ทวี สุรฤทธิกุล พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคแรกที่ถูกระบอบเผด็จการกระทำย่ำยี ดังที่ได้กล่าวมาถึงพรรคการเมืองในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งท้ายที่สุดทั้งสองจอมพลก็ต้องพังไปด้วยพลพรรคในพรรคการเมือง ที่เหล่าทหารช่วยตั้งขึ้นมาเป็นฐานหนุนให้กับรัฐบาลของทั้งสองจอมพลนั้น เช่นเดียวกันกับในสมัยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เขียนรัฐธรรมนูญให้สลายขั้วพรรคการเมือง แต่ก็ยังใช้วิธีการรวบรวม ส.ส.กลุ่มต่าง ๆ ให้มาหนุนตนเองให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง สุดท้าย ส.ส.เหล่านั้นก็แปรพักตร์ไปสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือในยุค รสช.ที่ทหารได้สมคบคิดกับพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งตั้งขึ้นมาก่อนการเลือกตั้งเพื่อเป็นฐานหนุนให้กับทหาร เพื่อให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ส.จำนวนมากในฟากฝ่ายที่หนุนทหาร ก็ไม่สามารถคุ้มครองผู้นำทหารและรัฐบาลของทหารนั้นให้อยู่รอดไปได้ ทั้งยังประสบชะตากรรมอันชอกช้ำ ที่ผู้นำทหารบางคนต้องมี “ตราบาป” ไปถึงลูกถึงหลาน ในประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน ตั้งแต่ที่ได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2520 และที่ได้ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 มาจนถึงปัจจุบัน ค่อนข้างเป็นห่วงประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับพัฒนาการของพรรคการเมืองไทยนี้มาก เพราะตั้งแต่ที่เริ่มมีพรรคการเมืองในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2489 ล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2564 นี้ ก็เป็นเวลาถึง 75 ปีเข้านี่แล้ว แต่พรรคการเมืองของไทยก็ “ยังไปไม่ถึงไหน” ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเป็นข้อคิดเกี่ยวกับสถานะภาพของการเมืองไทย รวมทั้งอนาคตของพรรคการเมืองไทย ไว้ดังนี้ 1. พรรคการเมืองไทยยังไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่กล่าวว่า พรรคการเมืองจะต้องเกิดจากกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์หรือความคิดเพื่อการพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน เพราะพรรคการเมืองไทยเกิดจากการมาเกาะกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ เพื่อที่จะสนับสนุนผู้นำในกลุ่มของตนเป็นสำคัญ อย่างเช่น การเกิดขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคแนวรัฐธรรมนูญในยุคแรก ต่อมาพรรคการเมืองก็ยังอยู่ในสภาพฐานค้ำจุนอำนาจให้กับผู้นำ โดยเฉพาะทหารที่พยายามถึงขั้นตั้งพรรคการเมืองเพื่อหนุนผู้นำทหารมาโดยตลอด ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่าพรรคการเมืองไทยที่เป็นอยู่มาถึงปัจจุบันนี้เป็นได้แค่ “หน้ากากปิดหน้าผากเผด็จการ” เท่านั้น 2. นักการเมืองไทยยังไม่ค่อยเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง หรืออาจจะรู้ว่ามีบทบาทหน้าที่อะไร แต่ก็ทำตามบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุที่ไม่เชื่อในพลังของประชาชนผู้เลือกตั้ง แต่กลับไปเชื่อ(รวมถึงเกรงกลัว)พลังของทหารและผู้มีอำนาจ(เช่น อำนาจนายทุนอย่างทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น) และไปรับใช้ผู้มีอำนาจเหล่านั้น ในขณะที่ผู้มีอำนาจก็ดูหมิ่นดูแคลนประชาชนและนักการเมืองที่มาจากประชาชน ว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวาย ไม่ฉลาด และเรียกร้องเอาแต่ผลประโยชน์ (อย่างที่เราเห็นผู้มีอำนาจเหล่านั้นโปรยปรายจ่ายแจกด้วยนโยบายที่เน้นการให้เป็นหลัก ด้วยเชื่อว่าประชาชนโลภ เพียงเอาเงินยัดปากก็ยอมให้ใครก็ได้เข้ามาปกครอง) ดังนั้นประชาชน รวมถึง ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา เป็นแค่ “สัตว์เลี้ยงในบ้าน” เพียงแค่เอาอาหารที่ชอบมาเลี้ยงให้เชื่อง ก็สามารถที่จะทำอะไรในบ้านเมืองนี้ก็ได้ 3. พรรคการเมืองไทยยังคงเป็นแค่การรวมกลุ่มกันของ “นักเลือกตั้ง” ด้วยความที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันด้วยอุดมการณ์ แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวของนักการเมืองไทยก็คือ “เอาชนะเลือกตั้ง” ดังนั้นจึงเกิดสภาพของการ “กวาดต้อน” บุคคลที่มีศักยภาพสูงในการเอาชนะเลือกตั้งมาไว้ในพรรค ได้แก่ ผู้แทนราษฎรที่อยู่ในสภา อดีตผู้แทนราษฎรผู้สมัคร บุคคลที่มีชื่อเสียง คนที่มีเงินและอิทธิพล ตลอดจนคนที่มีเครือข่ายใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ เข้ามาจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารอยู่เสมอ และหลังการรัฐประหาร ทหารก็มักจะอยากมีอำนาจสืบต่อ แต่เมื่อต้องมี ส.ส.สนับสนุน ก็มักจะใช้วิธีตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเสียเองอย่างในอดีต หรือให้นอมินีไปจัดตั้งพรรคการเมืองให้อย่างในปัจจุบัน ซึ่งนักการเมืองก็พร้อมที่จะ “รับใช้” และ “ร่วมเสวยสุข” กับทหารอยู่แล้ว ก็จำยอมด้วยดี เราจึงไม่มีนักการเมืองมืออาชีพ (หรือมีน้อยมาก) มีแต่ “นักเลือกตั้งอาชีพ” และพรรคการเมืองก็คือที่รวมตัวกันของนักเลือกตั้งเหล่านั้น จึงควรเรียกพรรคการเมืองทั้งหลายว่า “พรรคเลือกตั้ง” นั้นมากกว่า 4. พรรคของประชาชนเกิดยาก เพราะท้ายที่สุดพรรคที่ตั้งใจให้เป็นพรรคของประชาชนนั้น ก็จะกลายเป็นพรรคของผู้มีอำนาจนั้นต่อไป เราได้เห็นพรรคการเมืองไทยเป็นไปแบบนั้นมาทุกยุคทุกสมัย แม้แต่พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ก็ไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง บ่อยครั้งที่ได้เห็นพรรคการเมืองแบบนั้นรวมตัวกับผู้มีอำนาจ เพียงเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล และผู้นำของพรรคได้มีตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงได้มีผลประโยชน์มาแบ่งกันในหมู่ผู้สนับสนุนพรรค เพราะถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะ “อดอยากปากแห้ง” และเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะขาด “กระสุนดินดำ” เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง แม้แต่พรรคที่เกิดใหม่ก็ต้องอาศัยแหล่งทุนสนับสนุนที่พอสมควร ไม่งั้นก็จะมีสภาพเป็นเพียง “พรรคเฉพาะกิจ” หรือ “พรรคอะไหล่” เสียมากกว่า ไม่ได้มีความยั่งยงคงยืน หรือต้องการที่จะเป็นพรรคที่ใหญ่โตอะไรไม่ การเมืองไทยจึงยังเต็มไปด้วย “พรรคเล็กพรรคน้อย” และ “พรรคที่คอยส่วนบุญ” กันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากจะให้ผู้เขียนทำนายถึงระบบพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งแก้ไขได้บางส่วนนี้ ก็พอจะมองไปได้ว่า ระบบพรรคเล็กพรรคน้อยนี้ยังคงจะเป็นอยู่ต่อไป แม้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะให้คุณแก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่มากกว่า แต่พรรคเล็กพรรคน้อยก็มีโอกาสสอดแทรกเข้ามาได้ด้วย ซึ่งนักการเมืองไทยก็ยังถือคติว่า “เป็นหางราชสีห์ดีกว่าเป็นหัวหมา” คือถึงแม้จะได้แค่แทะเล็มรองเท้าบู๊ตของผู้มีอำนาจ ก็ยังดีกว่าจะมานั่งกัดก้อนเกลือกินกับชาวไร่ชาวนา และที่จะยังคงเป็น “ภาพอัปลักษณ์” ของการเมืองไทยมากไปกว่านี้ก็คือ พรรคการเมืองไทยจะยังคงเป็นที่รวมตัวกันของพวก “กระสือการเมือง” ที่หิวโหยผลประโยชน์ แบบที่ว่าที่ไหนหรือใครให้ผลประโยชน์ที่ต้องการได้ ก็จะเร่ร่อนบินว่อนไปหาแหล่งผลประโยชน์นั้น เพราะฉะนั้นการเมืองไทยก็จะยังคงเต็มไปด้วย “งูเห่า” ที่พร้อมจะเนรคุณพรรคเดิมได้ทุกกาลสมัย และจะยังเต็มไปด้วย “สัมภเวสี” ที่ไม่รู้จะไปผุดไปเกิดหรือปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น กระนั้นเราก็อย่าได้เศร้าใจกับการเมืองไทยให้มากนัก ขอให้รักษาตัวให้อายุยืน ๆ เราอาจจะได้พบสิ่งดี ๆ ในทางการเมืองไทยเข้าสักวัน