ทวี สุรฤทธิกุล “การเมืองไทยยังคงมีปัญหาการซื้อเสียงรุนแรง วิธีแก้ต้องปลูกฝังปรับความเชื่อความคิด” คุณชวน หลีกภัย พูดประโยคข้างต้นเมื่อผู้เขียนบ่นว่า นักการเมืองสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ดูเหมือนจะหิวแสงและทำตัวน่ารำคาญกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งคุณชวนก็ตอบแบบมองโลกในแง่ดีว่า มันเป็นโอกาสของพวกเขา โลกยุคนี้มันมีสื่อมากมาย คนอยากออกสื่อมีมานานแล้ว แต่ในสมัยก่อนมันมีแค่วิทยุ ทีวี และโทรทัศน์ สมัยนี้มันมีสื่อมาก คนก็เลือกใช้ได้มาก คนดูก็มีทางเลือกมากเช่นกัน แปลความ(ตามความเข้าใจของผู้เขียน)ได้ว่า คนดูก็เลือกดูเอาเอง และคนดูนั่นแหละที่จะเข้าใจเองว่า คนไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร จากนั้นคุณชวนก็พูดปัญหาการเมืองของประเทศไทยว่า ยังคงมีการซื้อเสียงกันมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ที่แต่ก่อนไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้ระบาดหนักและร้ายแรงมาก จนต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ความคิดของคนที่เล่นการเมืองมากว่าครึ่งศตวรรษ (คุณชวนลงเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2512 และเป็น ส.ส.ของจังหวัดตรังมาโดยตลอด ก่อนที่จะมาเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544) ย่อมเป็นสิ่งที่น่าฟัง ในขณะที่อาจารย์ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์มา 34 ปีอย่างผู้เขียน คิดว่าปัญหาการซื้อเสียงในการเลือกตั้งในยุคนี้น่าจะเบาบางลง เพราะมีกฎหมายที่เข้มงวด ร่วมกับการทำงานอย่างเข้มแข็งของ กกต. พร้อมด้วยการตรวจสอบของประชาชนอย่างเข้มข้น มาตั้งแต่ที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น ซึ่งถ้าฟังตามที่คุณชวน “รำพึง” ขึ้นมานี้ก็เห็นจะจริง เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่คาดหวังว่าจะปฏิรูปการเมืองไทยได้ดี ก็ยังถูกนักการเมืองหิวอำนาจ ใช้เงินกวาดต้อนซื้อ ส.ส.เข้ามาอยู่ในพรรคของตน จนเกิดเผด็จการนายทุนขึ้นในสภา และภายใต้ระบบทุนสามานย์นั้น ก็ยังได้สร้างค่านิยมที่ “สุดทุเรศ” ขึ้นในหมู่คนไทย ที่ว่า “รัฐบาลถ้าโกงก็ไม่เป็นไร ถ้าโกงเพื่อประชาชน” นั่นก็คือสิ่งที่นักการเมืองพวกนี้ทำกับประชาชน ซึ่งเมื่อผู้เขียนกลับมานั่งคิดก็เห็นด้วยกับความห่วงใยของคุณชวน เพราะขณะนี้ก็มีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองใหญ่ ๆ บางพรรค ในการกวาดต้อน ส.ส.มาเข้าคอก โดยใช้ “เงินถุง เงินถัง” ออกมาล่อ จึงเป็นสัญญาณว่าน่าจะมีการซื้อเสียงการอย่างมโหฬารในการเลือกตั้งครั้งหน้า และเมื่อกำลังจะกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ยิ่งเชิญชวนให้พรรคเงินหนาเหล่านั้น “ใจกล้าหน้าด้าน” ที่จะทุ่มเทซื้อเสียงในทุกวิถีทาง ก่อนที่จะถึงเรื่อง “ทางแก้การซื้อเสียง” ที่คุณชวนได้จัดทำขึ้น ผู้เขียนได้ถามถึงระบบการเลือกตั้งที่คุณชวนคิดว่าดี คุณชวนบอกว่าชอบระบบการเลือกตั้งแบบ “พวงเล็ก” คือในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้ 2 - 3 คน เพื่อให้ ส.ส.ที่ไม่มีเงิน แต่เป็น “คนดี” ได้มีโอกาสสอดแทรกเข้ามาได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความสบายใจให้กับประชาชนผู้หย่อนบัตร ที่อาจจะต้องถูกบังคับให้เลือกนายทุนเงินหนาหรือผู้มีอิทธิพล ซึ่งในสังคมไทยยังต้องก้มหัวให้กับคนพวกนี้ (เพราะถ้าไม่เลือกคนที่มาซื้อเสียงหรือใช้ข่มขู่ให้ลงคะแนนเหล่านี้ ชาวบ้านก็อาจจะอยู่ในอันตรายหรือมองหน้าคนเหล่านั้นไม่ได้) รวมถึงที่จะเป็นการสร้างนักการเมืองหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับนั้นจะมีมากกว่า(ระบบที่มี ส.ส. 1 เขต 1 คน ซึ่งตรงนี้เป็นความคิดของผู้เขียนเอง) เพราะจะไม่มีพวก “เจ้าที่ - เจ้าพ่อ” มายึดครองพื้นที่เลือกตั้งนั้นไปชั่วลูกชั่วหลาน ผู้เขียนแปลกใจมากที่คุณชวนแม้จะเป็นนักกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้เลือกการใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง นี่ก็คงเป็นด้วยคุณชวนคงเป็นนักคิดแบบ “เซียนเหนือเมฆ” คือมองปัญหาทะลุหลายชั้น และมองเห็นแก่นของปัญหาเหล่านั้น จนรู้อย่างแท้จริงว่า “เมื่อปัญหามันเกิดจากความคิดของผู้คนในสังคม ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับแก้ความคิดเหล่านั้นเสียก่อน” อันเป็นที่มาของโครงการ “บ้านเมืองสุจริต” ที่ได้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐสภา เพื่อให้เป็นโครงการที่จะสร้างความร่วมมือกันในหลาย ๆ ภาคส่วนทั้งประเทศ และให้มีความยั่งยืนเพราะไม่ได้เป็นโครงการเฉพาะกิจ แต่จะต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องด้วยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐสภา ดังที่คุณชวนได้กล่าวถึงโครงการนี้ในการบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ว่า “เกิดจากการที่ตนได้เห็นการเมืองมาเป็นระยะเวลานาน และมีความรู้สึกห่วงใยต่อสภาพความจริงที่เปลี่ยนไปที่มีแนวโน้มในการใช้เงินซื้อเสียงมากขึ้นตามลำดับ หากเป็นเช่นนี้การเมืองก็จะเป็นเรื่องการประมูล ใครให้มากกว่าก็ชนะ ใครให้น้อยกว่าก็แพ้ไป จึงคิดว่าควรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ในปัจจุบันด้วย จึงคิดเรื่องโครงการบ้านเมืองสุจริตขึ้น โดยให้สถาบันพระปกเกล้าเขียนตำราให้ ทั้งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว มีผู้แทนจากที่ประชุมสถาบันการศึกษาทุกระดับทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยมีวัตถุประสงค์ให้องค์กรเหล่านี้เผยแพร่แนวคิดความสุจริต ให้อาจารย์ที่สอนทุกวิชาสอนเรื่องความเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งต้องปลูกฝังให้กับนักเรียน นักศึกษา โดยไม่ต้องมีหลักสูตรใหม่ ไม่ต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ตระหนักว่าความสุจริตจะทำให้บ้านเมืองเรามั่นคง และระบอบประชาธิปไตยอยู่ได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” ผู้เขียนเชื่อว่าความคิดของ “เซียนเหนือเมฆ” อย่างคุณชวน หลีกภัย นี้ น่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี แม้อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง ซึ่งคุณชวนก็บอกว่าไม่ได้หวังผลว่าจะเกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ด้วยความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วน โครงการนี้ก็จะได้รับการสานต่อและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เกิดการแผ่ขยายและผูกพันกันแน่นหนา จนกระทั่งเข้มแข็งและแข็งแรงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในบ้านเมืองของเรานี้ต่อไป โดยเฉพาะการทุจริตในการเลือกตั้ง ที่เป็น “มะเร็งบ้าน โควิดเมือง” ก็จะสูญสลายไป ซึ่งทำให้ผู้เขียนนึกถึง “โคลงพระราชนิพนธ์สุภาษิต” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ว่า ความรู้เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง ปัญญาประดุจดัง อาวุธ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม โครงการนี้เป็นโครงการที่มุ่งสร้าง “ความตระหนักรู้” ถึงพิษภัยของการทุจริต เพื่อสร้างความสุจริตไว้เป็น “เกราะบัง” ภัยอันตรายจากการทุจริตเหล่านั้น และเมื่อนั้นสังคมก็จะเกิด “เครือข่ายทางปัญญา” เป็นอาวุธเพื่อการทำลายการทุจริต ทั้งนี้จะต้องทำด้วย “สติ” คือ “ความรู้คิดรู้ทำ” ที่จะสามารถเอาชนะศึกได้ทุกศึกของพวกนักการเมืองชั่ว ๆ ทั้งหลายนั้น สัปดาห์หน้าจะมาพูดถึงอนาคตของการเมืองไทยในสายตาคุณชวน ซึ่งก็แน่นอนว่า เมื่อ “เซียนเหนือเมฆ” มองการเมืองไทย ก็น่าจะมีอะไรที่น่าสนใจพอสมควร ที่สำคัญอาจจะ “บาดลึก” เข้าไปในตัวใครต่อใคร ตามสไตล์ “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ของนักการเมืองที่ชื่อว่า “ขวน หลีกภัย” ผู้นี้