนาออกจากรัฐ (การเมือง) ปล่อยให้ศาสนาเป็นไปตามเชื่อความศรัทธาของศาสนิกของศาสนานั้นๆ รัฐประชาธิปไตยในโลกตะวันตกถือว่า การเมืองกับศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น การที่ศาสนาจะอยู่ในโลกตะวันตกได้ ก็เพราะความศรัทธาหรือพลังของศาสนิกของศาสนานั้นจริงๆ มิใช่การค้ำจุนโดยรัฐ ในส่วนของเมืองไทยนั้น ความกังวล (ซึ่งที่จริงแล้วผู้ที่กังวลส่วนใหญ่ก็คือฝ่ายพุทธอำนาจนิยมแบบรัฐ) ส่วนหนึ่งพุ่งไปการตีความพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ว่าอาจคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามพุทธประสงค์ แต่หากกลับไปศึกษาดูถึงพัฒนาการของพุทธศาสนาก็จะเห็นว่าระยะเวลาผ่านมา 2500 กว่าปีนั้นคำสอนของพุทธศาสนาถูกตีความมาตลอดจากรุ่นสู่รุ่น แตกแขนงออกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย อย่างน้อยที่เห็นอย่างชัดเจน คือ นิกายเถรวาทกับนิกายมหายานซึ่งมีการตีความคำสอนแตกต่างกัน แม้พระพุทธศาสนาทั้ง 2 นิกายจะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ในเชิงอุดมการณ์การใช้ชีวิตกลับแตกต่างกัน พุทธเถรวาทนั้นให้ภาพเป้าหมายเชิงปัจเจก ขณะที่พุทธมหายานให้ภาพเป้าหมายเชิงส่วนรวม (ตามอุดมการณ์โพธิสัตว์) การปรับเปลี่ยนความคิดในการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาจึงเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญเพื่อพลิกพระพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นที่พึ่งของตนเองจริงๆ ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนไขด้านกฎหมายของไทยในปัจจุบันก็จะเห็นว่า รัฐศาสนาหรือพุทธศาสนาแบบทางการนั้นน่าจะคลายความสำคัญลง จากความหลากหลายของศรัทธาในบรรดาชาวพุทธด้วยกัน โดยเฉพาะหากรัฐไทยโน้มไปแนวทางประชาธิปไตยสากล กระแสความเป็นไปดังกล่าวก็จะชัดเจนมากขึ้น แต่แม้ประเทศไทยเป็นรัฐที่ปกครองแบบตรงกันข้ามก็ใช่ว่าจะสามารถยับยั้งกระแสนี้ได้ง่ายๆ เพราะการใช้อำนาจรัฐผ่าน “ศีลธรรมแบบรัฐ” หรือ “รัฐศีลธรรม” ที่ใช้ระบบศีลธรรมทางศาสนาเป็นตัวควบคุมและประเมินมาตรฐานพลเมืองในทางความเชื่อยิ่งทำให้ศรัทธาของพลเมืองต่อศีลธรรม (ศาสนา) แบบทางการลดน้อยลงไป แม้แต่ก่อให้เกิดการขัดขืนขึ้นด้วยซ้ำ โดยที่วิธีการดังกล่าวเท่ากลับทำให้รัฐไทย กลายเป็นรัฐศาสนาแบบเต็มตัวมากขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการสถาปนารัฐศีลธรรมหรือรัฐศาสนาก่อให้เกิดผลกระทบเชิงความขัดแย้งมากมายดัง เหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์ในยุโรปสมัยกลาง หากเพราะศีลธรรมหรือศาสนาจะอยู่ได้หรือคนจะปฏิบัติตามนั้น ขึ้นกับศรัทธาของชาวบ้านมากกว่าอย่างอื่น ในทางตรงข้ามการออกกฎหมายบังคับเชิงศีลธรรมโดยรัฐตามหลักการ “คนดี” ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจะกลับทำให้รัฐนั้นๆ กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวในด้านสิทธิมนุษยนชนมากขึ้น