ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล มาต่อกันจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ตลอดอายุการทำงานด้านวิชาการและด้านสื่อสารมวลชนของผมตลอดระยะเวลา 35 ปี นั้นต้องยอมรับได้รับ “สัจจธรรม” ที่สำคัญว่า สังคมไทยหรือแม้แต่สังคมอื่นก็ตาม น่าจะเข้าข่ายลักษณะเดียวกันก็ได้ กล่าวคือ “ใครมือยาวสาวได้สาวเอา” หรือ “สังคมสุนัขล่าเนื้อ” ที่ “ใครอ่อนแอกว่าก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่แข็งแรงกว่า” เข้าทำนอง “อำนาจทางการเมือง : เมื่อใครมีอำนาจก็มักจะไขว่คว้าหาอำนาจและแสวงหาประโยชน์ไปพร้อมกัน” หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ทุกคนหนีไม่พ้นกรงเล็บแห่งทุจริตคดโกง!” เมื่อ “หลีกหนีอำนาจอันยั่วยวนไม่พ้น!” “การปฏิรูป” หรือ “การรัฐประหาร” จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา จนกลายเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่เป็น “วัฎจักรทางการเมือง” ที่ “เกิดกับทุกฝ่าย” ที่มักเกิดจาก “นักการเมือง” มากที่สุด ที่หลงระเริงแก่อำนาจ จนในที่สุดก็ต้อง “ถูกยึด-ถูกล้ม” แล้วก็มี “อำนาจกองทัพ” ที่อาจจะเข้ามายึดและ “แทะเล็มมากบ้างน้อยบ้าง” แต่คงไม่มากเท่านักการเมือง อย่างไรก็ตาม สังคมไทย หรือแม้กระทั่ง “สังคมมนุษย์” นั้นหนีไม่พ้นที่จำต้องมี “การเล่นพรรคเล่นพวก” กันบ้างไม่มากก็น้อย แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบันที่ประประธานาธิบดีทรัมป์ยังตั้งทั้งลูกชายและลูกเขยหรือ “เครือญาติ” เข้ามาช่วยทั้งบริหารมีตำแหน่งที่ปรึกษาในการบริหารประเทศเข้าข่าย “ระบบอุปถัมภ์-ระบบเครือญาติ-ระบบเล่นพรรคเล่นพวก” ซึ่งผิดกับ “หลักการธรรมาภิบาล” ที่ประธานาธิบดีคนก่อนเคยปฏิบัติ และ/หรือ ยึดถือมา ถามว่า นานาอารยะประเทศที่เป็นแบบอย่างของหลักการประชาธิปไตยนั้น ต่างยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด และที่สำคัญต่างยึดมั่นใน “หลักแห่งกฎหมาย” ที่เมื่อใครทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ผิดกับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ที่ประชาชนต่างไม่ค่อยมีระเบียบวินัย หรือไม่มีระเบียบวินัยเลย บวกกับ “ผู้รักษากฎหมาย” ก็ไม่ค่อยปฏิบัติตามกฎหมายหรือ “ละเว้นปฏิบัติตามกฎหมาย” ดังที่เราเห็นบ่อยครั้งในบ้านเมืองเรา โดยเฉพาะขั้นพื้นฐานง่ายๆ ตามท้องถนน ตัวอย่าง แค่ไม่ใส่หมวกกันน๊อคหรือขับขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนกันทีละ 2-3 คน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สนใจเลย! นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น นอกนั้นยังมีอีกหลาหลายตัวอย่างที่มีอีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึง “วัฒนธรรมไทย” ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานนับหลายร้อยปี ดังนั้นการที่จะทำให้ “วัฒนธรรมเน่า!” เหล่านี้หายไปนั้น ต้องยอมรับว่า “ยากมาก!” แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า “ค่อยๆ พัฒนาดีขึ้น” ที่ผู้นำและผู้บริหารค่อยๆ พัฒนา พร้อมทั้งยัง “ความอับอาย” ให้แก่ “ผู้ที่ทำการทิ้งขยะ” ซึ่งเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หรือ “การเข้าถึง” ที่เรามักเห็นการรอเข้าคิวขึ้นรถวินมอเตอร์ไซค์ หรือรอขึ้นรถแท็กซี่ หรือรอคิวขึ้นรถเมล์ ต้องยอมรับว่า “คนไทยพัฒนาขึ้นในการต่อต้านทุจริตคดโกง” แต่การขับขี่มอเตอร์ไซค์ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า “ยังคงเลวร้ายอยู่มาก!” ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยนั้นต้องยอมรับว่า “ง่าย!” ที่ค่อนข้างปล่อยปละละเลย จนอาจเรียกว่า “มักง่าย” เนื่องด้วยมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายมาโดยตลอด เหตุผลสำคัญเพราะไม่เคยลำบากอะไรมากมาย เราคงเคยได้ยินคำว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” กล่าวคือ การที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีแต่น้ำลำคลอง และมักมีแต่นาข้าว เนื่องด้วยเป็นที่ลุ่ม นอกเหนือจากนั้นในนาข้าวก็มีทั้งปลาช่อน ปลาดุก บวกกับบรรดากุ้งหอยปูปลา ที่พี่น้องเกษตรกรสามารถจับได้อย่างง่ายดาย หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “ฟุ่มเฟื่อย-ง่ายดาย” กับการหากินได้อย่างสะดวกสบาย จนชีวิตไม่ต้องดิ้นรนมาก จนคนไทยกลายเป็นคนขี้เกียจไปโดยปริยาย และที่สำคัญเป็นคนที่ “รักสบาย” เพราะ “ชีวิตสบายมาก!” จากชีวิตพื้นฐานเบื้องต้นในอดีตที่เป็นเช่นนั้น และเป็นชีวิตหมู่บ้านจนกลายเป็นชีวิตคล้าย “เครือญาติ” ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน จนกลายเป็น “ระบบเครือญาติ” ที่ “อุปถัมภ์ค้ำจุนกัน” จนกลายเป็น “ระบบอุปถัมภ์” กันไปโดยปริยายและฝังรากลึกมาโดยตลอดในที่สุด จะมีสักกี่ประเทศในโลกนี้ ที่มักเรียกคนที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อนเลยว่า “พี่-ป้า-น้า-อา-ยาย-ลุง-น้อง” กันเสมือนคนไทยที่ “นับญาติ” กันโดยไม่รู้จักกันมาก่อน นั่นคือเหตุผลสำคัญที่คนไทยนับ “ระบบเครือญาติ” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อกัน ถ้าเราสังเกตดีๆ เมื่อชาติบ้านเมืองเดือดร้อน “คนไทยจะร่วมไม้ร่วมมือกันทันที” ที่เรียกว่า “ลงแขก” กล่าวคือ “ร่วมมือกัน” ทันที ไม่มีการแบ่งแยกซึ่งกันและกันเพียงแต่ช่วงระยะ 15-20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ที่คนไทย “นับถือเงินเป็นพระเจ้า” เนื่องด้วย “ปัญหาธุรกิจการเมือง” ที่นำเอา “เงินมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง” ทั้งนี้คนไทยนั้นต่างเคยรักใคร่ฉันท์พี่น้องกันมาโดยตลอด เพียงแต่ “นายทุนการเมือง” ที่เพิ่งแทรกแซงทำให้คนไทยแตกแยกกัน! อย่างไรก็ตาม การจะก้าวข้ามสู่โลกยุคใหม่นั้น ที่ก้าวข้ามความแตกแยกนั้น คนไทยต้องตระหนักถึง “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ที่บรรดาวีรชนชาวไทยในอดีตต่าง “รวมตัวกันรักษาเอกราชชาติไทย” ให้ชนรุ่นหลังได้อยู่กินกันมาด้วยความสงบสุขจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่อาจจะมีปัญหากันบ้าง ตลอดจนมีปัญหากับ “ระบบเครือญาติ-ระบบอุปถัมภ์-ระบบเล่นพรรคเล่นพวก” แต่ถ้าเราไม่มีระบบต่างๆ เหล่านั้น เราอาจจะไม่มีความเป็นปึกแผ่นเช่นนี้ก็เป็นได้ พูดง่ายๆ อะไรที่ไม่ดีเรามองในมุมกลับอาจจะเป็นสิ่งที่ดีของสังคมไทยที่สร้าง “ความเป็นปึกแผ่น” ก็ได้ แต่ทุกสรรพสิ่งล้วนต้องมีขอบเขต แต่อย่าได้นำเอาระบบต่างๆ เหล่านั้นนำมาสร้างความเสื่อมเสียก่อให้เกิด “ระบบฉ้อราษฎร์บังหลวง” และ “เล่นพรรคเล่นพวก” มากจนเกินไป โดยไม่นึกถึง “ระบบคุณธรรม-ระบบจริยธรรม” และ “ระบบศีลธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สังคมบริบทโลกยุคใหม่” ที่ประชาชนตื่นตัวหวงแหนสิทธิมากยิ่งขึ้น เราต้องทั้งอนุรักษ์และรักษา “หลักการธรรมาภิบาล” ให้มากที่สุด นั่นแหละ “ประชาธิปไตยแท้จริงจึงจะเกิด!”