ทวี สุรฤทธิกุล วิธีการลงโทษนักการเมือง “แย่ๆ” วิธีหนึ่งก็คือ สร้างขบวนการ “ไม่เลือก ไม่เอา” ข้ออ้างอย่างหนึ่งของการทำรัฐประหารก็คือ “ความย่ำแย่” ของนักการเมืองในรัฐสภา โดยเฉพาะในการรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง คือ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีเหตุการณ์จลาจลในบ้านเมือง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งของนักการเมืองในรัฐสภา แล้วชักนำประชาชนออกมาปะทะกัน จนกระทั่งทหารต้องออกมา “ห้ามมวย” ไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง ด้วยการยึดอำนาจดังกล่าว แต่ทหารก็ทำอะไรไม่สำเร็จ โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่านักการเมืองนั้นแสนเลว จนทหารต้องออกมากวาดล้าง อย่างที่ คมช.ใน พ.ศ. 2549 – 2550 ก็จัดการกับระบอบทักษิณไม่ได้ จนรัฐบาลทหารในยุคนั้นถูกเรียกว่า “ปัสสาวะไม่สุด” เพราะหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน ที่กลายพันธุ์มาจากพรรคไทยรักไทย ก็ยังคงได้รับเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งบ้านเมืองก็ยังวุ่นวายมีการจลาจลอยู่โดยตลอด ถึงขั้นที่รัฐบาลในช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีโอกาสเข้าทำงานในทำเนียบเลย รวมถึงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น ก็เกือบถูกสังหาร ท่ามกลางมวลชนที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองในระบอบทักษิณเข้ากลุ้มรุมทำร้าย แล้วพอมีเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต่อมาก็ได้ใช้เสียงข้างมากนั้นผ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ที่มีผลต่อการล้างโทษให้พี่ชายได้ด้วย ในตอนรุ่งสางของวันที่ 30 ตุลาคม 2556 อันนำมาซึ่งการประท้วงโดยคณะ กปปส. ที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นอัมพาตอยู่เป็นระยะๆ เพราะถูกกลุ่มม็อบ “ชัตดาวน์” ที่สุดคณะ คสช.ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องจัดประชุมหลอกล่อให้นักการเมืองพวกฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาตกลงกัน แล้วจับเอาบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมเกือบทั้งหมดไป “ปรับทัศนคติ” ซึ่งก็คือการเข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั่นเอง แต่ทหารก็ประสบความล้มเหลวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งของนักการเมือง ที่ทหารอ้างว่านำมาสู่ความวุ่นวายในบ้านเมือง จนเกือบจะเป็นสงครามกลางเมืองอีกครั้งหนึ่งนั้น แถมยัง “คิดไม่ดี” ต่อการเมืองไทยเสียเอง ด้วยความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ ดังจะเห็นได้จากการฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แล้วให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาร่างแทน กระทั่งได้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ” นี้ แล้วเราก็ได้เห็นความมุ่งมั่นของทหารที่จะครอบงำการเมืองไทยไว้ให้นานที่สุด ด้วยการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการรวบรวมนักการเมืองทุกเผ่าพันธุ์มาไว้ในพรรคนี้ รวมถึงนักการเมืองที่ทหารเคยบอกว่า “ไม่ดี” เพราะหวังเพียงเพื่อจำนวนเสียงของ ส.ส.ที่จะมารองฐานอำนาจให้ดูดีเท่านั้น ไม่รวมที่ได้เขียนให้อำนาจ ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นไว้ด้วย เพื่อไม่ให้อำนาจนั้นร่วงหล่นออกไปจากทหารได้ จึงถือได้ว่าทหารนั้นกล้าตระบัดสัตย์ ที่บอกว่าจะทำการเมืองไทยให้ดีขึ้น แต่กลับรวมบรรดานักการเมือง “แย่ๆ” ไว้ในพรรคที่เป็นแกนนำในรัฐบาลนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงที่ไม่สนใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายระหว่างนักการเมือง จนถึงกับที่มีผู้เชื่อกันว่า ผู้มีอำนาจอาจจะต้องการให้ประชาชนเห็นความเลวร้ายของนักการเมืองนี้ยังคงมีอยู่ในสภาต่อไป เพื่อที่จะได้ทำให้ทหารดูดีและสูงส่ง อยู่เหนือความชั่วช้าทั้งปวงแบบที่นักการเมืองกระทำกัน เพื่อให้ประชาชนยังคงสาปแช่งนักการเมือง ในขณะที่ทหารก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ในฐานะผู้รักษาความสงบให้แก่บ้านเมือง และเป็นที่พึ่งที่หวัง(?)ของประชาชนต่อไป อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักการเมืองจำนวนหนึ่งในประเทศไทยนี้ “แย่จริงๆ” โดยที่อาจจะมีจำนวนไม่น้อยที่เต็มใจที่จะร่วมกับทหาร รักษาสภาพอันเน่าเฟะของระบอบรัฐสภา(ที่ทหารเป็นผู้ควบคุมนี้)ไว้ต่อไป เพียงเพื่อจะให้ได้อยู่ร่วมรัฐบาลและชนะเลือกตั้งในครั้งหน้า และอาจจะมีที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวว่า ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยถอยหลังลงคลอง(น้ำเน่า)แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงมีผู้คนที่อาจจะทนดูการเมืองไทยถูก “รุมโทรม” แบบนี้ไม่ได้ จึงได้เสนอแนวคิดที่เรียกว่า “ขบวนการ ไม่เลือก ไม่เอา” เพื่อที่จะลงโทษแก่นักการเมืองแย่ๆ ออกไปไม่ให้ได้เข้ามามีอำนาจ และพยายามคัดสรรแต่นักการเมืองที่ดีสักหน่อย หรือไม่แย่มาก ให้ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในสภา “ผู้คนกลุ่มนี้” เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พวกเขากำลังรวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายที่จะไม่เลือกนักการเมืองบางจำพวกเข้าสภา ที่ตกลงกันได้ก็คือ พวกนักการเมืองที่หิวแสง ชอบสร้างภาพ สร้างข่าว สร้างความโด่งดังให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่ “แสนทุเรศ” ใดๆ ในทุกโอกาส ซึ่งผู้คนที่เข้ามร่วมกลุ่มค่อนข้างจะเห็นด้วย เพราะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่านักการเมืองพวกนี้แย่มากจริงๆ เพราะได้ทำให้การเมืองถูก “ด้อยค่า” และไม่เป็นตัวอย่างที่ดีกับวางตัวของนักการเมือง นอกจากนี้ยังรวมถึงนักการเมืองที่มีประวัติสกปรก เคยทำความชั่ว ทั้งที่เคยติดคุกแล้วและยังไม่ติดคุก หรือมีข่าวรวมถึงเสียงร่ำลือ แม้จะยังไม่ถูกดำเนินคดีว่า พัวพันกับการทำชั่ว การทุจริตคอร์รัปชัน หรือรับใช้และทำงานให้กับคนไม่ดี มีการเสนอชื่อกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มไม่เอาความเลว” แต่ยังไม่เป็นที่ตกลง รวมถึงประเด็น “ความเลว” ที่ยังตกลงกันไม่ได้อีกหลายเรื่อง เช่น การที่นักการเมืองหลายคนไปสนับสนุนทหาร อย่างนี้เป็นความเลวหรือไม่ หรือนักการเมืองอ้างตัวเองว่ารักชาติรักสถาบัน แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองในสภาให้เหมาะสมแต่อย่างใด เช่น ไม่เคยมีบทบาทในการปกป้องหรือทำการช่วยเหลืออะไรให้ประชาชนเลย อย่างนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นความเลวอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่สำนวนไทยเรียกว่า “พวกเลี้ยงเสียข้าวสุก” รวมถึงนักการเมืองที่ทำงานไม่คุ้มกับภาษีอากรของประชาชน ทั้งยังสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติด้วยการไม่ปกป้องการใช้ภาษีให้ถูกต้องเหมาะสม ที่อาจจะเรียกได้ว่า “เนรคุณประชาชน” หรือ “กินบนเรือน อุจจาระราดบนหลังคา” นั่นเลย ผู้เขียนได้รับฟังถึงแนวคิดที่คนกลุ่มนี้จะดำเนินการ ตั้งแต่เป้าหมายและอุดมการณ์ กระบวนการการเคลื่อนไหว ช่องทางการสื่อสารและเร้าระดมพลังทางสังคม ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทำ ซึ่งก็มีความน่าสนใจมาก และผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มากถึงพลังนี้ที่จะเกิดแก่สังคม และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมหาศาลแน่นอน แต่นั่นแหละการเคลื่อนไหวใดๆ ทางการเมืองย่อมจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ถ้าขบวนการนี้จะประสบความสำเร็จก็อาจจะต้องมีผู้ร่วมสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ให้ได้จำนวนพอสมควรไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คงจะต้องการ “แนวร่วมและเครือข่าย” อีกเป็นจำนวนมาก คนไทยใจบุญมีอยู่เป็นจำนวนมาก มาช่วยกันทำบุญสร้างสรรค์ประเทศไทยกันเถิด