เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit ออสเตรียประกาศล็อคดาวน์ประเทศ 10 วันตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน ถ้าไม่ดีขึ้นจะต่ออีก 10 วัน ถ้าดีขึ้นจะล็อคดาวน์เฉพาะผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน ห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นเรื่องเร่งด่วน ไปซื้ออาหาร ไปพบแพทย์ และตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้าทุกคนต้องฉีดวัคซีน เพราะเป็นกฎหมาย นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ ชาลเลนเบอร์กของออสเตรียบอกว่า สถานการณ์ในออสเตรียวันนี้เป็นวงจรอุบาทว์ (Teufelskreis – vicious circle) ปิด/เปิด ปิด/เปิด เช่นนี้เป็นครั้งที่ 4 เพราะโควิดระลอกที่ 4 ที่กลับมารุนแรง อัตราผู้ติดเชื้อเกินพันต่อประชาแสนคน ปฏิกิริยาของประชาชนก็รุนแรงเหมือนมาตรการ ผู้คนออกไปเดินขบวนหลายหมื่นคนเต็มถนนที่กรุงเวียนนา ต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเผด็จการ แต่ก็แปลก มีทั้งพวกขวาจัด นาซีใหม่ไปร่วมด้วย ออสเตรียเป็นตัวอย่างของความสับสนอลหม่านเรื่องโควิดและวัคซีน และดูจะมีการประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ ตั้งแต่ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี ไปถึงสหรัฐอเมริกา และอื่นๆ มีมาตรการล็อคดาวน์แบบแก่แบบอ่อนต่างๆ ที่ผู้บริหารประเทศอ้างข้อมูลทางวิชาการ การสำรวจ แล้วก็ “ชี้นิ้ว” ไปที่คนไม่วัคซีน ว่าเป็นสาเหตุใหญ่ของการระบาดระลอกใหม่ และจะมีระลอกใหม่ไปเรื่อยถ้าไม่ฉีดวัคซีนกัน “ครบ” แต่ว่า “เท่าไรจึงครบ” ก็เป็นประเด็น และทำความสับสนให้ทั่วโลก เพราะประเทศที่ฉีดครบกว่าร้อยละ 85 อย่างเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ อิสราแอล สิงคโปร์ ทำไมโควิดยังกลับมาระลอกใหม่ และต้องกลับไปมาตรการเดิมที่ยกเลิกไปหมดแล้วอย่างที่เดนมาร์ก หรือที่สิงคโปร์ที่ประกาศจะ “อยู่กับโควิด” โควิด-19 มาตั้งแต่ปลายปี 19 จะครบสองปีแล้ว วัคซีนก็มาจะครบปี ใครๆ ก็คิดว่า หน้าร้อนปีนี้ (2021) โควิดก็ไปแล้ว เพราะมีวัคซีนออกมามากมายหลายยี่ห้อ แต่คาดกันผิดหมด แล้วไปโทษสองอย่าง สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อเดลต้า และคนไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งฟังดูก็มีเหตุผล แต่ก็ไม่มีใครเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซนต์ว่าจะ “เอาอยู่” ได้จริง คนที่ร่ำรวยอยู่บนโศกนาฏกรรมครั้งนี้คงมีแต่บริษัทที่ผลิตวัคซีนและผลิตยาที่เร่งออกมาไม่หยุด เร่งให้ฉีดซ้ำครั้งที่สามที่สี่ ที่ออสเตรีย ที่เยอรมัน และอีกหลายประเทศในยุโรปซึ่งกลับไปใช้มาตรการล็อคดาวน์ระดับต่างๆ อ้างว่า มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกน้อยเกินไปไม่ถึงร้อยละ 70 และเข็มที่สองเพียงร้อยละ 60 เศษเท่านั้น การลดหย่อนมาตรการ โดยเฉพาะ “ระยะห่าง” ที่ปล่อยให้คนมีอิสระในการ “ชุมนุม” กันที่ร้านอาหาร สถานบันเทิง กีฬา และอื่นๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ไม่รู้จบ ที่ผ่านมา ประเทศเหล่านี้ ที่อัตราการติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงสุดอย่างที่ออสเตรียและเยอรมัน รีรอการออกมาตรการเข้มงวดมาตลอด เพราะมีประชาชนส่วนหนึ่งต่อต้าน ปฏิเสธวัคซีน ทั้งๆ ที่มีวัคซีนบริการเพียงพอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมือง การปกครองที่เป็นสหพันธ์สาธารณรัฐอย่างเยอรมัน แต่ละรัฐมีมาตรการแตกต่างกัน มีการลักลั่น และไม่ประสานกัน รัฐหนึ่งเคร่ง รัฐหนึ่งหย่อน ก็ยากที่จะควบคุมได้ เพราะการเดินทางไปมาหาสู่ยังทำได้ปกติ จนต้องออกกฎหมายจากส่วนกลางเพื่อให้เกิดแนวทางร่วม แต่อีกด้านหนึ่งก็เพราะโซเชียลมีเดียที่ส่งต่อข้อมูลทั้งจริงทั้งเท็จ ผู้คนสับสน นี่คือสิ่งที่อังเกลา แมร์เกิลบอกตั้งแต่แรกเริ่มการระบาดว่า “โควิดคือหนามยอกอกประชาธิปไตย” ไม่รู้ว่าจะจัดให้เสรีภาพส่วนบุคคลกับ ความรับผิดชอบส่วนรวม เศรษฐกิจกับสุขภาพ สมดุลกันได้อย่างไร คนเยอรมันกำลังหารือกันว่าจะเอาอย่างออสเตรียไหมเรื่องการบังคับให้ฉีดวัคซีน หรืออย่างน้อยก็เอาอย่างอิตาลีที่เล่นไม้แข็งกับประชากรของตนเองด้วย มาตรการ “กรีนพาสปอร์ต” ที่ดูได้ผล เป็นหนังสือรับรองว่า “ฉีดวัคซีนแล้ว หายแล้ว ตรวจแล้ว” ที่เยอรมันเรียกว่า “3G” ถ้าไม่มีจะเดินทางโดยขนส่งสารสาธารณะไม่ได้ เข้าร้านอาหาร ร้านค้า ไปที่ทำงานไม่ได้ และดูจะเพิ่มพื้นที่และเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ที่อิตาลีมีข้อมูลวิจัยสนับสนุนมาตรการเข้มงวดต่อผู้ไม่ฉีดวัคซีน พบว่าผู้ติดเชื้อใหม่และผู้ป่วยหนักเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ไม่ฉีดซีนมากกว่าคนที่ฉีดถึง 10 เท่า สิงคโปร์ก็มีข้อมูลคล้ายกันจึงกำลังออกมาตรการเข้มงวดว่า ใครไม่ฉีดวัคซีน ถ้าเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลต้องจ่ายเอง ซึ่งแพงมาก โดยเฉพาะถ้าหนักถึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เข้าห้องไอซียู สิงคโปร์บอกว่า คนฉีดวัคซีนครบกว่าร้อยละ 90 แต่โควิดยังระบาด เพราะคนเพียงร้อยละ 7 ไม่ฉีด แต่ติดเชื้อ แพร่เชื้อและเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต เสียงบประมาณอันเป็นภาษีของคนส่วนใหญ่ที่ฉีดวัคซีน ขณะที่บ้านเราเองก็กำลังเร่งการฉีดวัคซีน แต่ปัญหาเศรษฐกิจดูสาหัสกว่าอีก นี่ต่างหากที่รัฐบาลไทยสังคมไทยควรให้ความสำคัญมากกว่า ว่าจะอยู่ในกับดักความคิดเดิมๆ วิถีเดิมๆ เศรษฐกิจเดิมๆ ต่อไป รอให้นักท่องเที่ยวจีนและประเทศต่างๆ กลับมาเที่ยว แต่จาก 40 ล้านเป็นศูนย์ และปีหน้าจะได้ถึงสี่แสนหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เพราะ “วงจรอุบาทว์” ของโควิดกับการเมืองไทยไปด้วยกัน การคาดการณ์แบบคาดหวัง (wishful thinking) คงฝันไปเรื่อย เศรษฐกิจไทยคงไม่ดีไปกว่านี้ เพราะยังคิดด้วยกระบวนทัศน์เก่า ติดกับดักมายแซ็ตเดิม ขณะที่โควิดได้เปลี่ยนโลกไปแล้ว น่าจะถึงเวลาที่ต้องหันมาคิดระบบเศรษฐกิจใหม่ สร้างสังคมใหม่ ที่มีรากฐานที่การเกษตรและการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ให้คนสามารถจัดการชีวิตและทรัพยากรได้ดีกว่านี้ ให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ เพราะโควิดคงอยู่กับเราไปอีกนาน ดูการฉีดวัคซีนก็พอเดาได้ ฉีดกันสองเข็มยังไม่พอ ฉีด 6 เดือนครั้งก็อาจยังไม่พอเช่นกัน แล้วเราจะหวังแต่ให้นักท่องเที่ยวกลับมาทำไม แค่ติดกันไม่กี่ร้อยคน จีนก็ปิดเมืองแล้ว คนไทยคงตายเพราะเศรษฐกิจมากกว่าติดโควิด เพราะวงจรอุบาทว์โควิดยังร้ายแรงน้อยกว่าวงจรอุบาทว์การเมืองไทย ที่ได้แต่แย่งชิงกันรักษาอำนาจมากกว่ารักษาชีวิตของประชาชน