เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “สองซอด” เป็นภาษาอีสาน แปลว่ามองทะลุ เป็นคำที่พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว อดีตประธานอินแปง เครือข่ายชุมชนรอบตีนภูพานใช้เพื่อแปลคำว่า “วิสัยทัศน์” ตามทัศนะของท่าน โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ถ้าหากสังคมไทยยังมีนโยบายการศึกษาและการพัฒนาประเทศเช่นนี้ ไม่เกิน 12 ปีข้างหน้า (ปี 2030) สถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งรัฐและเอกชนจะปิดตัวลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 แรงงานไทยจะตกงานไม่น้อยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เช่นเดียวกัน ถ้าคิดเป็นเส้นตรง คงอีกหลายสิบปีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เร็วแบบตัว S ไม่เช่นนั้น เราคงไม่เห็นการล้มลงของธุรกิจขนาดใหญ่ขนาดย่อยมากมายที่ตามโลกไม่ทัน คาดการณ์ผิด การคิดเป็นเส้นตรงคงเป็นได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือหลอกตัวเอง อย่างที่สอง คือ หลอกคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ในการคงอยู่ของธุรกิจและผลประโยชน์ กรณีพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือกรณีน้ำมันและพลังงานฟอสซิลทั้งหลายอยู่ในกลุ่มนี้ จนถึงไม่นานมานี้ คนในธุรกิจน้ำมันบอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะยังอีกนานหลายสิบปีกว่าจะออกสู่ตลาดใหญ่และมีผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมัน วันนี้คงปรับการคาดการณ์ใหม่ หลังจากรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเปิดตัวแข่งขันชิงตลาดกันอย่างดุเดือด และประเทศต่างๆ เริ่มประกาศชัดเจนว่า อีกกี่ปีห้ามขายรถใช้น้ำมัน การเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผนึกพลังกันทำให้เกิดพลังทวีคูณ และเร่งความเร็ว (จากเส้นตรงเป็นตัว S) เท่านั้น แต่มีเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง สังคมอื่นๆ หรือสำนึกใหม่ของสังคมพลเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและคาดไม่ถึงนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐกำลังมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแรงงานในประเทศต่างๆ เดิมทีโรงงานที่ใช้แรงงานไร้ทักษะย้ายฐานการผลิตไปประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานถูกกว่า จากอเมริกา ยุโรป มาเอเชีย วันนี้ปัญญาประดิษฐเริ่มแทนที่แรงงานไร้ทักษะและขยายไปสู่แรงงานทักษะมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่ภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มตื่นตัวและปรับตัว ภาคการเงินการธนาคาร การสื่อสาร การตลาด โลจิสติกส์ ฯลฯ คนที่เคยมีการงานมั่นคงใน “ออฟฟิศ” เตรียมหางานใหม่กันขนานใหญ่ ไม่ทราบว่าในแวดวงการศึกษาไทยมีการวิเคราะห์สถานการณ์โลกกันขนาดใหน ถ้าไม่ปรับแนวทางการจัดการศึกษาวันนี้ วันหน้าคงมีชะตากรรมไม่ต่างจาก “โกดัก” ที่ขายฟิล์มไม่ออก เพราะเขาถ่ายภาพแบบดิจิตอลด้วยมือถือ การศึกษาไทยยังเป็นอะนาล็อค ขณะที่สถานการณ์โลกเป็นดิจิตอลไปแล้ว ผลผลิตจากการศึกษาไทยจะไปรับจ้างใครเขาทำอะไรได้ คงขายไม่ออก สิ่งที่สังคมไทยต้องทำอย่างรีบด่วนวันนี้ คือ การปฏิรูปอุดมศึกษา จะมีกลไกพิเศษ มีวิธีไหนก็ได้ ให้มีนโยบายเร่งด่วนเพื่อปรับ “รูปแบบ-เนื้อหา-กระบวนการ” ของการจัดอุดมศึกษาให้รับกับการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องคิดนอกกรอบ ไม่วนเวียนอยู่แต่เรื่องการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แบบเอาเหล้าเก่าใส่ขวดใหม่ สุดท้ายอาจจะได้ขวดเก่าที่ทิ้งไปแล้วเอามาล้างใหม่ การผลิตคนไปรับใช้ “อุตสาหกรรม” แบบตัดเสื้อโหลใช้ไม่ได้นานแล้ว แต่เมืองไทยยังทำแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว โลกที่กำลังเปลี่ยนไปไม่ได้ต้องการแรงงานแบบสำเร็จรูป แต่ต้องการคนคิดเป็น คิดนวัตกรรม คิดอะไรใหม่ๆ ต้องการคน “สตาร์ทอัพ” เข้าใจเทคโนโลยี รับรู้ว่าไทยมี “ทุน” เดิมอยู่เพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างพอเพียง “ไม่ได้จนทรัพยากร ไม่ได้จนคน ไม่ได้จนเงิน แต่จนปัญญา” สถาบันอุดมศึกษาไทยรอรับแต่เด็กจบมัธยมปลาย อายุ 17-18 ซึ่งมีจำนวนลดลงทุกปี มีที่ว่างเรียนเหลือเฟือ ขณะที่ผู้ใหญ่ที่อยากเรียนในระดับอุดมศึกษา อายุระหว่าง 25-50 ปี มีไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ทั้งที่จบมัธยมปลายในระบบหรือนอกระบบ หรือที่จบประถมและมัธยมต้นที่มีศักยภาพที่จะเรียนถึงมัธยมปลายและไปต่อมหาวิทยาลัย ถ้าหากคนเหล่านี้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม พวกเขาจะเป็นพลังสำคัญสำหรับสังคมไทยยุคใหม่ที่ต้องการ “แรงงาน” แบบใหม่ ที่มีทักษะ “ดิจิตอล” และคิดอะไรใหม่ๆ เองได้ การศึกษาแบบเดิมๆ สำหรับผู้ใหญ่อย่างที่รามคำแหงและมสธ. ไม่ตอบโจทย์นี้ จึงไม่แปลกที่จำนวนนักศึกษาในสองมหาวิทยาลัยนี้ลดลงอย่างน่าตกใจ ถ้าไม่ “รีแบรนด์-ยกเครื่อง-ปฏิรูป” คงปิดไปอีกไม่นาน ผู้ใหญ่จำนวนหลายล้านคนยังต้องการเรียน แต่ถ้าเรียนแบบเดิม ถามว่าจะเอาใบปริญญาไปทำอะไร นอกนั้น เศรษฐกิจฐานรากยอบแยบแบบนี้ ให้เรียนฟรียังไม่อยากเรียนเลยถ้าเรียนแบบเดิม รัฐบาลเองลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมเป็นล้านล้านบาท แต่ไม่ยอมลงทุนโครงสร้างทางปัญญาให้สังคม ทำไมไม่ให้ทุกคนที่อยากเรียนมหาวิทยาลัยได้เรียน “ฟรี” จะแบบกรอ.เดิมหรือแบบไหนก็ได้ ให้คืนเงินกู้เมื่อทำงานและเสียภาษี ก็น่าจะยุติธรรมดี ไม่ใช่คงกรอ.ไว้เพื่อบังคับให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรที่สังคมต้องการ ที่แปลว่า “อุตสาหกรรม” ต้องการ “สังคมธุรกิจแบบอะนาล็อค” ต้องการ เป็นความคิดโบราณที่รอวันล้มละลายเหมือน “โกดัก” เรียนฟรีจะมีความหมายต่อเมื่อมีการปฏิรูปอุดมศึกษาด้วยเท่านั้น จะเสียหายอะไรถ้าหากคนเรียนจบปริญญาตรีไม่ทำงานในออฟฟิศในเมือง แต่ทำงานในทุ่งนาป่าเขา ในหมู่บ้านชนบท อุดมศึกษาใหม่แบบ “ดิจิตอล” ที่หลากหลายและอิสระ จะช่วยให้เขาและสังคมไทยอยู่ “รอด พอเพียง และมั่นคึงยั่งยืน” ได้อย่างแน่นอน