สมบัติ ภู่กาญจน์ ข้อเขียนวันนี้ ผมจะนำเนื้อความ ที่เป็นความเห็นของอาจารย์คึกฤทธิ์ (ซึ่งเขียนไว้ ก่อนที่จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น) มาลงต่อไปให้จบ จบแล้ว เราจะมีเรื่องสนุกๆ ในอดีต มาเม้าท์ให้ฟังกันต่อไปอีก เพื่อเตือนสติคนไทยในวันนี้ ให้มองการเมืองและประชาธิปไตยเมืองไทยให้ครบทุกแง่ทุกด้าน ก่อนที่จะคิดทำอะไรกันต่อไป ในข้อเขียนตอนสุดท้าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปิดท้ายเรื่องไว้ดังนี้......... ความเห็นแตกต่างกันนั้นมีจริงในเมืองไทย และความขัดกันที่ฝรั่งเรียกว่า conflict นั้นก็มี แต่ฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างไม่สามารถจะหาทรัพย์มาสู้ในการแข่งขันได้ คงมีแต่ผู้ที่สนับสนุนด้วยใจเท่านั้น ซึ่ง(คนเหล่านั้น)ก็ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมได้ยากอีก ส่วนการขัดกันที่มีอยู่ ก็มักจะเกิดขึ้นแต่ในทีมกีฬาการเมืองทีมเดียวกัน เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแค่ตัวกัปตันหรือหัวหน้าทีมเป็นครั้งคราวตลอดมา อย่างไรก็ตาม เบลีย์กล่าวไว้ในตอนท้ายว่า ความคิดของคนในชนบทกับคนในเมืองนั้นไม่เหมือนกัน คนในชนบทมีความเห็นในเรื่องความดีกับความชั่วแตกต่างกันกับคนในเมือง เป็นต้นว่า อุดมการในอันที่จะก่อให้เกิดความเสมอภาคหรือสิทธิเสรีภาพนั้น คนในชนบทอาจเห็นว่าไม่สำคัญหรือไม่ประเสริฐเลิศลอยแต่อย่างใด เพราะในหมู่บ้านที่ห่างไกลการคมนาคมนั้น ความเสมอภาคย่อมมีอยู่แล้ว สิทธิและเสรีภาพก็มีอยู่ไม่แพ้คนในเมือง ด้วยเหตุนี้ คนที่ไปประกาศอุดมการนั้นแทนที่จะเป็นคนที่มีอะไรใหม่อาจจะกลายเป็นคนที่จะมารักษาสภาพเดิม ที่ชาวบ้านก็รู้จักมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว ให้คงอยู่ต่อไปเท่านั้นเอง เพราะคนที่อยู่ในสังคมที่มีแต่คนจนเสมอกันหมดนั้น อาจไม่สนใจเลย ถ้าจะมีคนมาบอกว่าจะปรับสภาพคนจนกับคนมีให้ใกล้เคียงกันหรือมิให้มีความแตกต่างกันมาก เพราะคนในสังคมนั้นคุ้นกับความจนที่มีอยู่เสมอกันหมดแล้ว จนเห็นเป็นของจำเจธรรมดา ถึงจะใช้จินตนาการอย่างไรก็มองไม่เห็นภาพสังคมที่ฐานะของคนจะดีขึ้นเสมอกันหมด ใจจริงอาจนึกอยากเปลี่ยนแปลงสังคมของตนให้มีคนร่ำรวยหรือมีเศรษฐีเข้ามาอยู่บ้างเสียด้วยซ้ำ จะได้พึ่งพาเขาได้ในบางเรื่อง ถึงตนเองจะไม่มีฐานะดีขึ้นก็ไม่เป็นไร เรื่องนี้ตัวผมเองได้พบมาด้วยตัวเองในชนบทที่ห่างไกลในสมัยหนึ่ง แต่มาสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารและสื่อมวลชนแพร่หลายขึ้นมาก การคมนาคมก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน คนในชนบทจึงรับเอาความคิดเห็นและอุดมการของคนในเมืองเข้าไว้ได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้อาจจะยังมีที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก แนวความคิดของเบอร์แทรนด์ รัสเซ็ล ของเชิค และของเบลีย์ ที่ผมได้เก็บความเอามาแสดงไว้ติดต่อกันหลายวันนี้ ถ้าจะปรับเข้ากับพุทธศาสนาก็จะต้องกล่าวว่า มนุษย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะต้องการแสวงหาอำนาจให้เหนือกว่าคนอื่น เรียกว่าเข้ามาเพราะมี ‘โลภะ’ หรือความโลภเป็นเครื่องผลักดันอยู่ในใจ ส่วนมนุษย์ที่กระทำกิจกรรมทางการเมืองเพราะความริษยาผู้อื่นตามแนวคิดของเชิคนั้น ก็กระทำเพราะมี ‘โทสะ’เป็นเครื่องผลักดันอยู่ในใจ และผู้ที่เข้ามาเล่นการเมืองเพราะเห็นว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่มีแพ้มีชนะและมีรางวัลให้แก่ผู้ชนะ นั้นก็เล่นเพราะมี ‘โมหะ’ คือความหลงเป็นเครื่องผลักดันอยู่ในใจ โลภะ โทสะ และโมหะ หรือความโลภโกรธหลงนี้ ศาสนาพุทธเรียกว่า‘อกุศลมูล’ ผู้ใดทำกรรมเพราะมีอกุศลมูลอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่างสามอย่างเป็นเหตุ กรรมหรือการกระทำของผู้นั้นเรียกได้ว่าเป็นกรรมชั่ว ซึ่งมีผลในทางชั่ว ด้วยเหตุนี้ การเมืองส่วนใหญ่ที่ยังมีลักษณะเช่นนี้อยู่ในโลก จึงมีแต่ปัญหา และยังเป็นปัญหามากขึ้นทุกวัน เพราะก่อนที่ผลแห่งการกระทำหรือ(ที่ศัพท์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า)วิบาก นั้นจะตกถึงแก่ผู้กระทำ ผู้กระทำนั้นก็มีโอกาสและเวลาที่จะก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นที่มิได้รู้เรื่องรู้ราวด้วยเสียแล้วมากต่อมาก ยิ่งทำหรือยิ่งมีเวลาทำมากขึ้น กรรมชั่วนั้นก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นหนักขึ้นไปอีก และเพิ่มแต่ผลในทางไม่ดีที่จะต้องตกแก่ผู้กระทำนั้นให้มากตามยิ่งขึ้นไป สังคมได้พยายามหาทางกำหนดขอบเขตและวางกติกา เพื่อควบคุมกรรมทางการเมืองนั้น ให้ปราศจากความเสียหาย หรือถ้ามีความเสียหายก็จะพยายามให้น้อยที่สุดต่อคนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า การเมืองนั้นก็ยังมี ‘กติกาที่เปิดเผย’ที่ชวนให้คนเลื่อมใสยอมรับ และมีทั้ง ‘กติกาลับ’ที่ใช้ชั้นเชิงซึ่งนักการเมืองด้วยกันจะรู้กันอยู่ ตรงตามที่นายเบลีย์กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านักการเมืองบางคนที่มีความหลงเห็นการเมืองว่าเป็นกีฬาที่มีแพ้มีชนะ ก็ยิ่งจะลงทุนในทางการเมืองมากขึ้น ไม่แตกต่างกับการลงทุนทางการค้า เป็นเหตุให้ขอบเขตและกติกาที่สังคมกำหนดไว้โดยเปิดเผยก็จะยิ่งถูกล่วงเกินอยู่บ่อยๆ หรือเรื่อยๆไป เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลที่ผู้ตัดสินจะต้องคอยเป่านกหวีดชี้โทษอยู่ตลอดเวลา พระพุทธศาสนาเล็งเห็นถึงความจริงในข้อนี้ จึงได้กำหนดธรรมของผู้ครองเมืองไว้ 10 ข้อ เรียกว่า ‘ทศพิธราชธรรม’ ซึ่งผมเองยังไม่กล้าแสดงไว้ในที่นี้ เพราะยังไม่เคยครองเมือง จึงยังไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจะยากง่ายอย่างไร เขียนมาถึงตอนนี้ ก็จะบอกถึงหนังสืออ้างอิง ซึ่งมีอยู่๓เล่มครับ ผู้สนใจก็ขอได้โปรดหาอ่านเอาเอง 1. Bertrand Russel; Power; A New Social Analysis. (Unwin Books) 2. Helmut Schoeck; Envy; A Theory of Social Behaviour 3. F.G.Bailey, Stratagems and Spoils. A Social Anthropology of Politics (Blackwell:Pavillion Series) ข้อเขียนนี้เริ่มเขียนตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม เรื่อยมาจนถึงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2518 ในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ซึ่งผมเองนั่งทำงานอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แล้ว ในขณะที่ข้อเขียนเหล่านี้ดำเนินอยู่ทุกวัน อาจารย์คึกฤทธิ์หยุดเขียน(และหยุดทำงาน)หนังสือพิมพ์ เพื่อไปทำหน้าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2516 (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯแล้วประเทศไทยได้รับพระราชทานรัฐบาลชุดอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้มาตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญและเร่งจัดให้มีการเลือกตั้ง)หลังเสร็จงานร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ แล้วมาตั้งพรรคการเมืองใหม่เอี่ยมขึ้น สรรหาสมาชิกเข้าพรรคและคัดเลือกส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ การเลือกตั้งมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ผลการเลือกตั้ง พรรคใหม่เอี่ยมของ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกตั้งทั่วประเทศด้วยจำนวนสส.เพียง 18 เสียง(จากจำนวนส.ส.ทั้งประเทศ 269 เสียง) งานเขียนในสยามรัฐ จึงปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518 ท่ามกลางความรู้สึกอย่างไรผู้อ่านก็ต้องเดาเอาเอง มาจนถึงงานชุดนี้(ที่เริ่ม 4 และจบเมื่อ 10 มีนาฯ) ดังกล่าวมา เมืองไทยในยุคนั้น(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น) มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ใครอยากทราบไหมครับ? ถ้าอยาก คอยติดตามสัปดาห์หน้าซีครับ .... แล้วท่านอาจจะรู้สึกว่า เรื่องยุ่งๆวันนี้ ถ้าเทียบกับอดีตแล้ว ทุกวันนี้ แค่เด็ก ๆ !!