เสือตัวที่ 6 เหตุการณ์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน จากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง อันเกิดจากความจงใจให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้ปรากฏขึ้นของคนระดับแกนนำในขบวนการสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นในหัวใจของคนในพื้นที่แห่งนี้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จวบจนถึงวันนี้ แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะล่วงเลยมาเป็นเวลานานร่วม 17 ปี หากแต่ก็ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการต่อสู้กับรัฐในยุคใหม่นี้ อันกล่าวได้ว่า เป็นบาดแผลสำคัญที่จะคงถูกหยิบยกขึ้นมาจากกลุ่มแกนนำขบวนการและแนวร่วมทั้งหลายทั้งที่ตั้งใจและที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแนวร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ ให้ถูกนำเหตุการณ์ตากใบมาเป็นชนวนเหตุในการยุยงปลุกปั่น สร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นในใจคนในพื้นที่แห่งนี้รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้อย่างเป็นผล แม้การดำเนินการนำความจริงทุกแง่มุมมาตีแผ่ และเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายของคนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยรัฐและภาคประชาสังคม หากแต่ว่ากรณีที่สลับซับซ้อน ลุ่มลึกอย่างกรณีตากใบ ย่อมมีความยากที่จะหาทางออกทางความคิดที่เป็นฉันทามติหรือเป็นแนวทางเดียวกันได้ ด้วยเจตจำนงของการทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว ถูกซุกซ่อนความต้องการให้เกิดความรุนแรงจากรัฐอย่างที่เห็น และเป็นที่มาของความยากจากรัฐที่จะรักษาบาดแผลอันนี้ให้เป็นปกติได้ แม้รัฐจะพยายามแสดงความเสียใจ และยอมรับความพลั้งพลาดให้เกิดความสูญเสียโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็หาได้ทำให้ความขุ่นเคืองของกลุ่มคนในพื้นที่ลดลงไปเท่าที่ต้องการได้ ความพยายามในการเปิดบาดแผลที่ล่วงเลยมาเป็นเวลานานร่วม 17 ปี อย่างต่อเนื่องของคนกลุ่มหนึ่ง จึงถูกสะกิดเร่องราวตากใบ ให้เป็นแผลใหม่อยู่ร่ำไป และบาดแผลจากครั้งนั้นก็ยังคงส่งผลให้คนในพื้นที่ยังคงหวนคิดความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ พร้อมความเครียดแค้นชิงชังรัฐ ผ่านการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งกระนั้นที่ตกหลุมพรางของฝ่ายตรงข้าม จนเกิดหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอการสลายการชุมชุมพี่น้องมวลชนโดยเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่รู้ไม่เท่าทันคนระดับมันสมองของขบวนการร้ายแห่งนี้ การถ่ายคลิปวีดีโอเหตุการณ์ครั้งนั้น ถูกบันทึกและส่งต่อไปให้คนในพื้นที่รุ่นแล้วรุ่นเล่า ทำให้ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ครบรอบ 17 ปี อ.ตากใบ จึงเป็นเวทีของการเสวนาอีกครั้งหนึ่งของนักคิดและแนวร่วมขบวนการทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ที่พยายามสานต่อรอยร้าวในใจของคนในพื้นที่ที่ยังกังขาต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อครั้งกระโน้น ทั้งยังพยายามลากโยงมาจนถึงความไม่จริงใจในการสะสางบาดแผลของรัฐบาลยุคแล้วยุคเล่าจนถึงยุคนี้อย่างได้ผล โดยอ้างเพียงแง่มุมเดียวว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดจากความไม่ไว้วางใจของรัฐต่อชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ครอบครัวและชาวบ้าน รับผลกระทบทางด้านจิตใจ และนำมาซึ่งความโกรธแค้น รู้สึกไม่เป็นธรรมของชาวบ้านในพื้นที่จวบจนทุกวันนี้ อันเป็นการไม่กระทำการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล อาทิเช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้โพสต์คลิปวิดีโอพร้อมข้อความ ร่วมรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ความว่า ครบรอบ 17 ปี เหตุจลาจลที่ตากใบ (25 ตุลาคม 2547) การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นอกจากนี้ กระบวนการในการสานต่อบาดแผล ให้คงอยู่ในมโนสำนึกของคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ ทั้งที่มีเจตนาบริสุทธิ์ในการปกป้องสิทธิ เรียกคืนความเป็นธรรมให้ผู้ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งครั้งนั้น และที่มีเจตนาแอบแฝงที่ต้องการนำเหตุการณ์ครั้งนั้น มาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมคนรุ่นใหม่ ให้มีความคิดแปลกแยกจากรัฐ และร่วมขบวนการแยกตนเองออกจากการปกครองของรัฐในที่สุด ด้วยการเปิดเผยภาพการทำกิจกรรมทางศาสนาอิสลามของชาวบ้าน ในงานรำลึก 17 ปี เหตุจลาจลที่ตากใบ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนตาดีกา หมู่บ้านจาเราะ ตำบลไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ตั้งแต่เวลา 13.30-14.00 น. โดยมีการละหมาดฮายัติ, อ่านอัรวะห (อ่าน “อัลกุรอ่าน” แก่ผู้สูญเสีย) และการกินเลี้ยงขนมจีน, ละแซ ไปจนถึงการชูป้ายข้อความร่วมรำลึก อาทิ “จำได้ตลอด ไม่เคยลืม” “เมืองที่สวย เต็มไปด้วยเรื่องเศร้า” “น้ำตาและความสูญเสียของมนุษย์” “ไต่สวนการตาย ความจริงยังไม่ปรากฏ” “25 ตุลาคม 2547 วันแห่งความเศร้าโศก” “ตาบา ดารุ้ลนาอีม : ตากใบ ถิ่นที่สวยงาม” เป็นต้น ซึ่งภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ตากใบ กิจกรรมอันหลากหลาย และข้อความจากป้ายต่างๆ ที่จัดทำขึ้น ล้วนแสดงออกถึงความคิดและความตั้งใจให้เห็นว่า คนกลุ่มหนึ่งยังคงสานต่อการต่อสู้กับรัฐ โดยผ่านการเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้เป้าให้เห็นความไม่จริงใจของรัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันเป็นการมองและชี้เป้าให้มวลชน ได้แลเห็นภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงด้านเดียว ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า บาดแผลจากการก่อสถานการณ์ที่ อ.ตากใบ เมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างแนวร่วมได้มากมาย รวมทั้งสร้างความบาดหมางในจิตใจให้ผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อให้ร่วมขบวนการก่อความไม่สงบได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการหยิบยกเหตุการณ์อื่นๆ มาประติดประต่อ ร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเป็นราวจนน่าเชื่อได้ว่า รัฐมีเจตนาไม่บริสุทธิ์กับคนในพื้นที่ จนเป็นที่มาของการตัดสินใจร่วมขบวนการเห็นต่าง และนำไปสู่วิธีคิดในการก่อเหตุร้ายเพื่อตอบโต้เอาคืนเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อสบโอกาส ทำให้การต่อสู้กับรัฐของกลุ่มคนในขบวนการแห่งนี้ยังคงทรงพลังมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พลังความต่อเนื่องในการดำรงอยู่ของกลุ่มคนในพื้นที่แห่งนี้ มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เรื่อยมา อาทิ เมื่อปลายสัปดาห์ ต.ค.64 กองกำลังผสมในจังหวัดปัตตานี ได้เข้าตรึงกำลังพร้อมดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและเป็นกรณีพิเศษ ภายหลังจากชุดจู่โจม กองกำลังผสม จ.ปัตตานี เข้าพิสูจน์ทราบแหล่งหลบซ่อนที่พักพิงสมาชิกกลุ่มผู้ก่อการความไม่สงบในพื้นที่ ต.กระโด และบริเวณพื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สามารถตรวจยึดสิ่งของที่เป็นยุทธภัณฑ์หลายรายการ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งของทั้งหมดที่ตรวจเจอนั้นเป็นของกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบที่เตรียมเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุในช่วงครบรอบ 17 ปีเหตุตากใบ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น จึงบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เป็นส่วนสำคัญในการเปิดบาดแผลที่แม้จะล่วงเลยมาจนเป็นแผลเป็นแล้ว ให้เป็นแผลใหม่ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการต่อสู้กับรัฐอย่างไม่มีวันสิ้นสุด