แสงไทย เค้าภูไทย รัฐบาลคสช.ในสายตาคนไทยดูจะกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่าย แม้นายกฯจะพยายามทำกิจกรรมเรียกความนิยม แต่กลับได้รับผลเป็นตรงกันข้าม จนรู้สึกว่า ยิ่งอยู่นาน ยิ่งเจอเหตุการณ์ด้านลบมากขึ้นทุกที จนดูคล้ายกับว่า เทวดาไม่เป็นใจให้อยู่นาน ทำดีปานใด ไม่มีใครเห็น พลาดนิดเดียวกลับเป็นเรื่องใหญ่ แม้ตัวเองจะไม่เป็นคนทำ แต่ก็กลับมีผลมากระทบจนได้ อย่างกรณีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีโชว์แหวนเพชร โชว์นาฬิกาข้อมือมูลค่าเป็นล้านๆโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นต้น ทำให้คิดถึงพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2549 ที่เมื่อทำรัฐประหารสำเร็จ ก็ชูพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ชั่วระยะสั้นๆแล้วจัดการเลือกตั้ง ต่างจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ “ชงเองกินเอง” ทำรัฐประหารเสร็จ ตัวเองขึ้นเป็นนายกฯเสียเองซ้ำพยายามที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แม้ในช่วง 2 ปีเศษของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะได้รับการยอมรับ ในข้อที่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบลง แต่ในด้านเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของชาวบ้านกลับเป็นตัวถ่วงน้ำหนักในความศรัทธาที่สำคัญที่สุด แม้เศรษฐกิจครึ่งหลังของการเป็นรัฐบาลปีที่ 3 จะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต้มปากว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล เพราะการที่เศรษฐกิจดีขึ้นนั้น สาเหตุปัจจัยมาจากภายนอก คือเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประเทศที่มีสภาพเดียวกันกับเรา อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับเราเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกซบเซาเหมือนๆกัน เคยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำช่วงเดียวกันกับเราพอๆกัน แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว บรรดาประเทศเพื่อนอาเซียนของเราเหล่านั้นกลับได้รับอานิสงส์มากกว่าเรา โดยเฉพาะเวียดนาม ที่นักเศรษฐศาสตร์บ้านเราพากันปรามาสว่า กว่าจะโตทันเราได้ ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี แต่แค่ 3 ปีเท่านั้น เวียดนามแซงหน้าเราไปไกล ผลงานปัจจุบันของรัฐบาลนี้ก็คือ อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในภูมิภาค ทั้งๆที่อาเซียนได้รับการจับตามองว่า เป็นย่านเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดในโลก ความล้มเหลวของรัฐบาลในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องปรับคณะรัฐมนตรีถึง 5 ครั้ง โดยครั้งหลังสุด มีการปรับออกนายพลจากครม.ไปหลายคน ทั้งด้วยเหตุผลว่าผลงานไม่เข้าตาและด้วยเหตุผลว่าๆได้ตอบแทนที่ช่วยเหลืองานรัฐประหารของหัวหน้าคสช.จนลุล่วงไปด้วยดีครบถ้วนแล้ว การนำเพื่อนที่เป็นนายทหารเข้ามาบริหารรัฐบาลทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐราชการโดยสมบูรณ์แบบ การบริหารและการแก้ปัญหาล้วนตั้งกรอบตามระบบราชการ ซึ่งจำกัดตัวเองจนบังเกิดความเสียหายแทบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวินัยการคลัง ที่เชื่อว่า การดำรงสำรองเงินตราไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) มากๆจะช่วยทำให้ฐานะเงินบาทแข็งแกร่ง แต่กลับได้รับผลตรงกันข้าม เมื่อเวียดนามที่ค่าเงินด่องถูกทำให้อ่อนตลอดเวลา ยามใดค่าเงินแข็ง ธนาคารกลังของเวียดนามก็ลดค่าเงิน ทำให้สินค้าเวียดนามมีราคาถูกว่าเพื่อนๆ โดยเฉพาะข้าว ที่แย่งตลาดไทยไปหลายตลาด จนข้าวไทยล้นตลาดภายในประเทศ ราคาตกต่ำจนรัฐบาลถูกโจมตี นี่คือจุดอ่อนของรัฐบาลทหาร แม้การปรับครม.ครั้งหลังสุดจะมีมืออาชีพ ที่เป็นมือเศรษฐกิจ เป็นนักธุรกิจเด่นๆเข้ามาหลายคนก็ตาม ทว่าความบอบช้ำที่ได้รับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคงจะไม่สามารถเยียวยาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ผู้นำรัฐบาลเกิดความรู้สึกว่า ต้องใช้เวลามากกว่าที่ตั้งโรดแม็พเอาไว้ เพื่อพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้น จนลืมไปว่า ที่คสช.เข้ามานั้น มาด้วยเงื่อนไขว่า เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนที่บรรยายเป็นเพลงเปิดรายการนายกรัฐมนตรีคุยกับประชาชนทุกค่ำวันศุกร์ การที่อยู่ยาวจน “เวลาช่วยแก้ปัญหา” ให้เช่นนี้ คงไม่สามารถเรียกคืนศรัทธาจากประชาชนได้เหมือนยุคต้นๆ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความเบื่อหน่ายให้แก่ประชาชน ที่น่ากังวลที่สุดก็คือยิ่งอยู่ยาวออกไป ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากระทบตัวผู้นำรัฐบาล ส่วนหนึ่งเกิดจากความเผลอพลาดของตัวผู้นำ อย่างการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรีในภาคใต้เป็นต้น ภาพของนายกรัฐมนตรีกลายเป็นลบทันที และถูกนำไปขยายผลต่อเนื่องจนยากที่จะแก้ไข และเหมือนผีซ้ำด้ำพลอย กับกรณีพลเอกประวิตร โดนโจมตีเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาหรู แม้จะมีการทำโพลเพื่อหยั่งเสียงคนไทย โดยคำถามพยายามที่จะเจาะจงให้ได้คำตอบที่เป็นคุณแก่นายกฯในหลายๆโพล แต่ก็ไม่ช่วยให้ภาพดีขึ้น อย่างซุเปอร์โพลนำผลสำรวจออกเผยแพร่เมื่อ 12 พ .ย. 60 พบว่าประชากรสำรวจ 97.2% ไม่รังเกียจทหาร ขณะที่วันเดียวกัน ดุสิตโพลเผยแพร่ผลสำรวจในระยะเดียวกันว่า 86.61% เห็นว่าควรจะปรับครม. ส่วนการหยั่งเสียงในลักษณะประชาพิจารณ์ต่อคำถาม 6 ข้อของนายกฯ ทำแล้วก็เก็บเงียบ เชื่อว่าผลสำรวจออกมาไม่สู้ดีนัก มีการสำรวจเชิงจิตวิทยาด้านพฤติกรรมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยเมื่อไม่นานมานี้จากการโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ซึ่งมีเสรีภาพไม่จำกัด พบว่าคนไทยยุคนี้ เป็นคนสมาธิสั้น รัก ชอบ เบื่อ เกิดขึ้นและดับไปในช่วงเวลาสั้นๆ และที่สำคัญที่สุดชอบคิดตามกัน ตกเป็นเหยื่อของกระแสข่าวสารข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์โดยขาดการไตร่ตรองหรือคัดกรองง่ายกว่าคนไทยรุ่นก่อนๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้ก็คือ สังคมไทยกำลังป่วย อารมณ์เบื่อหน่ายสะสมคืออาการสำคัญ