ชัยวัฒน์ สุรวิชัย • การที่มนุษย์เรา เกิดมาในโลกใบนี้ ควรจะเข้าใจเรื่องของ “ ชีวิตและความตาย” เพื่อที่จะได้รู้ถึง คุณค่าและความหมายของ การมีชีวิต และความตาย ก่อนที่จะคิดทำอะไร ??? • มาดู หลักคิดทางศาสนาต่างๆ ชีวิตและความตาย • หนึ่ง . ในทัศนะของพุทธศาสนา ( ชาย โพธิสิตา ) 1. “ชีวิต” เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยอื่นมาประกอบกันเข้า ไม่มีตัวตนที่เป็นอิสระ ดำเนินไปในลักษณะของกระแสการเปลี่ยนแปลง อันมีการเกิดดับสลับกันไปเป็นลักษณะสำคัญ ด้วยสภาพที่อิงอาศัยปัจจัยอื่น และด้วยลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กฎธรรมชาติของชีวิต จึงเป็นกฎแห่งความไม่มีตัวตน ไม่เที่ยงแท้ และเป็นทุกข์ 2. เราจะเข้าใจชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนาได้ชัดขึ้น ถ้าเริ่มต้นจากเรื่องของ อิทัปปัจจยตา (ปฏิจจสมุปบาท) และ ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา คือ กฎแห่งการเกิดและการดับของสิ่งทั้งหลายที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด ชีวิตจึงมีได้ เพราะเหตุปัจจัยดับไป ชีวิตจึงดับ (ตาย) เหตุปัจจัยที่ใกล้ชิดของชีวิตก็คือ เรื่องของ ขันธ์ ๕ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้แก่เรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่า “ กายกับจิต “ @ ส่วนประกอบเหล่านี้เอง แต่ละอย่างก็มีเหตุปัจจัยอันเป็นที่มาของมันอีกทีหนึ่ง ชีวิตเป็นกระบวนการที่ส่วนต่างๆ มาสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน ถ้าส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนที่มาประกอบกันเข้านั้นหายไป สิ่งที่อิงอาศัยส่วนเหล่านั้นเป็นอยู่ ก็หายไปด้วย (ในภาษาทางพุทธศาสนาคือ “ดับไป”) ชีวิตและความตายก็เป็นเช่นนั้น 3. เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น? 3.1 ธรรมชาติและกฎธรรมชาติของชีวิตที่กล่าวมานี้ ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้ เช่น ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วไม่แก่และไม่ตาย เป็นต้น ดังนั้น ทางที่จะไม่ให้เป็นทุกข์กับเรื่องของความตายมากเกินไปก็คือ ต้อง “เข้าใจ” มีความหมายที่ลึกซึ้ง ทำความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตให้ถูกต้อง ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร (สัมมาทิฏฐิ) ไปจนถึงการละตัณหา (ความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง) และอุปาทาน (การยึดติดในตัวตนและในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาทั้งหลาย) ทำได้เช่นนี้ ชีวิตจะเป็นทุกข์น้อยลง “ก็ทุกข์น้อยเท่านั้น แม้ความตายจริงๆ จะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ มองความตายว่า “มันเป็นเช่นนั้น” (ตถตา) เท่านั้น 3.2 อิทัปปัจจยตา และ ไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎสากลแห่งชีวิตและธรรมชาตินั้น สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงชีวิตนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นได้ในทุกทาง แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพของชีวิตและ ความมีอายุยืน (ยืดเวลาของชีวิตให้ยาวออกไป) 3.2.1 อิทัปปัจจยตา นั้นคือ กฎแห่งการอิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยต่างๆ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ฯลฯ เราเอาข้อนี้มาเป็นหลักในการทำงานเพื่อบรรลุจุดหมายว่า จะต้องสร้างเหตุปัจจัยอะไร จึงจะนำไปสู่การมีชีวิตที่มีคุณภาพ และความมีชีวิตยืนยาวของประชาชนทั่วไปได้ (ต้องทำสิ่งนี้ให้มี สิ่งนี้จึงจะมีได้) 3.2.2 หลักแห่งไตรลักษณ์ ที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ 2 ทางเสมอ คือ อาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือเสื่อมลง ดังนั้น ถ้าจะใช้หลักนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็ต้องมุ่งสร้างเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พูดแบบ อิทัปปัจจยตา ก็คือ ต้องทำสิ่งนี้ (เหตุปัจจัยอันจะนำไปสู่ความเจริญ) แล้วสิ่งนี้ (ความเจริญ) จึงจะมี โดยนัยนี้ กฎแห่งไตรลักษณ์ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เรารอให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นฝ่ายกระทำต่อเราแต่ฝ่ายเดียว นั่นคือ ไม่ยอมจำนนต่อความเปลี่ยนแปลง 3.3 ความจริง การที่สิ่งทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เรา สามารถพลิกสิ่งที่ไม่ดีให้กลับดีได้ ประเด็นหลักอยู่ที่ต้องสร้างปัจจัยและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีให้ได้ การมองให้ทะลุว่า ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง คือ มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดับไปเป็นธรรมดานั้น ทำให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ เราจะได้เตือนตนให้เร่งทำสิ่งที่ดีที่ควรทำ ไม่ผัดผ่อนหรืออ้างเหตุว่ายังมีเวลาในชีวิตอีกมาก ความตายยังอยู่อีกไกล ฯลฯ แล้วไม่ลงมือทำกิจที่ควรทำ คือ การมีท่าทีที่ถูกต้องในเรื่องชีวิตและความตายโดยนัยที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้เราพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ • สอง. ทัศนะของคริสเตียนเกี่ยวกับความตาย เชื่อมั่นในพระเยซูคริสต์ผู้สถิตอยู่ในใจของเขา ซึ่ง ได้ให้การเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับความตาย และได้มีประสบการณ์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย หลังจากพระเยซูถูกตรึงตายบนไม้กางเขน วันที่3 พระองค์ได้ทรงฟื้นขึ้นจากความตาย และมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ ไม่กลัวกับความตายที่อยู่เบื้องหน้าของเขา นั่นเป็นเพราะเขารู้ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความตาย และ เขาก็พร้อมที่จะเผชิญกับมันด้วยความมั่นใจ ในความคิดของคริสเตียนนั้น เรามองเห็นความตายว่าเป็น... 1. การนอนหลับ พระคัมภีร์จึงบอกว่า "การตาย" ของคริสเตียนนั้น เป็น "การนอนหลับ" และ วันหนึ่งเขาก็จะตื่นขึ้น มีใครบ้างที่กลัวการนอนหลับ ดังนั้น พวกเราที่เป็นคริสเตียนไม่กลัวตาย 2. การถึงวาระพัก (สิ้นสุดงานในโลก) วันนี้เราที่เป็นคริสเตียน ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะพระเจ้ามีงานให้เราทำ ถ้าวันใดพระองค์เห็นว่าเราหมดภาระหน้าที่ในโลกนี้แล้ว พระองค์ก็จะทรงรับเรากลับบ้านบนสวรรค์ และจะทรงประทานบำเหน็จรางวัลให้แก่เราตามที่เรากระทำในโลกนี้ ดังนั้น พวกเราที่เป็นคริสเตียนแล้ว จึงไม่กลัว "ความตาย" 3. เป็นการออกจากโลก (ย้ายบ้าน) "ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ระหว่างสองฝ่ายนี้ คือว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะจากไปอยู่กับพระคริสต์ ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก" (ฟิลิปปี 1:23) เราคริสเตียน มองว่าการตายเป็นเหมือนการย้ายบ้าน ย้ายจากดินแดนที่ไม่แน่นอน ไปสู่ดินแดนที่มั่นคง ย้ายจากดินแดนที่สับสนวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ไปสู่สถานที่งดงาม และเต็มไปด้วยสันติสุข ย้ายจากการอยู่ร่วมกับมนุษย์ในโลกนี้ ไปสู่การอยู่ร่วมกับพระเจ้าในดินแดนสวรรค์ ( อ. นิกร สิทธิจริยาภรณ์ ) • สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน : ชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า บทเพลงสรรเสริญ 36:9; พระองค์เป็นบ่อเกิดของชีวิต+ แสงของพระองค์ทำให้พวกเรารู้จักความสว่างวิวรณ์ 4:11: “พระยะโฮวา* พระเจ้าของเรา พระองค์สมควรจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ+ ความนับถือ+ และฤทธิ์อำนาจ+ เพราะพระองค์สร้างทุกสิ่ง+ ทุกสิ่งมีอยู่และถูกสร้างขึ้นตามความต้องการของพระองค์” • สาม. ความตายในทัศนะอิสลาม อัลลอฮฺ ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า “แต่ละชีวิตนั้นจะได้ลิ้มรสแห่งความตาย และแท้จริง พวกเจ้าจะได้รับรางวัลของพวกเจ้า โดยครบถ้วนนั้น คืออาคิเราะฮฺ (วันปรโลก) แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากไฟนรก และ ถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอนเขาก็ชนะแล้ว และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้น มิใช่อะไร นอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งการหลอกลวงเท่านั้น” (อาลิอิมรอน 3: 185) อิสลามกล่าวถึงโลกนี้ว่า เป็นสถานที่พำนักชั่วคราว เป็นสิ่งไม่นิรันดร์ ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ความตายของมนุษย์นั้นเป็นการการเริ่มต้นของชีวิตในโลกหน้า หรือเป็นสะพานไปสู่ชีวิตหลังความตายที่เป็น โลกอันนิรันดร์ ผู้ที่เคร่งครัดและเข้าใจในปรัชญาข้อนี้ จึงไม่หวั่นไหวจิตใจเมื่อเจ็บป่วย และต้องเผชิญกับความตาย เขาจะได้พบพระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งทำให้เกิดและทำให้ตาย พระองค์ตรัสไว้ ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) อัลลอฮฺทรงให้พวกท่านมีชีวิตขึ้นมา และทรงให้พวกท่านตายไป” (อัลญาซียะฮฺ 45: 26) • สี่. ชีวิตและความตาย : จากการศึกษาทำความเข้าใจในหลักศาสนาทั้งมีพระเจ้าและมนุษย์เป็นศาสดา หลักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต และธรรมชาติความเป็นมาของมนุษย์ รวมทั้งช่วงการมีชีวิต และหลังจากการจากไป ของบุพการี ญาติมิตรที่รักเคารพที่ใกล้ชิด พอสรุปได้กว้างๆคือ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่เหนือจากสรรพสัตว์ใดๆ ที่เกิดมาจากการพัฒนามาอย่างยาวนาน และมีเหตุปัจจัย เงื่อนไขวิวัฒนาการ ที่ทั้งเป็นไปโดยบังเอิญและประจวบเหมาะ ในการดำรงชีวิต ทั้งการกิน การทำงาน การอยู่ การนอนและการหายใจ ในสถานที่ต่างๆที่เหมาะสม จึงเกิดมาเป็นมนุษย์ และจะยังมีการพัฒนาต่อไปอีก หลังจากการเกิดจาก“เซลแรก” ที่พัฒนามาจาก “สิ่งไม่มีชีวิตหลายสิ่ง มาผสมรวมกันในเงื่อนไขที่เหมาะสม ทำให้เกิด “ สิ่งมีชีวิตแรก” ที่ต่อมาได้พัฒนามาเป็น “เซลหลายล้านเซล ที่ประกอบมาเป็นโครโมโซมของมนุษย์ “ และ ความตายของมนุษย์ คือ ความเสื่อมและการดับของสังขาร ในรูปแบบธรรมชาติ อุบัติเหตุ โรคภัย ฯลฯ ซึ่ง เมื่อร่างกายดับลง “ เซลและอณูต่างๆ “ ฯลฯ ที่ประกอบเป็นชีวิต ก็จะแยกออกจากกัน กลับไปสู่สภาพเดิม แต่ชีวิตที่จะสืบทอด “ กรรมบุญบาป ดีเลวฯ “ ก็จะเหลืออยู่กับ ทายาทเลือดเนื้อเชื้อไข ที่ได้จากโครโมโซมพ่อแม่ ที่รับสืบทอดพัฒนามาจากบรรพบุรุษ ช่วงของการดูแลอบรบสั่งสอน และการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างฯ การคิดดีทำดี การขยันหมั่นเพียร การสู้ชีวิต ของแต่ละคนแต่ละชนชาติ จึงมีลักษณะตามกรรมที่ได้ก่อไว้ ในทัศนะนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคิดดีทำดี ไปตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดผลต่อตนเองครอบครัวและบ้านเมือง