ทวี สุรฤทธิกุล “ท่านเป็นนักวิชาการแท้ ไม่ได้มุ่งหวังลาภผลอันใดทางการเมือง” ผู้กล่าวประโยคนี้คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และยังเป็นปรมาจารย์ในวิชาการหลาย ๆ แขนง ที่กล่าวถึงท่านอาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ราชบัณฑิต และปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีตท่านทั้งสองเคยร่วมงานกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง พ.ศ. 2509 - 2515 โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปทำหลักสูตรและเป็นอาจารย์สอนในโครงการไทยคดีศึกษา ส่วนท่านอาจารย์นิติเป็นอาจารย์หนุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาด้านโซเวียตศึกษามาจากต่างประเทศ และสอนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ ทั้งสองท่านรู้จักกันดีพอสมควร คือนอกจากจะรู้จักกันในหน้าที่การงานแล้ว ท่านอาจารย์นรนิติยังเรียกได้ว่าเป็น “ชาวสวนพลู” อีกคนหนึ่ง เพราะเคยเดินเข้าออกบ้านท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในซอยสวนพลูอยู่ในบางช่วงเวลา เว้นแต่ในช่วงที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ดังคำพูดข้างต้นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น ที่นำเรื่องของท่านอาจารย์นรนิติมาเขียน ก็เพราะประสงค์ที่จะทบทวนอดีตบางอย่างของประเทศไทย พอดีผู้เขียนได้เอาเอกสารออกจากกล่องที่ขนมาจากมหาวิทยาลัย ภายหลังที่เกษียณอายุราชการมาเมื่อปีก่อน ได้เจอร่างคำกล่าวประกาศเกียรติคุณของผู้ที่ได้รับพระราชทานปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ของท่านอาจารย์นรนิติ ที่ผู้เขียนเป็นคนร่าง ครั้งที่รักษาราชการเป็นคณบดีในครั้งที่ 3 ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในช่วง พ.ศ. 2556 - 2557 เพราะผู้เขียนเป็นผู้เสนอชื่อท่านอาจารย์นรนิติว่าเป็นผู้สมควรได้รับพระราชทานในปีนั้นโดยไม่มีใครเสนอชื่อท่านอื่น สาขาวิชารัฐศาสตร์จึงบอกว่าใครเป็นผู้เสนอชื่อก็ให้คนที่เสนอชื่อนั้นเขียน ซึ่งก็ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สถาบันพระปกเกล้า ที่ท่านอาจารย์นรนิติเคยเป็นเลขาธิการอยู่ช่วงหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้เจอหนังสือชื่อ “วันการเมือง” ที่พิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า ใน พ.ศ. 2555 พอเปิดอ่านก็เจอข้อความที่สะดุดตาตรงคำนำที่ท่านอาจารย์นรนิติเขียนไว้ “วันการเมืองของไทยที่ผู้เขียนได้รวบรวมเขียนขึ้นในชุดแรกนี้ ได้มาจากการศึกษาค้นและเขียนเพื่อเสนอให้คนไทยได้สนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นการเขียนเรื่องราวบันทึกไว้ขนาดสั้น ๆ ไม่ได้วิเคราะห์และวิจารณ์อะไรมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นฐานให้รู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสียก่อน จำนวนวัน 80 เรื่องที่เลือกมาเสนอนี้ ก็เลือกทั้งเรื่องราวที่ผู้คนรู้จักกันดีและที่คนอาจจะนึกไม่ถึงเลยมานำเสนอด้วย.. แต่ก็ยังมีเรื่องราวที่ยังเก็บมาไม่ครบทุกวันอีกหลายเรื่อง หากมีเวลาจะได้รวบรวมต่อไป” ที่ผู้เขียนเน้นข้อความในคำนำของท่านอาจารย์นรนิติไว้ 2 - 3 แห่งนั้น ก็เพื่อจะนำเสนอว่าท่านอาจารย์นรนิติท่านเป็น “นักวิชาการที่แท้จริง” อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยอธิบายให้ผู้เขียนฟัง ครั้งที่ผู้เขียนเป็นเลขานุการของท่านอยู่ในบ้านซอยสวนพลู และต่อมาได้ออกมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนี้ และผู้เขียนได้ถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า อยากเป็นอาจารย์เก่ง ๆ แบบท่านต้องทำอย่างไร ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พูดขึ้นมาเลยว่า อย่าเป็นเลยอาจารย์เก่ง ๆ ขอแค่ให้มีความสุขกับงานวิชาการนั้นก็พอ แล้วลูกศิษย์กับคนรอบข้างก็จะมีความสุขไปด้วย โดยท่านก็พูดต่อไปว่า ความสุขของนักวิชาการนั่นอยู่ตรงไหนรู้ไหม แล้วท่านก็ตอบว่า อยู่ที่ได้ค้นคว้าหาความรู้ และเก็บเกี่ยวความรู้นั้นไปเรื่อย ๆ อย่างที่คนเรียกท่านว่าเป็นพหูสูตนั้น ก็แปลตามตัวว่า “ผู้ฟังมาก” การฟังคนอื่นทำให้เราได้ความรู้ ผู้มีความรู้ย่อมแสวงหาความรู้อยู่เสมอ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นักวิชาการต้องทำตัวเหมือน “ผู้แบกกระสอบใส่ความรู้”เพราะทุกอย่างรอบตัวเราเป็นความรู้ทั้งสิ้น เมื่อได้เห็นได้ยินอะไรก็เอามาใส่กระสอบสมองของเราไว้ พอมีเวลาก็เอาออก “มาคัดมาคิด” คือแยกแยะเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น เอาไว้สอน หรือเอาไว้คุย ต่อไป ซึ่งก็เหมือนกับที่ท่านอาจารย์นรนิติได้เก็บเรื่องราวต่าง ๆ ของการเมืองไทยมารวมไว้ในหนังสือเล็ก ๆ “วันการเมือง” ของท่านเล่มนี้ ท่านอาจารย์นรนิติบอกความต้องการของท่านว่า หนังสือ “วันการเมือง” ต้องการเพียงเพื่อ “เสนอให้คนไทยสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ได้วิเคราะห์และวิจารณ์อะไรมาก” แต่คนที่อ่านอย่างสังเกตก็จะพบว่า ในเนื้อหาที่คล้ายกับการสรุปเหตุการณ์ในแต่ละวันนั้น ก็มีการใช้คารมเชือดเฉือนและซ่อนแง่มุมให้คิดอยู่พอสมควร ซึ่งจะขอยกตัวอย่างสัก 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องของการใช้ภาษาที่ “นุ่มนวลแต่แสบทรวง” และอีกเรื่องหนึ่งคือการฝากข้อคิดที่ “ฆ่าเผด็จการด้วยอารมณ์ขัน” เรื่องแรกท่านพูดถึงเหตุการณ์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยได้บรรยายว่าวันนี้เป็นวันที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วให้มีการสอบสวนตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองคนสำคัญหลายคน แต่สุดท้าย “คณะทหารเองที่ยึดอำนาจจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การที่จะตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่ทำในช่วงแรกของการยึดอำนาจ จึงมีความเปลี่ยนแปลง ได้มีผลอะไรออกมามากนัก” อ่านแล้วผู้เขียนนี้ “ปวดจี๊ด” ที่กลางหัวใจ เพราะช่างเหมือนกันกับทหารบางคณะในภายหลัง ที่บอกว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ก็อยู่มานานเกือบ 8 ปี แถมยังเอานักการเมืองที่ตัวเองบอกว่ารังเกียจมาก ๆ จนต้องจับเอาไปขังไว้เพื่อปรับทัศนคตินั้น มาเป็นพวกและตั้งพรรคการเมืองรองก้นอำนาจให้กับตัวเองอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่ง ท่านอาจารย์นรนิติเขียนถึงเหตุการณ์วันที่ 8 เมษายน 2491 ที่มีการ “จี้” ให้นายกรัฐมนตรีคือนายควง อภัยวงศ์ ลาออก ภายหลังจากที่ทหารเองนั่นแหละที่ให้นายควงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลในแถลงการณ์ทหารว่า “รัฐบาลล้มเหลวในการทำงาน” แต่ท่านอาจารย์นรนิติได้นำข้อความในหนังสืออัตชีวประวัติของจอมพลผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร มาเปิดเผยเพื่ออ้างอิงว่า ทหารต้องการที่จะจัดระเบียบนักการเมืองให้ดูเรียบร้อยขึ้น “ผู้แทนราษฎรบางคนนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อเชิ้ตปล่อยชาย เสื้ออยู่นอกกางเกงเข้านั่งประชุมในสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐประหารจึงขอร้องให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี” โดยท่านอาจารย์นรนิติได้ “เมนต์” ในตอนท้ายว่า “นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อเท่าใดนัก เปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะแต่งตัวกันดีขึ้นจริงหรือ” ถ้าจะเปลี่ยนประโยคนี้เสียใหม่ว่า “ลองจับทหารถอดเครื่องแบบออกมาแล้วลงเลือกตั้งด้วยกัน บ้านเมืองจะเรียบร้อยดีกว่านี้ไหม” ก็ฟังดูแสบ ๆ คัน ๆ ขำ ๆ ขัน ๆ ดีเหมือนกันนะครับ