เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา คนห้าหมื่นคนร่วมฟรีคอนเสิร์ต ที่กรุงโคเปนเฮเกน เต้นรำกันสนุกสนานฉลองเสรีภาพจากโควิด ที่มีการประกาศยกเลิกทุกมาตรการ ไม่ว่าหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่ “กรีนพาสปอร์ต” ที่ใช้เพื่อเข้าร้านอาหาร คลับ บาร์ และสถานที่ต่างๆ คนเดนมาร์กกลับไปใช้ชีวิต “ตามปกติ” เหมือนก่อนเกิดโรคระบาด นับเป็นประเทศแรกในยุโรป และน่าจะเป็นในโลกก็ว่าได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ประชากรกว่าสามในสี่ได้รับวัคซีนครบแล้ว กลุ่มเสี่ยงได้รับมากกว่าร้อยละ 90 คนอื่นๆ มากกว่าร้อยละ 80 เดนมาร์กมีประชากร 5.8 ล้านคน ข้อมูล 19 กันยายน 2021 ติดเชื้อ 354,393 คน เสียชีวิต 2,625 คน ติดเชื้อใหม่ 325 คน รัฐบาลประกาศว่า “เราควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว” เดนมาร์กเริ่มล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2020 นับได้ 540 วัน ที่สังคมอยู่ภายใต้เงื่อนไขการป้องกันและแก้ปัญหา ซึ่งแพทย์ นักระบาดวิทยาอธิบายว่าสาเหตุน่าจะมีอยู่ดังนี้ หนึ่ง คนเดนมาร์กไว้ใจ (trust) ในระบบสาธารณสุข ฟังคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งเป็นประเพณีมายาวนาน การต่อต้านมาตรการต่างๆ รวมทั้งการปฏิเสธหรือต่อต้านการฉีดวัคซีนจึงมีน้อย และรัฐบาลก็เน้นการรณรงค์ ให้ข้อมูลต่อเนื่อง โดยเฉพาะเน้นที่กลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมากที่สุด สอง หน่วยงานสาธารณสุขมีข้อมูลผู้ที่ได้รับการตรวจ (test) ทุกคน ซึ่งเดนมาร์กมีการตรวจสูงกว่าจำนวนประชากร และเมื่อระดมตรวจถ้วนหน้า มีข้อมูลในระบบดิจิทัล การควบคุมก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก สาม มาตรการต่างๆ ทำกันในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะการตรวจ การติดตาม และการล็อกดาวน์ ไม่ได้ทำระดับประเทศแบบครอบคลุมไปทั่ว ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างเป็นจริง ถามว่า ถ้าฤดูใบ้ไม้ร่วงและฤดูหนาวที่กำลังมาถึง เกิดมีการระบาดครั้งใหม่จะกลับไป “ล็อกดาวน์” อีกไหม แพทย์ตอบว่า ก็คงจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดอีก เพราะพวกเขาจะเน้นการดูแลผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ นับเป็นความเชื่อมั่นในตนเอง ในกลไกทางสังคมที่เดนมาร์กกล้าประกาศ “เสรีภาพจากโควิด” (freedom from Covid) และถือว่า ไวรัสนี้คงไม่จากไปเหมือนไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่คนเดนมาร์กจะอยู่กับมันได้ ผู้คนจะดำเนินชีวิตเป็นปกติ เพราะได้สร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ถ้าร่างกายไม่อ่อนแอเกินไป ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ก็คงไม่มีปัญหา นี่คือประเทศเดนมาร์ก ที่หลายคนอาจมองว่า ที่ทำได้เพราะเป็นประเทศเล็ก ประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน แต่ก็คงไม่ใช่เหตุผล เพราะมีประเทศที่มีประชากรน้อยกว่านี้ เล็กกว่านี้ที่ติดมากกว่านี้ และยังวิกฤติ ไม่ต้องพูดถึงประเทศใหญ่ๆ ที่ยังต้องทำงานหนักกันต่อไป ไม่สามารถเดินตามเดนมาร์กได้ เพราะการฉีดวัคซีน แม้มีล้นเหลือก็ยังมีกลุ่มคนที่ต่อต้าน ไม่ยอมฉีด ยังประท้วงมาตรการ “ล็อกดาวน์” ประท้วง “กรีนพาสปอร์ต” ทุกวัน อย่างไรก็ดี ที่เยอรมนีมีการสรุปบทเรียนและคาดการณ์ว่า โควิด-19 จะ “จบ” เมื่อใด โดยสรุปจากการระบาดสำคัญ 4 ครั้งในรอบร้อยปีที่ผ่านมา คือ ไข้หวัดหมูในปี 2009 ที่คาดว่าติดกันมาก ตาย 600,000 คน แต่ก็อยู่ไม่นาน ก่อนนั้นในปี 1968 มีไข้หวัดฮ่องกง ที่ตายเป็นล้านหรือมากกว้า ก่อนนั้นในช่วง 1950 มีไข้หวัดเอเชียน แต่ก็ตายไม่มาก เพราะเริ่มมีวัคซีนแล้ว ที่ร้ายแรงสุด คือเมื่อปี 1918 เมื่อเกิดไข้หวัดสเปน ที่คนติด 1 ใน 3 ของประชากรโลก คือ 500 ล้านคน ตาย 50 ล้าน ไข้หวัดนั้นระบาดอยู่ 3 ปีก็หยุด ข้อสรุปจากกรณีเหล่านี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเยอรมนี “คาดว่า” โควิด-19 น่าจะอยู่ไม่เกิน 3 ปี แต่ก็เตือนว่า นั่นเป็นข้อสรุปจากไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่โคโรนาไวรัส ซึ่งคาดการณ์ยาก เพราะที่ผ่านมาก็มีการกลายพันธุ์จนทำให้หวั่นเกรงว่า วัคซีนจะเอาไม่อยู่ ต้องรีบเร่งพัฒนาวัคซีนไล่ตามไวรัสตัวนี้ ข้อสรุปของเดนมาร์กน่าจะให้บทเรียนให้ประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย อย่างเรื่องมาตรการต่างๆ เน้นปฏิบัติการใน “ท้องถิ่น” มากที่สุด ไม่ว่าการล็อกดาวน์ การตรวจ การติดตาม ให้บริการการตรวจและการฉีดวัคซีนมากที่สุด ตรวจได้ทุกที่ ฉีดวัคซีนได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต ในโรงเรียน ในสถานที่ต่างๆ และสามารถเลือกชนิดวัคซีนได้ มีความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินการทุกขั้นตอน ถ้าบ้านเรามีเอกภาพความสามัคคีในระดับนโยบาย ในรัฐบาล น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ มีการกระจายอำนาจให้จังหวัดต่างๆ ดูแลตัวเองก็นับเป็นเรื่องดี เพราะจังหวัดมีศักยภาพสูงในการจัดการ มีขอบเขตไม่ใหญ่เกินไป แต่เมื่อไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือให้เขา เครื่องตรวจ ก็ไม่มี วัคซีนก็ไม่มา แต่ละจังหวัดได้แต่รอจากกรุงเทพฯ รอเก้อเรื่อยมา ความพร้อมจึงไม่ใช่จังหวัด ไม่ใช่ประชาชน แต่รัฐบาลไม่พร้อม ประชาชนจึงไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อรัฐบาล ไม่เชื่อกระทรวงสาธารณสุข เพราะนโยบายที่สับสนกลับไปกลับมา เพราะไม่มีความโปร่งใส ธรรมาภิบาล อะไรที่เดนมาร์กมีหมด ทำให้เขาบรรลุเป้าหมายของการควบคุมโควิดได้ในท้ายที่สุด อ่านเรื่องเดนมาร์กแล้วลองย้อนกลับไปดูสถานการณ์บ้านเราตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น ระบาดกี่ครั้ง อย่างไร ตั้งรับแบบไหน ถึงได้ระบาดระเบิดเถิดเทิงเช่นนี้ ยังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานไหนที่ “สรุปบทเรียน” ประเมินสถานการณ์มาตั้งแต่ต้นอย่างเป็นระบบ เพราะไม่สรุปบทเรียนก็จะทำผิดเรื่องเดียวกันต่อไป หนึ่งในบทเรียนที่ควรทบทวนให้หนัก คือ การทำข้อมูล การสร้างระบบข้อมูลดิจิทัล ที่ทำให้ติดตามและประเมินสถานการณ์ได้ และวันนี้ควรเริ่มจากการประเมินอดีต เพื่อสร่งมาตรการแก้ไขและป้องกันสำหรับอนาคต