รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวนประชากรไทยตามหลักฐานงานทะเบียนราษฎรล่าสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 มีจำนวน 66,186,727 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรวัยเด็กอายุ 0-14 ปี จำนวน 10,721,801 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และแบ่งเป็นเด็กแรกเกิดอายุ 0-6 ปี หรือเด็กปฐมวัยจำนวน 4.2 ล้านคน เด็กถือเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการการเหลียวแลและเอาใจใส่ทั้งจากครอบครัวและประเทศชาติผ่านหน่วยงาน ต่าง ๆ ของรัฐ โดยทำงานบูรณาการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ยูนิเซฟ ตามมติ ครม. เมื่อปี 2558 ได้อนุมัติโครงการอุดหนุนเงินเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเด็กจำนวน 1.4 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน แต่ยังมีเด็กที่ไม่ได้รับสิทธิ์นี้อยู่อีก 2.8 ล้านคน ทั้งที่การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของทุกครอบครัวและประเทศชาติ เพราะเป็นโอกาสทองครั้งเดียวในชีวิตเด็ก ยิ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วกล่าวได้ว่า “เด็กคือสินทรัพย์ที่ควรค่าต่อการลงทุนสูงสุด” ดังผลการวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ เจ เฮ็กแมน แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2542 ชี้ว่าการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-10 เท่า พ่อเเม่ผู้ปกครอง ครู หรือโรงเรียน และผู้ที่ใกล้ชิดเด็กมีบทบาทสำคัญต่อการปั้นเด็กให้เติบโตตามวัยอย่างมีคุณภาพ ประสบความสำเร็จทั้งการเรียน การใช้ชีวิต หน้าที่การทำงาน และสุขภาพดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะบ่มเพาะให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของครอบครัว ท้องถิ่น บ้านเมือง และโลก ยิ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดูแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้โดยง่าย เพราะการแพร่ระบาดมีลักษณะเหวี่ยงกลับ (Bounce back) ในหลาย ๆ ประเทศ คือการระบาดซาลงชั่วครู่ แล้วกลับมาระบาดใหม่ “วนเวียน” ส่งผลให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กทุกวันนี้ดูซับซ้อนและต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย ดังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน อาทิ - วัคซีนโควิด-19 ยังไม่อนุมัติให้ฉีดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี - วัคซีนโควิด-19 อนุมัติให้ฉีดในเด็กเล็กอายุ 12-17 ปี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องผลข้างเคียง - การเรียนแบบออนไลน์ทำให้การเรียนรู้ของเด็กด้อยคุณภาพลง รวมถึงความเครียดที่เกิดกับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน - การเรียนแบบออนไซต์ทำให้โรงเรียนต้องมีแผนสำรอง เผื่อกรณีเด็ก ครู หรือพ่อแม่ผู้ปกครองติดโควิด-19 - ค่าเทอมที่ต้องจ่ายกับสถานการณ์ที่เด็กต้องเรียนแบบออนไลน์ และหนี้สินครัวเรือนถีบตัวสูงขึ้น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงความห่วงใยเกี่ยวกับ “การเลี้ยงดูเด็กในยุคโควิด-19” สัปดาห์นี้สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นดังกล่าวโดยมีข้อคำถามที่หลากหลายและท้าทาย เช่น - ใครเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลาน - พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง ศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ - ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลานต่อเดือน - วิธีดูแลบุตรหลานในยุคโควิด-19 – กำหนดตารางเวลา ให้ช่วยทำงานบ้าน ใช้เวลาร่วมกัน ดูแลสุขอนามัย แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เข้มงวด คอยดูห่าง ๆ ลงโทษเมื่อทำผิด, สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ - ความยากง่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลานเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง “ยุคสมัยก่อน” กับ “ยุคสมัยนี้” - เรื่องที่สร้างความหนักใจในการดูแลบุตรหลานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 – การฉีดวัคซีนโควิด-19 การป้องกันโควิด-19 การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน การเรียนออนไซต์/ออนไลน์ ค่าใช้จ่าย การใช้โทรศัพท์มือถือ อาหารการกิน ฯลฯ - สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก – นโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชน ปัญหาความยากจน สิทธิเสรีภาพของเด็ก ศูนย์ช่วยเหลือเด็ก ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา ศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน อุดหนุนค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรหลาน ฯลฯ จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การดูแล/เลี้ยงดูเด็กแต่ละช่วงวัยแม้จะเป็นช่วงเวลาปกติก็ดูไม่ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ “ไม่ปกติ” ... จึงเป็นเหตุผลที่ชัดแจ้งว่า ทั้งการดูแลและเลี้ยงดูคงต้องไม่ธรรมดาแน่ แต่จะยุ่งยากซับซ้อนมากน้อยเพียงใด คงต้องอาศัยผลโพลของ “สวนดุสิตโพล” เป็นข้อมูลประกอบครับ ดูจะลดความเสี่ยงได้อย่างดีทีเดียว!