แสงไทย เค้าภูไทย โลกกำลังเคาท์ดาวน์สิ้นปี 2017 ไปขึ้นปี 2018 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลไทยลุ้นระทึก ดัชนีคอรัปชั่นไทยจะเลื่อนขึ้นหรือลงจากอันดับที่ 101 ที่จะประกาศในเดือนหน้า ปีที่แล้ว องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้จัดอันดับความโปร่งใสของ175 ประเทศ ประจำปี 2516 โดยถือระยะเวลาสำรวจจนถึงสิ้นปี (มกราคม-ธันวาคม 2516) ปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับอันดับที่ 101 ได้คะแนนความโปร่งใส ( CPI) 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อันดับร่วงจากปี 2515 ที่อยู่ที่อันดับ 76 มีคะแนน CPI 38 คะแนน ปี 2017 หรือ พ.ศ. 2560 บรรยากาศการเมืองระบบพรรคเดียวคือพรรคทหารไม่สู้ดีนัก รัฐบาล โดยเฉพาะแกนนำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี มีภาพไม่สดใส มีอุบัติเหตุบนเส้นทางของผู้นำรัฐบาลโดยตลอด ทั้งตัวเองเป็นผู้สร้างขึ้น และทั้งคนรอบข้างนำมาให้ ล่าสุดก็ เรื่องฉาวนาฬิกาและแหวนเพชรประดับข้อมือประดับนิ้วของรองนายกฯพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ที่ตัดกันไม่ได้ขายกันไม่ขาดไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่มีประวิตรในวันนั้น ก็ไมมีประยุทธ์ในวันนี้ จึงถ้าจะตาย ก็ต้องตายด้วยกัน บนเส้นทางที่จะไปข้างหน้า และวกกลับมาสู่ทำเนียบรัฐบาลใหม่ จึงอาจจะเกิดวิบากกรรมขึ้นมาอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า จากบุคลผู้นี้ เพราะบรรดาฝ่ายตรงข้ามและสื่อมวลชน รู้แล้วว่า จุดอ่อนของพลเอกประยุทธ์อยู่ที่นี่ เช่นเดียวกับรู้ว่าจุดอ่อนของรัฐบาลอยู่ที่การบริหารงานด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มอีกจุด คือการคอรัปชั่นในสายงานที่แจกตำแหน่งสมนาคุณแก่บรรดาเพื่อนร่วมขบวนการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 3 ปีก่อน รัฐวิสาหกิจ 16 แห่งที่มีบรรดานายพลไปนั่ง กำลังถูกจับตามองจากคนไทยที่ติดตามก้าวย่างของคสช.มาตั้งแต่ต้น กลายเป็นว่า ผู้นำรัฐบาลที่ประกาศต่อต้านคอรัปชั่นทุกวิถีทาง เสมือนหนึ่งนักล่า กลับตกเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง ด้วยข่าวที่ไม่สู้ดีนักตลอดปีที่ผ่ามา ทำให้ต้องระทึกใจว่าปีนี้ดัชนีความโปร่งใสหรือคะแนนและอันดับ CPI ที่บ่งชี้ถึงขีดการคอรัปชั่น ของไทยที่จะประกาศในราว 30 วันข้างหน้า จะอยู่ที่เท่าไหร่ นอกจาก CPI แล้ว ยังมีหน่วยงานและองค์กรจับตาดูพฤติกรรมคอรัปชั่นของประเทศทั่วโลกอีกหลายองค์กรและหน่วยงาน ที่น่าจับตาขณะนี้ก็คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( international Monetary Fund-IMF) ได้โดดลงมาเล่นด้วยอย่างเงียบๆ เพราะกองทุนแห่งนี้ เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ประเทศที่จะมีสิทธิกู้เงินไอเอ็มเอฟได้ จะต้องเป็นสมาชิก มีเงินฝากหรือสำรองเงินตราและสำรองทองคำตามกฎระเบียบ มากน้อยตามกำลังเงินหรือความสามารถในการดำรงเงินฝาก ไทยมีสำรองเงินตราในไอเอ็มเอฟมากเป็นอันดับต้นๆของโลก เพราะยังต้องการกู้เงินมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานอีกมาก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11นั้น รัฐบาลจะต้องลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท แต่ช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดมีความรู้สึกกันในหมู่แนวร่วมต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ว่า หากปล่อยให้โครงการนี้เกิดขึ้น ระบอบทักษิณจะแข็งแกร่งจนยากแก่การจะสยบ รัฐสภาที่มีเสียง 40 สว.สรรหาเป็นแนวต้านทักษิณ จึงรวมหัวกันคว่ำร่าง พ.ร.บ.แผนพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 มูลค่า2.2 ล้านล้านบาทเสีย ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้ไทยเป็นหนี้สาธารณะมากเกินไป เมื่อรัฐบาลคสช.เข้ามาหลังรัฐประหาร 2557 แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ก็ถูกคว่ำอีกด้วยเหตุผลเดิม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรียกสั้นๆติดปากว่า “สภาพัฒน์ฯ” ตั้งขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองประเทศ โดยระดมมันสมองบรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำทั้งหลายของประเทศมาร่วมกันวางแผนพัฒนาประเทศระยะยาว คล้ายกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งแต่ละช่วงแผนเป็นแผนละ 5 ปี ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดที่ลดความเกลียดชังระบบเผด็จการทหารของจอมเผด็จการที่ได้ฉายาว่า “จอมพลผ้าขะม้าแดง” ลงไปได้มาก มันสมองทางเศรษฐกิจของไทยที่เข้าไปเสริม ไปแทนคนที่เกษียณอายุในสภาพัฒน์ฯกันไม่ขาดสายผลิตแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกมาจนถึงแผนที่ 11 ตอนนี้ แม้จะยังไม่สายเกินไปที่จะนำแผนฯฉบับนี้มาใช้ใหม่ แต่เศรษฐกิจไทยที่ควรจะได้รับผลพวงจากการลงทุนภาครัฐ 2.2 ล้านล้านบาทก็บอบช้ำไปมาก คงจะยากแก่การฟื้นฟูในเร็ววัน ผลผลิตมวลรวมประชาติหรือจีดีพีของไทยนั้น พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศสูงที่สุดในบรรดารายได้หลักทั้งหมด เมื่อรัฐบาลลงทุนน้อย ภาคเอกชนก็ไม่กล้าลงทุนในภาวะที่มีรัฐบาลแบบนี้ การบริโภคภายในประเทศก็ย่อมจะต่ำ เพราะการลงทุนน้อย การจ้างงานก็น้อยตาม คนไทยจะเอาเงินที่ไหนมาจับจ่ายใช้สอย ? ต่อให้รัฐจัดงานช้อปช่วยชาติเดือนละหน ก็ไม่มีคนไทยมีปัญญามาช่วยชาติได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล การหันกลับมารื้อฟื้นแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 กว่าจะเห็นผล ก็คงต้องเลยครึ่งหลังของปีหน้า ส่วนแหล่งเงินกู้นั้น ก้อนใหญ่ๆก็คงไม่หนีไอเอ็มเอฟกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)ไม่พ้น การที่ไอเอ็มเอฟเพิ่มงานสำรวจพฤติกรรมคอรัปชันของชาติสมาชิกขึ้นมาอีกด้าน จึงเป็นการสมเหตุสมผล เพราะให้กู้ไปแล้ว เอาเงินกู้ไปซื้อไปใช้ในทางที่ไม่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นไปซื้ออาวุธ ไปสร้างวัดวาอาราม สร้างโรงงานที่ใช้ถ่านหิน สร้างมลภาวะแก่โลก ไปปรนเปรอข้าราชการฯลฯ ถือเป็นการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ องค์การสหประชาชาติจัดการประชุมด้านเศรษฐกิจโลกWorld Economic Forum เมื่อเร็วๆนี้มีการนำเรื่องคอรัปชั่นของรัฐบาลต่างๆมาพูดกัน พบว่ามีการคอรัปชั่นของภาครัฐมูลค่ารวมกันถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สรอ.หรือราว 59.8 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนั้น สามารถนำไปใช้ในการกำจัดความหิวโหยของชาวโลกมูลค่า 116 พันล้านดอลลาร์ ขจัดมาลาเรีย มูลค่า 8.5 พันล้าน มีผลครอบคลุมไปถึงกว่า 7 ปี สร้างสะพานและเศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐานได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ สร้างบริการการศึกษาพื้นฐานให้แก่เด็กทั่วโลกมูลค่า 26 พันล้านดอลลาร์ เงินคอรัปชั่นภาครัฐจำนวนนี้ คงจะมีของไทยไปมีส่วนร่วมเติมตัวเลขบ้าง ไม่มากก็น้อย คงจะเถียงเขาไม่ได้ เพราะมีการสำรวจและจัดอันดับกันไว้เมื่อกลางปีนี้ พบว่าไทยมีการกินสินบนมากเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย การกินสินบนก็คือการคอรัปชั่นภาครัฐ โดยข้าราชการและคนของรัฐทั้งประเทศ ----------------------------