เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit วันที่ 26 กันยายน 2021 อังเกลา แมร์เคิล ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำเยอรมนี หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมา 16 ปี เธอได้รับเลือกในตำแหน่งนี้ถึง 4 สมัย ตอนแรกไม่ค่อยมีคนรู้จัก เธอขึ้นสู่ “อำนาจ” อย่างเงียบๆ แต่อย่างมีศักดิ์ศรี มีเกียรติในระบอบประชาธิปไตย วันนี้เธอก้าวลงจาก “อำนาจ” อย่างสง่างาม ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังจะคิดถึงและชื่นชมยกย่อง โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่เรียกเธออย่างสนิทสนมว่า “คุณแม่” (Mutti) เมื่อปี 2015 นางอังเกลา แมร์เคิล “เปิดประตู” เยอรมนีให้ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จากซีเรียเกือบ 1 ล้านคน พวกเขาอพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองที่ลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ เป็นนโยบาย (“เราทำได้” Wir schaffen das) ที่เธอได้ใจผู้ลี้ภัย แต่เสียหายทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคของเธอในเวลาต่อมา เธอกำลังจะถอดใจไม่ลงเลือกตั้งครั้งที่ 4 ในปี 2017 แต่นายบารัก โอบามา ได้บินไปพบเธอที่เบอร์ลินเพื่อขอให้ลงสมัครอีกครั้ง เพราะสหรัฐฯมีผู้นำชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งได้รับเลือกเมื่อปลายปี 2016 นายโอบามาคงไปขอร้องว่า โลกต้องการผู้นำมาคานอำนาจนายทรัมป์ที่กำลังนำ “อเมริกามาก่อน” ไปสุดขั้ว มีคนบอกว่าเธอเป็นผู้นำ “โลก” แล้ว เพราะนายทรัมป์ประกาศตัวเป็นผู้นำ “อเมริกา” เหมือนกับ “ไม่เอาใครแล้ว” แม้แต่ “ข้อตกลงโลกร้อนที่ปารีส” เขายังถอนตัว เขาบอกว่าเลือก “พิตส์เบิร์ก” ก่อน “ปารีส” เศรษฐกิจก่อนภูมิอากาศ นางแมร์เคิลปฏิเสธอย่างถ่อมตนว่า โลกกว้างใหญ่ขนาดนี้จะมีผู้นำคนเดียวได้อย่างไร ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เธอเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมมาก่อน และได้สืบทอดเจตนารมณ์เดิมตลอดมา แต่แบบ “นักการเมือง” ที่แม้จะยึดทางสายกลาง แต่แบบ “ประนีประนอม” ได้เป็นแกนนำในการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกหลายครั้ง โดยเฉพาะที่ปารีส เธอเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรการเพื่อการลดมลภาวะ เวลาที่จะเลิกการใช้ถ่านหิน อุตสาหกรรมถ่านหิน และชดเชยบริษัทและแรงงานทั้งหมด แต่ก็ยังปล่อยให้มีการขุดและส่งออกลิกไนต์ไปอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งประนีประนอมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่เมื่อเกิดแผนดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น โรงงานพลังงานปรมาณูที่ฟุกุชิมะได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก เธอจึงประกาศยกเลิกพลังงานปรมาณู ตั้งเป้าให้จบทั้งหมดภายในปี 2022 กระนั้น เธอก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้ไป “ให้สุด” กับนโยบายลดโลกร้อน เพราะยังปล่อยให้ผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษ เธอพยายาม “ประนีประนอม” กับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีมูลค่าถึงร้อยละ 18 ของจีดีพีเยอรมนี และเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการส่งออกที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของจีดีพี อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ “รับไม่ได้” (scandal) ของรถโฟล์กสวาเกน ที่โกหกเรื่องการปล่อยมลพิษ ทำให้ถูกฟ้องถูกปรับและต้องชดใช้หลายแสนล้านบาท นางแมร์เคิลก็ “ไม่ยอม” ผ่อนปรนกับอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเดิมอีกต่อไป และออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า เติมเงินให้คนซื้อรถไฟฟ้าคันละไม่น้อย การที่นางแมร์เคิล “ประนีประนอมทางการเมือง” เพราะเธอให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ พยายามหาจุดร่วมและจุดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง เรื่องที่เห็นได้ชัดเจนในความสัมพันธ์กับจีน เพราะเยอรมนีไปลงทุนที่จีนอย่างมากมาย ทั้งรถยนต์และอื่นๆ ด้วยเหตุดังนี้ นายทรัมป์จึงนับนางแมร์เคิลเป็น “ศัตรู” เพราะเพื่อนของศัตรูก็เป็นศัตรูตนด้วย และถือโอกาส “ด่า” เธอในทุกโอกาสที่ทำได้ เพราะดูเหมือนเขาทำตรงกันข้ามกับเธอแทบทุกเรื่อง เรื่องโลกร้อน เรื่องจีน และเรื่องผู้อพยพ โดยเฉพาะเรื่องผู้อพยพ นายทรัมป์บอกว่า เศรษฐกิจสังคมเยอรมนีจะพังเพราะนโยบายผู้อพยพของนางแมร์เคิล แต่ประวัติศาสตร์ยืนยันว่า นโยบายของนางแมร์เคิลนั้น “ดีกว่า” ของนายทรัมป์ ไม่ใช่ความเกลียดชัง การเหยียดผิว ไม่ยืดหยุ่นยอมรับผู้อพยพที่ทุกคนร่วมกันก่อและต้องรับผิดชอบ แต่เป็นเมตตาธรรมที่ค้ำจุนโลก เหมือนที่เธอพูดที่ฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2019 ที่เธอได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักด์ เธอได้รับการตอบรับ เสียงปรบเมือเป็นระยะๆ อย่างกึกก้อง เธอ “ตอบโต้” นายทรัมป์อย่างสุภาพ แต่เจ็บแสบ ไม่เอ่ยชื่อ แต่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นใคร เด็กน้อย “แมร์เคิล” เกิดที่เมืองฮัมบูร์ก ในเยอรมันตะวันตกเมื่อ 17 กรกฎาคม 1954 พ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่า “Angela” (อัจฉรา - เทวดา) พ่อเป็นศาสนาจารย์โปรเตสแตนต์ ที่ย้ายไปประจำโบสถ์ที่เยอรมันตะวันออกเมื่อลูกสาวอายุได้ไม่กี่เดือน เธอได้รับการศึกษาและร่วมขบวนการเยาวชนคอมมิวนิสต์ ได้รางวัลดีเด่นด้านคณิตศาสตร์และภาษารัสเซียที่เธอพูดได้อย่างคล่องแคล่ว เธอเป็นนักฟิสิกส์ จบปริญญาเอกทางเคมีควันตัม เป็นอาจารย์และนักวิจัย จนเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังลงเมื่อปี 1989 มีการรวมชาติ เธอได้เข้าสู่วงการการเมืองในพรรคคริสเตียนเดโมเครต ภายใต้การนำของนายเฮลมุต โคห์ล นายกรัฐมนตรี ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2005 อังเกลา แมร์เคิล ไม่ใช่หญิงเหล็กแบบมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เธออ่อนนอกแข็งใน ไหว้สวยเหมือนคนไทย เธอได้ “ปฏิวัติ” บทบาทสตรีในเยอรมนี เป็นนายกฯ หญิงคนแรก ตั้งสตรีเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และอีกหลายตำแหน่ง ผลักดันให้อูร์ซุลา ฟอน เดอ ไลน์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีเป็นประธานอียู อังเกล แมร์เคิล ฝ่าวิกฤติในยุโรปสำคัญหลายครั้ง วิกฤติเศรษฐกิจปี 2009 ผู้อพยพในปี 2015 การเมืองเรื่องอำนาจ ที่ฝ่ายขวาจัดในอียู นาซีใหม่ในเยอรมนีกำลังเพิ่มมากขึ้น และวิกฤติโควิด-19 ที่เยอรมนีทำได้ดี เธอเพิ่งลงจากตำแหน่ง อยู่ร่วมสมัยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คน ฝรั่งเศส 4 อิตาลี 8 สหราชอาณาจักร 4 คน เธอเป็นผู้นำที่มี “พลังพิเศษ” (charisma) “นักจัดการวิกฤติ” (crisis manager) ที่เชื่อและทำเพื่อให้ “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” The world will miss you, Angela !