ทวี สุรฤทธิกุล ตำรวจถูกปฏิรูปครั้งสุดท้ายในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเกิดขึ้นของกรมตระเวนซึ่งเป็นการเริ่มต้นของกิจการตำรวจไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่ากันว่าเอาแบบอย่างมาจากตำรวจของอังกฤษ ซึ่งท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะลูกอธิบดีตำรวจคนหนึ่ง (บิดาของท่านคือพระองค์เจ้าคำรบ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 6) ได้เคยพูดถึงว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยตระเวนตรวจตราตามชุมชนที่อยู่อาศัยของประชาชน หากมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นก็เข้าระงับให้เกิดความสงบเรียบร้อย เรียกว่าเป็น “ญาติของประชาชน” จริง ๆ โดยทำหน้าที่คล้าย ๆ กับ “แขกยาม” จึงเป็นที่รักใคร่และสนิทสนมกับประชาชน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่ปรากฏว่าตำรวจมีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหารในครั้งนั้นแต่อย่างใด แต่เริ่มปรากฏเป็นชื่อเสียงในภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ทหารโดยพลตรีเผ่า ศรียานนท์ ลูกเขยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เพื่อนรักที่เป็นนอมินีทำการรัฐประหารให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้น ได้โอนย้ายจากทหารเข้ามาคุมกรมตำรวจ ได้รับยศเป็นพลตำรวจเอก และเปลี่ยนกรมตำรวจเป็น “กองทัพตำรวจ” ดังคำพูดของพลตำรวจเอกเผ่าเองที่คนทั้งหลายจดจำได้ ที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” (ความจริงท่านพูดไว้ยาวกว่านี้ คือต่อด้วยข้อความว่า “.. ในทางที่ไม่ขัดศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และกฎหมายบ้านเมือง” แต่สื่อในสมัยนั้นนำมากล่าวถึงไว้เพียงแค่ส่วนสั้น ๆ ดังกล่าว) จึงถือได้ว่าเป็นการ “ปฏิรูปตำรวจ” เป็นครั้งแรก ที่จากความเชื่อด้วยประสบการณ์ในการทำงาน “เพื่อพยายามปฏิรูปตำรวจ” ที่ผู้เขียนเคยทำมา 2 ครั้ง ก็น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าผู้มีอำนาจยัง “เกรงใจ” ตำรวจ อย่างที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ก่อนอื่นคงจะต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้นำทหาร ที่คิดรวบตำรวจเข้ามาไว้ในการดูแลตั้งแต่ยุคที่ทหารครองเมือง อย่างที่ได้ให้พลตรีเผ่ามาเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจภายหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 นั้น แล้วอีก 4 ปีต่อมาก็ขึ้นเป็นอธิบดีอย่างเต็มตัว พร้อมกับที่ได้เปลี่ยนแปลงกรมตำรวจขนานใหญ่ จนกลายเป็นกองทัพตำรวจในที่สุด จากนั้นก็ปรากฏว่าทหารได้เข้ายึดครองตำแหน่งอธิบดีตำรวจนี้เรื่อยมาอีกอย่างต่อเนื่อง คือภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2500 ก็ให้พลโทไสว ไสวแสนยากร ขึ้นเป็นอธิบดีตำรวจ จากนั้นใน พ.ศ. 2502 ก็ขึ้นเป็นอธิบดีตำรวจเสียเอง ควบกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงทำให้เชื่อได้ว่าตำแหน่งอธิบดีตำรวจนี้จะต้องมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ภายหลังอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ทหารก็เข้ายึดครองกรมตำรวจนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น มาจนถึง พ.ศ. 2518 แต่กระนั้นถ้าเรามองการเมืองไทยในเนื้อแท้แล้ว ทหารนี่แหละที่คุมตำรวจอยู่โดยตลอด ไม่เคยปล่อยมือเลย เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามที่ทหารมีอำนาจ ทหารก็จะเข้าคุมตำรวจในทุกวิถีทาง อย่างเช่นที่เราเห็นอยู่ในรัฐบาลที่ทหารควบคุมอยู่ชุดนี้ ที่พลเอกประยุทธเข้ามาคุมตำรวจเสียเอง โดยมีอำนาจกำกับอยู่ในคณะกรรมการตำรวจ ที่ควบคุมทั้งนโยบายและการบริหารทั้งปวงในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินี้ ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจมา 2 ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2550 โดยทหารได้แต่งตั้งคณะกรรมชุดใหญ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งยังมีผู้บัญชาการตำรวจและตำรวจใหญ่ ๆ เข้ามาเป็นกรรมการด้วย ผู้เขียนเป็นกรรมการฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้อาสาเป็นเลขานุการในอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้ทำแบบสอบถาม ทำแบบทดสอบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การเก็บข้อมูลในพื้นที่จากประชาชนทั่วประเทศหลายพันคน และการเก็บข้อมูลจากตำรวจกว่า 2,000 ตัวอย่าง กระทั่งจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติบริหารงานตำรวจ 2 ฉบับ และได้เสนอเข้าสู่สภาในปลายปี 2550 นั้น แต่ก็เป็นที่น่าเศร้าใจ เพราะถ้าใครติดตามข่าวสารในช่วงนั้นก็จะทราบว่า ได้มีกลุ่มชมรมตำรวจที่ส่วนใหญ่เป็นตำรวจที่เกษียณอายุไปแล้ว ทว่าเป็น “อดีตตำรวจใหญ่” กันทั้งนั้นได้เข้ามาเบรก ยื่นจดหมายถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บอกว่าขอให้เอาไปศึกษาในรายละเอียดและทบทวนอีกครั้ง จนกระทั่งสภาชุดนั้นหมดวาระไปในเดือนมีนาคม 2551 เป็นอันว่าร่างพระราชบัญญัติตำรวจนั้นก็ตกตายไปตามกันด้วย ต่อมาในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระบบงานตำรวจ อันเนื่องมาจากมีการร้องเรียนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ที่มีพลตำรวจเอกวศิษฐ์ เดชกุญชร นายตำรวจที่ได้ชื่อว่าตงฉินที่สุดคนหนึ่ง เป็นประธาน ทีนี้ได้เพิ่มนายกสภาทนายความเข้ามร่วมด้วย และมีพลตำรวจโทปิยะ อุทาโย นายตำรวจน้ำดีคนหนึ่ง เป็นเลขานุการ การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้สำเร็จเป็นคู่มือในการแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจ แต่ปรากฏว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคู่มือดังกล่าว มาถึงวันนี้ ผู้เขียนก็เริ่มจะเข้าใจแล้วว่า ที่ผู้เขียนและคณะกรรมการทั้ง 2 คณะได้ทำมานั้น น่าจะเป็นแค่ “พิธีกรรม” ที่ผู้มีอำนาจทำเอาใจกระแสเรียกร้องในบางยุคสมัยเท่านั้น รวมถึงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ “ละเลย” ปล่อยปละไม่เอาจริงเอาจังมาตลอดเวลา 7 ปีที่ครองอำนาจมานี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ผู้มีอำนาจไม่ได้เคยคิดที่จะปล่อยตำรวจออกจากการควบคุมแต่อย่างใดเลย ดังนั้นใม่ว่าจะมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตำรวจมากมายเพียงใด แต่ถ้าตำรวจไม่ยอม ซึ่งผู้มีอำนาจโดยเฉพาะทหารที่ต้องพึ่งพิงตำรวจ ต้องยอมตามตำรวจเสมอมานั้นไม่เอาด้วย ก็ยากที่จะสำเร็จได้ ผู้เขียนเชื่อในทฤษฎี “เกาหลังให้กัน” ที่ทหารก็ต้องพึ่งตำรวจ ตำรวจก็ต้องพึ่งทหาร เพื่อรักษาตัวรอดไปด้วยกัน อย่าลืมว่า ตำรวจตั้งแต่ยุคพลตำรวจเอกเผ่านั้นได้ตั้งเป็นกองทัพอีกกองหนึ่งขึ้นมา มีพลานุภาพเท่าเทียมกันกับกองทัพทั้งบกเรือและอากาศที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น และยิ่งตำรวจในยุคต่อมา “เล่นการเมืองเก่ง” เข้าใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างอำนาจของ “ระบอบเผด็จการไทย” ก็ยิ่งทำให้ตำรวจได้กลายเป็นอวัยวะสำคัญในระบบการเมืองไทย ที่ไม่มีใครจะมองข้ามไปได้ ดังนั้นด้วยความเชื่อเช่นนี้ ผู้เขียนจึงมั่นใจว่า ไม่มีใครที่จะ “บังอาจ” หรือ “อาจเอื้อม” ไปปฏิรูปตำรวจนี้ได้ ยกเว้นแต่ตำรวจจะทำพังกันไปเอง แล้วค่อยมาสร้างกรมตำรวจขึ้นใหม่