ทวี สุรฤทธิกุล ยุคดิจิทัลได้ “พลิกโฉม” อะไรหลายอย่าง ที่อาจจะมาถึงการเมืองด้วยในเร็วๆ นี้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ผู้เขียนได้รับทุนของมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ให้ไปร่วมสัมมนาทางวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ที่อาจจะเรียกได้ว่า “ยิ่งใหญ่” ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดยสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (APSA – American Political Science Association) ที่เป็นองค์กรความร่วมมือทางด้านวิชาการรัฐศาสตร์ในระดับนานาชาติ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1903 โดยได้มีการเชิญนักวิชาการให้ส่งผลงานมาเผยแพร่และร่วมนำเสนอความคิดเห็นในการสัมมนาที่จัดขึ้นทุกปี แต่ละปีจะมีนักวิชาการไม่เฉพาะแต่ทางด้านรัฐศาสตร์ แต่รวมถึงผู้สนใจและนักวิชาการด้านอื่นๆ จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาร่วมด้วยปีละนับพันคน อย่างในปีที่ผู้เขียนไปร่วมสัมมนานั้น ก็มีผู้ร่วมสัมมนาถึง 1,200 กว่าคน มีผู้เสนอหัวข้อและผลงานเพื่อร่วมสัมมนาถึง 500 กว่าเรื่อง ต้องใช้สถานที่จัดงานเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ระดับ 5 ดาวถึง 3 โรงแรม ใช้เวลาจัดกิจกรรมถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งในปีนั้นได้จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่เป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมสัมมนาแต่ละคนต้องแสดงความประสงค์ผ่านแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่วันที่สมัครเข้าร่วมสัมมนา ว่าต้องการจะร่วมสัมมนาในหัวข้ออะไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนได้เลือกไว้ประมาณ 14 - 15 หัวข้อ ในเวลาที่ได้รับทุนไปราวหนึ่งสัปดาห์นั้น เพราะวันหนึ่งๆ มีเวลาที่จะไปเข้าประชุมได้ไม่เกินวันละ 3 หัวข้อ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ นับว่าหนักและเหนื่อยน่าดู แต่ก็คุ้มค่ากับเวลาและการลงทุนลงแรงที่เสียไป ซึ่งในส่วนตัวของผู้เขียนก็คือได้ไป “เคาะสนิม - ลับคมสมอง” ที่เรียนรัฐศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และสอนวิชารัฐศาสตร์มากว่า 30 ปี ด้วยตำราที่อาจจะเรียกได้ว่า “โบราณ” ครั้นพอมาได้รับรู้ในวิทยาการด้านรัฐศาสตร์ยุคใหม่ ก็ทำให้ตื่นเต้นและได้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ “มุมมองทางการเมือง” ที่ตั้งแต่เรามีอินเตอร์เน็ตมาในช่วง 30 กว่าปี กับที่มี “สังคมดิจิทัล” เกิดขึ้นในช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ การเมืองได้เปลี่ยน “ฉากทัศน์” ที่มีมิติหรือแง่มุมในการศึกษามากขึ้น ทำให้เราต้องมองการเมืองให้ “ลึก” และ “กว้าง” ขึ้น อย่างน้อยก็ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเข้ามาของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านสังคมดิจิทัลนี้ ในการสัมมนาครั้งนั้น ผู้เขียน “ทึ่ง” ในหัวข้อหนึ่งของการสัมมนามากๆ คือหัวข้อที่ชื่อว่า “Pixel Politics” โดยผู้นำเสนอได้บรรยายว่า โลกนี้ไม่เพียงแต่กำลังมุ่งไปสู่สังคมของการสื่อสารในระบบดิจิทัล แต่การเมืองก็กำลังถูกทำให้เป็น “การเมืองแบบดิจิทัล” โดยเฉพาะในระบบการเลือกตั้ง ที่มีการใช้ข้อมูลดิจิทัลมาวิเคราะห์แยกแยะผู้เลือกตั้ง และจัดทำนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน เพื่อให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งได้รับชัยชนะ “อย่างแม่นยำและหมดจด” ในระบบการเมืองแบบดิจิทัลนี้ สามารถใช้การเก็บข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ได้เข้ามาแทนที่การใช้แบบสอบถามหรือการวิจัยผู้ลงคะแนนเสียงแบบเดิม ๆ โดยโซเชียลมีเดียเหล่านี้จะมีเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” (AI – Artificial Intelligence) เพื่อการสืบค้นและสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ผู้ใช้ นั่นก็คือผู้สมัคร(โดยผู้เชี่ยวชาญในการใช้โซเชียลมีเดีย)จะสามารถรู้ได้ว่า ผู้ลงคะแนนเป็นคนแบบใดบ้าง ซึ่งรู้ลึกถึงนิสัยใจคอและทัศนคติในหลายๆ ด้าน รวมถึงที่สามารถ “กล่อมเกลา” หรือปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของผู้ลงคะแนนเหล่านั้นได้ด้วย โดยการทดลองป้อนสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญนั้นคิดว่าผู้ลงคะแนนจะสนใจ และลองปรับเปลี่ยน “ใส่วาง” ในความเชื่อความคิดที่จะทำให้ผู้ลงคะแนนเหล่านั้นตัดสินใจมาเลือกผู้สมัครของตน ซึ่งบางท่านอาจจะทำได้ว่าในการเลือกตั้งประธานธิบดีของสหรัฐอเมริกาใน 2 - 3 ครั้งนี้ ได้ใช้กระบวนการ “ล้วงความลับ” และ “ล้างสมอง” แบบนี้ จนเกิดเรื่องเกิดราวฟ้องร้องเอาผิดกับแพลตฟอร์มโซเชียลบางแห่ง ที่มีการขายข้อมูลหรือดำเนินการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้กับผู้คนที่ทำงานกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง จนกระทั่งบริษัทโซเชียลมีเดียนั้นออกมารับผิด และต้องยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล ผู้บรรยายบอกว่าการล้วงข้อมูลเป็นรายบุคคลนี้ อาจจะเปรียบได้กับเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล ที่สามารถแยกย่อยเม็ดสีออกได้ยิบย่อยมากๆ อย่างที่เรียกว่า Pixel (Pixel นี้ในภาษาไทยน่าจะแปลว่า “เม็ดสี” คือสีที่เรามองเห็นนั้นเป็นส่วนประกอบของจุดหรือเม็ดสีเล็กๆ จำนวนหนึ่ง ทำนองเดียวกันกับรูปร่างหรือลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพ ก็ประกอบขึ้นจากเม็ดสีอันหลากหลายนั้น) ที่สามารถขยายออกมาให้เห็นได้ว่ามีรายละเอียดอย่างไรในตัวคนแต่ละคนนั้น ซึ่งในสมัยก่อนที่เป็นโลกแบบอนาล็อก เราก็รู้แค่ เพศ การศึกษา อาชีพ พื้นเพ และองค์ประกอบใหญ่ๆ เป็นหลัก หรือถ้าอยากจะรู้ลงไปให้ลึกถึงความเชื่อความคิดและทัศนคติต่างๆ ก็ต้องใช้การสัมภาษณ์ การตอบแบบสอบถาม หรือการสังเกตการณ์ ที่ยุ่งยากและซับซ้อนมาก แต่ในโลกยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ และการเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล ทำให้เราใช้เวลาไม่มาก และได้ข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ก็ด้วยวิธีการที่ซับซ้อนพอควรเหมือนกัน แต่เราไม่ต้องทำเอง เนื่องจากระบบปัญญาประดิษฐ์ของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่นี้ ช่วยทำให้เป็นไปได้อย่างง่ายดาย ผู้เขียนได้นำความรู้นี้มามองการเมืองไทย ที่น่าจะกำลังอยู่ในการเมืองแบบดิจิทัลนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในการต่อสู้ทางการเมืองที่อยู่บนท้องถนนที่หลายคนมองว่าเป็นความวุ่นวายอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งเราทั้งหลายก็พอทราบว่ามีการต่อสู้ในโซเชียลมีเดียอยู่อย่างรุนแรงนั้นด้วย ถึงขั้นที่บางคนเรียกว่าเป็น Cyber War หรือสงครามในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ดึงคนให้ออกมาต่อสู้กันด้วยการสร้างความเชื่อความคิดของแต่ละฝ่าย โดยที่มีการแสดงออกในที่สาธารณะนั้นเป็นแค่ “โชว์รูม” หรือ “หนังตัวอย่าง” แต่ที่เป็น “โกดังสินค้า” หรือหนังเรื่องยาวทั้งเรื่องนั้นได้อยู่บนโลกไซเบอร์ ที่แต่ละฝ่ายกำลังเจาะลึกลงไปถึงสมาชิกในฝ่ายของตนอย่างละเอียด เพื่อสร้างหรือดึงมวลชนออกมาร่วมสู้ในฝ่ายของตนใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนี้ก็ย่อมจะต้องมีกระบวนการ “สร้างเม็ดสี” หรือสร้างมวลชนของตนให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนไม่ได้มองว่า “การเมืองแบบเม็ดสี” นี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่กลับมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองและคนที่เป็นห่วงบ้านเมืองน่าจะต้องให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งในระยะแรกอาจจะต้องเพิ่มพื้นที่สาธารณะ หรือให้เสรีภาพในการแสดงออกกับผู้คนกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น การปราบปรามหรือการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอาจจะทำให้กิจกรรมของกลุ่มต่าง ๆ หลบหนีไปอยู่ในซอกมืดมุมลับอย่างที่เรียกว่า “สงครามใต้ดิน” นั้นได้ ซึ่งเป็นสงครามที่น่ากลัวมากกว่า เพราะการใช้โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่มีใครอาจจะปิดกั้นได้ เอามือปิดฟ้าไม่ได้ฉันใด เอาอำนาจเผด็จการปิดกั้นเสรีภาพในโลกไซเบอร์ก็ไม่ได้ฉันนั้น