ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 เป็นต้นมา ผมได้เดินทางกลับมาเมืองไทยด้วยวัย 24-25 ปี และเริ่มสอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้นมา โดยความรู้สึกที่ยัง “เอ๊าะมาก!” กล่าวคือ รู้สึกว่าเด็กมากที่มีอายุไม่ได้แตกต่างกับนักศึกษาแต่ประการใด จนเวลาสอนบางครั้งแทบจะโดนนักศึกษาสอนมวยด้วยซ้ำไป แต่นักศึกษารุ่นนั้นก็น่ารักที่คอยประคับประคอง และบางครั้งช่วยผมสอนด้วยซ้ำไป เราจึงเข้ากันได้ดี จนปัจจุบันลูกศิษย์ในยุคนั้นได้ดิบได้ดีกันมากมาย บางคนเป็นครูบาอาจารย์ทั้งที่คณะรัฐศาสตร์ และเชื่อหรือไม่ครับว่าลูกศิษย์เริ่มเรียกผมว่า “ป๋า!” ตั้งแต่บัดนั้น อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ทั้งสะสมและสั่งสมประสบการณ์ที่ได้ผสมผสานมาโดยตลอด ทั้งจากการสอนหนังสือมาโดยตลอด ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทตั้งแต่อายุ 24-25 เป็นต้นมา ตลอดจนได้พบปะบรรดาครูบาอาจารย์รุ่นพี่ อาทิ อ.ลิขิต ธีรเวคิน อ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อ.สุรชัย ศิริไกร อ.จุลชีพ ชินวรรโณ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อ.พัชรี สิโรรส พร้อมทั้ง อ.สุจิต บุญบงการ อ.วีรพงษ์ รามางกูร และอ.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นต่างก็มีตำแหน่งเป็นทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และบางท่านก็เป็นถึงศาสตราจารย์กันแล้ว ต้องยอมรับว่า ผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาส “ไต่บันไดความรู้” กับบรรดา “ผู้รู้-กูรู-กูรู้” มากมายที่มีความรู้มากมายพร้อมประสบการณ์เพียบที่อาวุโสมาก จนผมต้องจากไปศึกษาต่อในระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบในอายุใกล้ๆ 30 ปี เนื่องด้วยต้องการจบเร็วๆ เพื่อรีบกลับมาสอนหนังสือและเริ่มสคาร์ตชีวิตทางด้านวิชาการอย่างจริงจังเสียที และที่สำคัญอยากให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจว่า มีลูกชายคนเดียวหรือ “ลูกโทน” ได้จบ “ปริญญาเอก” หรือ “ดอกเตอร์” จากนั้นมาต้องรับสารภาพว่า “เรียนรู้” เร็วมาก เพราะผมโชคดีที่มักไม่ค่อยชอบสุงสิงกับนักวิชาการที่อายุเท่ากันหรือน้อยกว่า แต่มิใช่ว่าดูหมิ่นดูแคลนอาจารย์เหล่านั้น เพียงแต่อาจจะเสวนากันไม่ค่อยได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อคุยกับบรรดาอาจารย์รุ่นพี่รู้สึกสนุกและเป็นกันเอง หรือผมอาจ “แก่แดด!” ก็เป็นได้ จึงคบหาสมาคมกับอ.ลิขิต และอ.สมชายที่สนิทมากที่สุด โดยเฉพาะอ.ลิขิต (ตอนหลังท่านได้เป็นศาสตราจารย์ช่วงอายุเพียง 50 กว่าๆ เท่านั้น) ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน จะเป็นพี่ชายและเพื่อนที่ดีมากๆ พูดจาและสอนผมอย่างตรงไปตรงมา ผิดก็บอกผิด ถูกก็บอกถูก อาจารย์สมชายก็เช่นเดียวกัน จนในที่สุดเราทั้งหมดก็ได้ไปเป็นคณะทำงานในส่วนที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ให้แก่รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปีพ.ศ.2527-2528 ซึ่งผมอายุเพียง 31-32 ปีเท่านั้น เรียกว่า “เด็กสุด!” อีกหนึ่งท่านที่ลืมไม่ได้เลยคือ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ท่านยังครองยศพันตรี เสมือนญาติที่รู้จักมากที่ทั้งดุด่าว่ากล่าวตักเตือนฉันท์พี่น้อง และมาเจอท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม ตอนผมอายุได้ประมาณ 34-35 ปี ตอนท่านยังคงเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังจะย้ายมาเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในสมัยพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ มาเป็นนายกรัฐมนตรี (ยศขณะนั้น) และท่านยังเป็นผู้ดำเนินรายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในขณะเดียวกัน ผมก็สบโอกาสเข้ามาช่วยราชการกับท่านรองนายกรัฐมนตรีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ โดยมีอาจารย์วิษณุ เครืองาม มาเป็นคณะที่ปรึกษาของอาจารย์มีชัย และผมก็โชคดีที่พ่อตาผมคุ้นเคยกับอาจารย์มีชัยได้ฝากผมไว้ให้มาช่วยงานราชการด้านกระบวนการยุติธรรมกับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์วิษณุ จึงเริ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สิริรวมทั้งสิ้นประมาณ 30 กว่าปี เป็นกรณีที่แปลกมากที่ผมมักเดินเข้าออกทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่อายุ 30 กว่าปี พร้อมทั้งกองทัพบกด้วยการช่วยราชการทั้งสองหน่วยงาน กล่าวคือ ทั้ง “กรป.กลาง” หน่วยงานขึ้นตรงกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่อายุ 30 กว่าจวบจนถึงปัจจุบันในฐานะผู้ดำเนินรายการเชิงวิเคราะห์ข่าวสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ แต่จะหนักทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แทบทุกวันกับสถานีวิทยุกองทัพบก ต่อมาได้ร่วมกับทางสถานีวิทยุกองทัพไทย และกับกรมประชาสัมพันธ์ และได้มีโอกาสเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อาทิ มติชนบ้าง 2 คอลัมน์ต่อเดือน และนิตยสารต่างๆ พร้อมสอนหนังสือ และแน่นอนรายการโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” จนเปลี่ยนเป็น “สนทนา 45 นาที” การเปลี่ยนแปลงของชาติบ้านเมือง ต้องยอมรับความจริงว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” มาโดยตลอด เนื่องด้วย “ภาคการเมือง” ที่เริ่มเจริญเติบโตมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 (ประมาณนั้น) ที่พรรคการเมืองค่อยๆ เจริญเติบโต แต่ “กองทัพ” ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ ทั้งนี้ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นยาวนาน 8 ปี “หลักการประชาธิปไตยครึ่งใบ” ได้ผลมาก เพราะท่านยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” โดยเฉพาะ “การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง” ที่ “ป๋าเปรมเกลียดที่สุด” “ธุรกิจการเมือง” เริ่มเบ่งบานจริงๆ จังช่วงปีพ.ศ.2530 โดยบทบาทพรรคการเมืองเริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์กันอย่างจริงจัง หลังจากพลเอกเปรม “ป๋าเปรม” วางมือทางการเมือง โดยยกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้แก่ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) “ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนโดยไม่อยากเข้ามาดำรงตำแหน่งแบบไม่เต็มใจ” อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคการเมืองที่ต้องผสมผสาน นำเอาหลายพรรคการเมืองนำมาเป็นรัฐบาลผสม แน่นอนที่ต่างฝ่ายต่างต้องสร้างโครงการเพื่อหวังผลในการสร้าง ที่เรียกว่า “ผลงาน” หรือเรียกว่า “ผลงานรัฐบาล” ที่ก็อาจจะเป็นโครงการที่มีมูลค่านับหลายร้อยหลายพัน หรืออาจหลายหมื่นล้านบาท ที่อาจมีการเรียก “ค่าหัวคิว” หรือ “ค่านายหน้า” ก็เป็นได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ อาจเรียก “สิบเปอร์เซ็นต์-สิบห้าเปอร์เซ็นต์-ยี่สิบเปอร์เซ็นต์” หรือ สูงมากกว่านั้น “ต่างคนต่างหากิน!” จนเกิดการยึดอำนาจขึ้นมาโดย “คณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชายชุณหะวัณ เอาไว้ต่อกันคราวหน้าครับ!