ทวี สุรฤทธิกุล ปีหน้าคุณชวน หลักภัย จะครบเจ็ดรอบ แต่ยังแข็งแรงและทำงานได้ดี ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดหนักและกรุงเทพฯถูกล็อคดาวน์บางส่วน เพราะอยู่ในเขตที่ต้องเฝ้าระวังและควบคุมสูงสุด ผู้เขียนได้ไปงานศพผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือบางท่าน และได้พบกับคุณชวน หลีกภัย ถึง 2 ครั้ง ในงานสวดพระอภิธรรมศพของ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายของ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายเชาวน์ สายเชื้อ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้เขียนได้เข้าไปทักทายท่านตามธรรมเนียมที่เคยรู้จักท่านมาบ้าง ซึ่งท่านก็ได้ชวนให้ไปทานกาแฟที่สภา โดยให้ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นเลขานุการประธานรัฐสภา คือเลขานุการของคุณชวนนั้นอีกด้วย เป็นผู้จัดนัดหมาย ซึ่งก็ได้ไปพบกับคุณชวนเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนอื่นต้องขอ “ชมโฉม” อาคารรัฐสภาที่เพิ่งเปิดใช้ใหม่ ๆ นั้นเสียก่อน เพราะผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นพอ ๆ กันกับที่จะได้ไปทานกาแฟกับคุณชวน ซึ่งใน พ.ศ. 2550 ที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เคยมา “ตรวจตรา” สถานที่แห่งนี้ ที่ตอนนั้นยังเป็นหน่วยงานของทหาร และเป็นหนึ่งในสี่แห่งที่สภามีมติเลือกเป็นสถานที่ที่จะก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และท้ายที่สุดก็มีการเลือกสถานที่แห่งนี้ รวมถึงในตอนที่มีการประกวดแบบก่อสร้างและนำผลการประกวดไปแสดงที่หอศิลปะกรุงเทพฯ ตรงแยกมาบุญครอง ผู้เขียนก็ได้ไป “ชื่นชม” กับแบบก่อสร้างต่าง ๆ ที่ร่วมประกวด ที่รวมถึง “สัปปายะสภาสถาน” ที่ชนะเลิศการประกวด และมาสู่การก่อสร้างที่ใช้เวลากว่า 8 ปี โดยได้ลงเสาเข็มเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 จนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างแก้ไขงาน แต่ก็ได้มีการเปิดใช้พื้นที่ไปหลายส่วน ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้คงจะไม่ใช่อาคารของรัฐที่ใช้เวลาสร้างนานที่สุดในโลก เพราะตอนนี้ก็มีสถิติว่าเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถ้าเปรียบกับอาคารของรัฐในระดับโลก ก็จะมีขนาดเป็นรองแค่ตึกเพนตากอนของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ความน่าตื่นตาตื่นใจของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้เริ่มตั้งแต่ที่มีการประกาศผลการประกวด และมีการอธิบายแนวคิดของผู้ออกแบบว่า “สถาปนิกได้ออกแบบนำเสนอคติและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของไทยในอดีต ผสมผสานไปกับเทคโนโลยีการก่อสร้าง ภายใต้ระบบโครงสร้างทางสังคมและระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขในปัจจุบัน ผ่านทางรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บนพื้นฐานทางภาษาและฉันทลักษณ์อย่างสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี ตามคติไตรภูมิ ที่นอกจากจะแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณของความเป็นไทย ยังมีความหมายเพื่อให้บุคคลที่เข้ามาอยู่ในสภาสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ” ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนเองต้องเดินทางผ่านบริเวณที่ก่อสร้างรัฐสภานี้อยู่บ่อย ๆ เพราะต้องพาคุณแม่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระ ที่อยู่บนถนนสามเสนนี้เช่นกัน จึงได้เห็นพัฒนาการในช่วงท้าย ๆ ของสถานที่แห่งนี้อยู่โดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวยอดอาคารสีทองอร่ามกำลังใกล้จะเสร็จ มองผาด ๆ นึกว่าเป็นเจดีย์วัด ซึ่งคุณแม่ของผู้เขียนยังต้องยกมือไหว้เวลาที่นั่งรถผ่าน เพราะนึกว่าเป็น “ภูเขาทอง” เสียดายว่าในวันที่ผู้เขียนได้ไปพบคุณชวน หลีกภัย นั้น เขายังไม่อนุญาตให้ปีนขึ้นไปชม จึงได้แต่ยืนมองอยู่ใกล ๆ แต่ก็ชื่นใจมาก เพราะสวยงามติดตาติดใจ ทั้งยังเกิด “สำนึกไทย” อย่างที่ผู้ออกแบบมุ่งหวัง คือมีความรู้สึกคล้ายจะรับรู้ถึงบาปบุญคุณโทษบางอย่าง ซึ่งบรรดาคนที่เข้ามาอยู่ในสถานที่นี้ โดยเฉพาะนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่ามี “หิริโอตตัปปะต่ำ” ก็น่าจะสัมผัสรับรู้ถึงสิ่งที่เขากระทำนั้นด้วยว่า ได้สร้าง “บุญหรือบาป” อะไรขึ้นบ้าง บริเวณภายในอาคารรัฐสภานั้นกว้างขวางใหญ่โตมาก ผู้เขียนจอดรถที่ชั้นจอดรถใต้ดิน ซึ่งมีขนาดเวิ้งว้างกว้างไกล ขนาดสนามฟุตบอลทั้งสนามมาอยู่ใต้รัฐสภานั้น แล้วก็ไปผ่านระบบคัดกรองที่หน้าลิฟท์ ก่อนที่จะขึ้นไปที่โถงด้านหน้า ที่มีเจ้าหน้าที่ของประธานรัฐสภามาคอยรับ จากนั้นก็เดินไปขึ้นลิฟท์ด้านริมแม่น้ำที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งจะเป็นทางที่ขึ้นไปสู่ชั้น ๙ ที่ห้องรับรองของประธานรัฐสภา ระยะทางจากด้านหน้ารัฐสภาไปจนถึงด้านหลังริมแม่น้ำนั้นประมาณว่าเรากำลังเดินข้ามสนามหลวง เล่นเอาเหนื่อยหอบ พอไปถึงก็เข้าไปนั่งในห้องรับรองขนาดเล็ก(คงจะมีหลายห้อง) ขนาดนั่งได้สัก 10-12 คน มองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้เต็มตา ภายในห้องตกแต่งแบบไทยโมเดิร์น คือมีฝ้าเพดาน โคมไฟ และฉากกั้นห้องเป็นแบบไทย ๆ แต่เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งส่วนอื่น ๆ เป็นแบบสมัยใหม่ สักครู่คุณชวนพร้อม ดร.อิสระ ก็เดินเข้ามา ผู้เขียนก็ชมเชยว่าห้องรับรองสวยงาม คุณชวนก็อมยิ้ม(ตรงนี้มีประเด็นซึ่งจะเผยในช่วงท้าย เพราะคุณชวนจะกล่าวถึงคนสร้างและตกแต่งอาคารนี้ได้อย่าง “แสบคม”) แล้วเชิญให้นั่งลง คุณชวนแนะนำผู้เขียนกับ ดร.อิสระ ผู้เขียนก็ยินดีกับ ดร.อิสระ ซึ่งเป็นคนหนุ่ม อายุน้อย และอนาคตไกล แล้วคุณชวนก็ออกตัวก่อนว่า นี่ไม่ใช่การสัมภาษณ์นะ ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องงานที่ท่านทำอยู่ คือโครงการ “บ้านเมืองสุจริต” ที่ท่านได้เชิญผู้เขียนให้เข้ามาช่วยร่วมด้วย (โครงการนี้มีรายละเอียดมาก จึงจะขอยกไปเล่าในอีกสัปดาห์ต่อไป) จากนั้นผู้เขียนก็ถามถึงการทำงานในหน้าที่ประธานรัฐสภา แล้ววกไปคุยเรื่องการเมืองทั้งอดีตและปัจจุบันอยู่เป็นระยะ เช่น สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ซึ่งคุณชวนก็ชมเชยคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันว่า ทำงานได้ดี ทำให้พรรคเข้มแข็ง และน่าจะพาพรรคได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังได้แก้ข้อกล่าวหาจากผู้คนภายนอกว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแต่คนแก่ ๆ เก่า ๆ เพราะปัจจุบันนี้ก็เปิดรับคนรุ่นใหม่มานานแล้ว อย่างเช่นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อย หรือที่กำลังสร้างพรรคในทุกวันนี้ก็เปิดกว้างรับคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ “การสนทนาธรรม” กับคุณชวนนั้นเป็นการสนทนาธรรมจริง ๆ ซึ่งก็คือเรื่องของสิ่งที่เป็นธรรมดาหรือธรรมชาติ ตั้งแต่เรื่องชีวิตของคุณชวนเอง ไปจนถึงชีวิตของบ้านเมือง ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอไปทีละเรื่อง ที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 2 สัปดาห์ จึงจะพอสรุป “ธรรมะ” ที่คุยกับคุณชวนนั้นได้ทั้งหมด ธรรมะที่คุณชวนพูดนั้นเป็นธรรมะที่ไม่ง่ายนัก เพราะจะต้องติดตามการเมืองไปด้วยโดยตลอด อย่างในช่วงหนึ่งผู้เขียนถามว่า คุณชวนหนักใจอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทยบ้างไหม ท่านบอกว่าท่านหนักใจเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงและการทุจริตในการเลือกตั้งนั้นมาก (อันเป็นที่มาของโครงการบ้านเมืองสุจริต) แต่ที่หนักใจที่สุดก็คือ การที่นายทุนมาเล่นการเมืองเสียเอง แล้วท่านก็หันไปมองฝ้าเพดานห้องรับรอง ก่อนที่จะพูดว่า “นี่ใครทำนะ สวยไหมล่ะ” ซึ่งทำให้ผู้เขียนถึงกับสะอึกขึ้นในช่องอกและเจ็บแปล้บมาที่หัวใจ เพราะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภานี้ ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้งของเมื่อวาน ยิ่งผ่านกาลเวลาก็ยิ่งหวานฉ่ำและแสบทรวง