พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ปรัชญาการศึกษาในอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นหลักปรัชญาการศึกษาสากล เชื่อว่า วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาอยู่ที่กรปลดปล่อยผู้ศึกษาสู่ความเป็นผู้มีอิสรภาพ ชนิดที่แม้แต่ความเป็นอิสรภาพจากตัวผู้สอนหรืออาจารย์ ซึ่งหมายถึงว่าผลผลิตทางการศึกษา ไม่จาเป็นต้องมีผลผลิตออกมาเหมือนเบ้าหลอม หรือเหมือนครูอาจารย์ ผลิตผลที่พึงประสงค์ด้านการศึกษาในความหมายของสถาบันการศึกษาแบบฉบับอเมริกัน หมายถึง การที่ผู้เรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง วิเคราะห์ด้วยตัวเองเป็น นับเป็นการต่อยอดอารยธรรมมนุษยชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า “นวัตกรรม” นั่นเอง ในแง่ปรัชญา วัตถุประสงค์ของการศึกษาในอเมริกาหรือโลกตะวันตก ส่วนใหญ่ จึงคือ การปลดล็อก หรือการปลดพันธนาการให้กับมนุษยชาติดีๆ นี่เอง เพราะก่อนหน้าที่มนุษย์จะเป็นผู้มีการศึกษานั้น มนุษย์เสมือนอยู่ในคอกจองจำในหลายๆ ด้าน เช่น จองจำจากจารีต จองจำจากประเพณีวัฒนธรรม หรือแม้การจองจำจากสภาพทางการเมือง ต่อเมื่อมนุษย์ได้รับการศึกษาจนถึงที่สุด การศึกษาก็จะช่วยคลายล็อค หรือปลดล็อคพันธนาการดั้งเดิมที่มนุษย์เคยมี เช่นความกลัวอันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นต้น นี่นับเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างสาดส่องโลกที่มืดอยู่ให้กลับกลายเป็นสว่าง มองอะไรๆ เห็นชัดเจนมากขึ้น การศึกษาจึงไม่ต่างจากการปลดปล่อยมนุษยชาติจากอุ้งมือหรืออำนาจชั่วร้ายที่ยึดกุมหรือพรากเสรีภาพออกไปจากมนุษย์ ไม่แปลกที่ไม่ว่ารัฐใดๆ ในโลกต่างก็ยืนยันชัดเจนที่จะให้พลเมืองของรัฐนั้นๆ เข้าถึงการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เว้นเสียแต่รัฐเผด็จการเท่านั้น ที่ในทางลึกแล้วปฏิเสธคุณค่าของการศึกษา ปฏิเสธที่มาและคุณค่าของนวัตกรรมที่ร้อยทั้งร้อยก็อาศัยการศึกษานี่แหละเป็นตัวทำให้เกิด รัฐเผด็จการทำให้การศึกษาเป็นไปในลักษณะการยัดเยียดให้กับผู้เรียน ดังการควบคุมหลักสูตรจากส่วนกลาง รวบอำนาจการเขียนหลักสูตรไว้ที่ส่วนกลางเป็นหลัก ทั้งที่ผู้เรียนเองควรมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นอย่างหลากหลายกว้างขวาง โดยที่แต่ละท้องถิ่นมีฐานข้อมูลดิบ ฐานทรัพยากร ที่สามารถนำมาศึกษาแตกต่างกันไป ด้วยการมีระบบการศึกษาที่ว่ามานี้ จึงเป็นเหตุให้การศึกษาไทยตกอยู่ในสภาวะ “ถอยหลังเข้าคลอง”ในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลยันระดับอุดมศึกษา โดยเป็นระบบที่ล้าหลังที่สุดแม้แต่ในประเทศอุษาคเณย์ด้วยกันจะเปรียบไปไยการศึกษาของประเทศในโลกตะวันตก เนื่องด้วยการศึกษาของไทยเรานั้น มีจุดเน้นไปที่ “อำนาจนิยม” เป็นหลัก ดังที่เราสามารถเห็นจากพื้นฐานการแต่งกายของนักศึกษา การเน้นการบังคับนักเรียนเรื่องทรงผม เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนเอง โดยเฉพาะอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาเองส่วนหนึ่งพากันทรยศต่ออุดมการณ์ของการเป็นนักวิชาการที่ซื่อตรง ไปขึ้นตรง เป็นบริวาร หรือรับใช้หน่วยงานภาครัฐ ไม่ต่างจากพวกประสบสอพลอขุนพลอยพยัก ซึ่งในที่สุดก็ทำให้นัวนักวิชาการและสำนักของพวกเขาเสื่อมลงๆ ไปเรื่อยๆ นี้ยังไม่รวมระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้องในมหาวิทยาลัย ที่หลายสถาบันปฏิบัติระเบียบแบบศรีธนญชัย เช่น ลงประกาศสำคัญๆ เอาต่อเมื่อเวลาหรือภาวการณ์ที่มีผลได้ผลเสียต่อสถาบันหรือมหาวิทยาลัยได้ผ่านไปแล้ว หากินกันอยู่ในลักษณะนี้ก็มาก ไม่รวมถึงการประเมินผลการศึกษาโดยหน่วยงานเฉพาะของรัฐทางด้านศึกษา ที่ขาดความเด็ดขาด ไร้ความโปร่งใส ชี้แจงหรือรายงานปัญหาของสถาบันการศึกษาเหลานั้น ต่อสาธารณะได้แบบอืดมากๆ