ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล จากการที่ได้ร่ายยาวมาโดยตลอดถึง “แนวคิด” เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ทั้งสะสมและสั่งสมมาเกือบตลอดชีวิต ต้องเรียนตามตรงว่า “ความพยายามในการปฏิรูป” มีมาโดยตลอด แต่ก็ค่อยๆ คืบคลานเท่านั้น มิได้แบบชนิด “พลิกฝ่ามือ!” และบางครั้งบางช่วง “ถอยหลัง”ด้วยซ้ำ ด้วยฝีมือของ “นักการเมือง”ที่มุ่งหวังกอบโกยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อแก่ครอบครัวและสมัครพรรคพวก ทั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมนักการเมืองทั้งหมด “นักการเมืองดี” ก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเห็นแก่ตัว! เกือบตลอดชีวิตของผมนั้น ต้องยอมรับความจริงว่า “การมุ่งสอนหนังสือ” และ “พยายามสร้างคนให้เป็นคนดี” หรือ “สร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ด้วยการมุ่งมองใน “เชิงวิสัยทัศน์” แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ได้บ้างไม่มากก็น้อย” เพราะเด็กและเยาวชนไม่ว่ายุคใด ไม่ค่อยสนใจอะไรเท่าใดนัก มัวแต่เข้าห้องนั่งเรียนไปวันๆ เท่านั้น โดยเพียงแต่เอา “ปริญญาบัตร” เท่านั้น ถามว่า “ต่อว่าได้มั้ย” ก็คงว่า “ไม่ได้” เนื่องด้วย “สภาพแวดล้อมของสังคมและสภาพแวดล้อมเด็กยังไร้เดียงสามาก!” ที่ยังคงไม่ได้คิดอะไร แต่แน่นอนยังคงมีเด็กที่สนใจเรียนอย่างมากและได้คะแนนดีจนได้รับ “เกียรตินิยม” ทั้งอันดับ 1 และ 2 ผสมผสานกันไป! “การปฏิรูป” นั้นต้องเริ่มจริงๆ จังๆ อย่างต่อเนื่อง และต้องเริ่มจาก “ผู้นำ” ที่มี “ความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง!” โดยยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” โดยเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แน่นอนการทำความดีนั้นมิใช่ทำเพียง 5-10 ปีเท่านั้น แต่ต้องทำไม่ต่ำกว่า 20 ปีขึ้นไป เข้าทำนองคล้าย “พระ” อย่างแท้จริง ที่ต้องทั้ง “ปริยัติธรรม-ปฏิบัติธรรม” อย่างแท้จริง อย่างน่านับถือ โดยต้องไม่ยึดถืออะไรใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ทุจริตคดโกง และต้องไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “หายากมาก!” กับบุคคลเช่นนี้ แม้กระทั่งทุกวันนี้ “ยังแทบหาไม่ได้เลย” เนื่องด้วยสังคมไทยเป็น “สังคมอุปถัมภ์-สังคมเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่” ผมเองยังเป็นคนเช่นนั้นเลยครับ “แต่ต้องมีขอบเขต” และ “ยึดมั่นในความพอดีและต้องมีความจำกัดในระบบคุณธรรม-ระบบจริยธรรม-ระบบศีลธรรม” “ในโลกใบนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอกครับ” นั่นคือความจริง ทำนอง “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ”เจ้า ยังตรัสเลยว่า “ทุกสรรพสิ่งล้วนอนิจจัง” ไม่มีอะไรจิรังยั่งยืน เพราะฉะนั้น นั่นคือ “สัจจธรรมของโลก” ที่บางครั้งก็ต้องหันหน้าหรือปิดตาไปบ้าง ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ในระดับความขัดแย้งที่สามารถแก้ไขความขัดแย้งกันเองได้ แต่ถ้าความขัดแย้งไม่สามารถบริหารกันเองได้ ผู้บริหารหรือนายจ้างจะต้องลงมาดูแลบริหารจัดการแก้ไขกันเอง ด้วยต้องอาจมีความรู้มากบ้างน้อยบ้างในการบริหารจัดการ ด้วยขั้นตอนที่ดีที่สุดคือ “การไกล่เกลี่ย-ประนีประนอม” และแน่นอนครับต้อง “ใจเย็นที่สุด!” พูดง่ายๆ คือ พยายามให้ทุกฝ่ายได้รับการปลอบใจ และไม่สำคัญเท่ากับว่า ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์หรือชนะมากที่สุด โดยผู้บริหารต้องอาศัย “จิตวิทยา” อย่างไรก็ตาม หมู่มวลนั้นไม่สามารถ “ยุติความขัดแย้งได้” เนื่องด้วยมนุษย์นั้นมีหลากหลายแง่มุม ที่ต้องการเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ยกเว้นพระเท่านั้น หรือแม้กระทั่งพระบางรูปยังไม่สามารถกราบไหว้ได้เลย! ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มานั้น ต้องยอมรับว่า “ผิดหวังบ้าง-สมหวังบ้าง” ที่บ่อยครั้งไม่ค่อยสมหวังเท่าไหร่ แต่ที่สมหวังมากที่สุดคือ “การสอนหนังสือ” ที่สามารถผลิตบุคลากรให้เขามีความรู้ความสามารถถ่ายทอดความรู้ไปพัฒนาสืบทอดต่อไปได้ แต่อาจจะไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์หรอกครับ อย่างน้อยเพียง 90 เปอร์เซ็นต์ก็พอใจแล้ว แต่ “แนวคิดการปฏิรูปสังคมชาติบ้านเมือง” นั้น ก็ต้องยอมรับว่า อาจช่วยขับเคลื่อนได้บ้างไม่มากก็น้อย ยังโชคดีที่ได้ทำรายการทั้งวิทยุและโทรทัศน์มายาวนาน 25 ปี ที่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งก็มีคนทั้งฟังทั้งชมกันถ้วนทั่ว อย่างน้อยที่สุดยังมีผู้ชมผู้ฟังนำไปปฏิบัติสอนลูกสอนหลานสอนผู้คนทั่วไปได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย เพียงแค่นี้ผมก็ได้รับใช้ชาติบ้านเมืองแล้ว ผู้ที่มีพระคุณและคุณูปการแก่ผมนั้น หนีไม่พ้นคุณพ่อคุณแม่และเพื่อนรุ่นพี่หนึ่งสองสามคน คือ ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ที่รักใคร่กันมายาวนานตั้งแต่ผมอายุ 30 ต้นๆ ที่อบรมสั่งสอนผมในลักษณะพี่สอนน้องแบบตรงไปตรงมา และจะสนิทกันมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า “อาจารย์ลิขิตปากจัดมาก!” คนที่สองคือ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่คอยสั่งสอนและดุเช่นเดียวกัน โดยคบกันมาตั้งแต่ผมอายุตั้งแต่ 26-27 ปี ตั้งแต่เรียนหนังสือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และตามด้วยเพื่อนรักอีกหนึ่งท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม ที่รักใครสนิทสนมกันตั้งแต่ผมอายุได้ประมาณ 34-35 ปี โดยรู้จักกันตั้งแต่พ่อแม่ผม คุณแม่อาจารย์วิษณุต่อมาผมเรียกว่า “ลุงณุ” จนครอบครัวสนิทสนมกันอย่างดี ไปไหนมาไหนด้วยกัน โดยเฉพาะท่องเที่ยวต่างประเทศ จนคุณพ่อคุณแม่ผมไว้วางใจลุงณุอย่างมาก จนบอกว่าถ้าผมมีปัญหาอะไรไม่ต้องปรึกษาพ่อแม่ให้ปรึกษาลุงณุคนเดียว เพราะท่านฉลาดกว่าพ่อแม่มาก ซึ่งทุกวันนี้ลุงณุยังปฏิบัติเช่นนั้นตลอดมา ผมจึงตามติดสนิทแนบลุงณุอยู่ไหนไชยาอยู่นั่นตลอดเวลา จนเสมือน “เหาฉลาม” ก็แล้วกันและรักไว้ใจลุงณุมาก! กลับมากล่าวถึง การปฏิรูปประเทศชาตินั้น จริงๆ แล้วความพยายามปฏิรูปเพียรพยายามกันมาโดยตลอด แต่ก็ “ล้มลุกคลุกคลาน” ดีบ้างใช้ไม่ได้บ้างขึ้นอยู่กับ “กลุ่มและคณะของผู้บริหารประเทศ” จะมีเพียง “คณะทหารกองทัพบางคณะ” เท่านั้นที่ปฏิรูปจริงๆ แต่พอเปลี่ยนมาสู่กลุ่มนักการเมือง ยิ่งเป็น “กลุ่มนายทุนการเมือง” และเลวร้ายที่สุดที่ “กลุ่มนักธุรกิจการเมือง” ยิ่งทำให้ “การปฏิรูปประเทศชาติล้มเหลว” ด้วย “การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง” กัน “นับหลายหมื่นนับแสนล้านบาท” ที่ต้องบอกว่า “ปฏิรูปไปเท่าไหร่ก็ล้มเหลวทุกครั้งไป” เนื่องด้วย “ความละโมบ” ของ “นักการเมืองชั้นเลว!” “การพัฒนาการศึกษา-การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ให้ “รู้จักและหวงแหนสิทธิเสรีภาพ” ของตนเองจะเป็นปัจจัยหลักโดยเฉพาะ “หลักธรรมาภิบาล” ที่จะเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ของคนในชาติ ซึ่งต้องพยายามสร้างและฝังรากลึกที่ต้องอดทนที่ค่อยๆอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจด้วยการให้ข้อมูลและสร้างความรูใหม่ว่า “โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก” พร้อมทั้ง “ขนบธรรมเนียมที่ดี” ที่ต้องปลูกฝังกันและเรียน “ประวัติศาสตร์ไทย-ประวัติศาสตร์โลก” เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะสร้างอนาคตให้แก่ “กฎเกณฑ์ระเบียบใหม่ได้!”