เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit โอไมครอนมาแล้ว โควิดสายพันธุ์ใหม่ ทำเอาวุ่นวายไปทั้งโลกอีกรอบ เดลตามาจากอินเดีย โอไมครอนมาจากแอฟริกาใต้ เห็นแล้วว่า ถ้าประเทศร่ำรวยเอาแต่ได้ เอาวัคซีนไปจนล้น ปล่อยให้ประเทศยากจนไม่ได้รับวัคซีน สุดท้ายภัยก็วกมาถึงตัวเอง เพราะนี่คือโรคสากล โลกาภิวัตน์ แอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนไปเพียงร้อยละ 24 ของประชากร คองโกประชาธิปไตยฉีดไปร้อยละ 0.1 ประเทศอื่นๆ ก็คงไม่ต้องพูดถึง แล้วทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ จึงไม่พุ่งสูงเหมือนในทวีปอื่นๆ ที่ติดกันมากก็มีเพียงแอฟริกาใต้ที่ติดเกือบ 3 ล้านคน ตาย 9 หมื่น ประเทศแอฟริกาเหนือบางประเทศก็เกือบล้าน แต่ประเทศแอฟริกาตะวันตกตะวันออกผิวดำติดไม่มาก อย่างไนจีเรียมีประชากร 213 ล้านคน ติดเพียง 210,000 คนเท่านั้น ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ยากจน ระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้พัฒนานัก นักระบาดวิทยาบอกว่า คงเป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีประชากรที่อายุยังน้อย ไม่มีคนชราอายุเกิน 60 มากเหมือนในทวีปอื่น พวกเขามีมาตรการป้องกันโควิดเหมือนกัน แต่ในเมืองใหญ่เท่านั้น ชนบทส่วนใหญ่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างไรก็ดี ผลการประเมินอย่างรวดเร็วที่ประเทศคาเมรูนและเผยแพร่เป็นสารคดีของฝรั่งเศสน่าสนใจมาก ประเทศคาเมรูน ที่มีประชากร 27 ล้านคน ติดเชื้อ 1 แสน ตาย 1,800 ฉีดวัคซีนข้อมูลวันที่ 28 พฤศจิกายนเพียง 2% เท่านั้น ประเทศนี้มีระบบสาธารณสุขที่ยังพึ่งพาหมอยาพื้นบ้าน วิธีรักษาด้วยสมุนไพร รวมไปถึงวิธีการแบบไสยศาสตร์ ถ้าศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกก็มีพิธีสวดมนต์ แห่แม่พระไปตามถนนในเมืองเพื่อขอให้แม่พระช่วยคุ้มครองรักษา แต่เวลาเดียวกัน ผู้นำศาสนาก็หาวิธีพัฒนายาสมุนไพรจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน และทำการแจกจ่ายให้ชาวบ้านทั่วไปนำไปรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็มีคนที่นำไปรักษาโรคติดเชื้ออื่นอย่างไข้หวัดใหญ่ บางคนก็เอาไปใช้บอกว่าเพื่อป้องกันการติดเชื้อ สารคดีมีข้อมูลและภาพที่แพทย์สมัยใหม่หลายคนพัฒนายาสมุนไพรและตำรายาพื้นบ้านเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ ซึ่งระบบสาธารณสุขของคาเมรูนก็ไม่ได้มีมาตรกรควบคุมตรวจสอบเคร่งครัด อาจเป็นเพราะถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ยารักษาโรคนี้ยังไม่มี สถานการณ์โควิดทั่วโลกสับสน และเริ่มโกลาหลเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ และมีสายพันธุ์มาเพิ่มอีก ด้านหนึ่งก็ปลอบใจตัวเองว่า การกลายพันธุ์มองด้านบวก ไม่นานมันก็ตายไปเอง เพราะพันธุ์มันจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ทฤษฎีไหน อีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิตวัคซีนก็บอกว่า ไม่เป็นไร แค่ 100 วันก็ปรับประสิทธิภาพของวัคซีนให้รับมือกับโอไมครอนหรือตัวใหม่ไหนก็ได้ นับเป็นการท้าทายมฤตยู แต่ที่เห็นในสารคดีคือปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมาจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ที่ประเทศต่างๆ ปิดการติดต่อกับแอฟริกาใต้และประเทศใกล้เคียงอย่างนามีเบีย ซิมบับเว เลโซโท ถูกห้ามติดต่อทางการบินกับประเทศยุโรป อเมริกา และเอเชีย หรือไม่ก็มีมาตรการเข้มงวดกักตัว 14 วันผู้เดินทางเข้าประเทศของตน คนที่ทำธุรกิจการท่องเที่ยวโอดครวญว่า ลำบากมาสองปีแล้ว นึกว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ตอนนี้กลับไปตั้งต้นใหม่ ปิดประเทศ ปิดโลกอีกแล้ว แล้วเราจะอยู่อย่างไร ธรรมชาติกำลังสั่งสอนมนุษย์ที่อหังการว่า มีวัคซีน มียาก็จัดการกับโรคติดต่อได้ ไวรัสกำลังให้บทเรียนว่า คนที่ถูกเรียกว่าด้อยพัฒนาอย่างแอฟริกันดูจะรับมือกับโรคระบาดได้ดีกว่า ไม่ใช่เพราะมีวัคซีนหรือมียาสมัยใหม่อะไร แต่เพราะอาศัยภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่น วิถีชีวิตการกินการอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ทำร้ายทำลายธรรมชาติ แม้ว่าทุนนิยมจะรุกเข้าไปมากแล้ว และเจ้าอาณานิคมก็ขนไปก่อนนี้มากแล้วด้วย ขณะที่ประเทศประชาธิปไตย กึ่งประชาธิปไตยทั้งหลายที่อ้างว่าพัฒนาแล้ว ผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปแล้วหรือกำลังดิ้นรนออกไปให้ได้ กลับโดนกับดักไวรัสและโรคร้ายหลายชนิด มากกว่า “คนจน” ในประเทศด้อยพัฒนารายได้ต่ำ ประเทศไทยดูถูกภูมิปัญญาตนเอง ดูถูกสมุนไพร การรักษาพื้นบ้าน ทุกวันมีแต่ข่าวเรื่องวัคซีน เรื่องยานั่นยานี่ที่บริษัทประกาศออกมาให้คนตื่นเต้น สุดท้ายกลับบอกว่า ได้ผลนิดเดียวแค่ 30% ก็มี จะไม่เรียกว่าสับสนอลหม่านได้อย่างไร ขณะที่ฟ้าทะลายโจรก็ดี เครื่องเทศสมุนไพรไทยๆ ที่ชาวบ้านใช้อย่างมีประสิทธิภาพกลับไม่มีใครสนใจพูดถึง ไม่มีการส่งเสริมการใช้และการพัฒนาอย่างจริงจัง ที่สำคัญ ไม่มีการพูดถึงการดูแลสุขภาพด้วยตนเองให้มาก ถ้าหากผู้ติดเชื้อทั่วโลก 98% ไม่มีอาการรุนแรง ไม่ใช่เพราะได้วัคซีนหรือได้ยา แต่เพราะมีภูมิคุ้มกันดี ด้วยสุขภาพดี มีเพียง 2% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต แล้วทำไมไม่มีการพูดถึงว่า 98% มีสุขภาพดีด้วยการดูแลตัวเองอย่างไร จะส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้พึ่งพาตนเองด้วยการจัดการเรื่องการกินการอยู่ได้อย่างไร ไม่ใช่ได้แต่ท่องสูตรสวมหน้ากาก ถือระยะห่าง ล้างมือ ฉีดวัคซีน ซึ่งแม้แต่ฉีดแล้วก็ยังติด ยังแพร่เชื้อได้ ยังป่วยได้ นี่จะเข็มที่ 3 ที่ 4 และอาจจะไป 5 ไป 6 เพราะ 6 เดือนก็เสื่อมแล้ว นายเจสัน ลูอิส ชาวอังกฤษ เดินทาง 13 ปีรอบโลกโดยใช้แรงกายแรงขาเป็นหลัก เดิน ปั่นจักรยาน พายเรือ เขาผ่านมาเมืองไทย ประทับใจวิถีชีวิตชาวเลที่พังงา หนึ่งในที่ที่เขาอยากกลับมาเยี่ยมเยียนอีก เขาบอกว่า “เราสามารถเรียนรู้เรื่องดีๆ จากสิ่งที่พวกเขาทำมานานแล้ว ถ้าเรานำบทเรียนดังกล่าวมาเล่าให้เด็กนักเรียนบ้านเรา หรือนำเด็กบางคนไปเรียนรู้ถึงถิ่น น่าจะช่วยให้เราเข้าใจดีขึ้นว่า เราควรต้องทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่ทำกันวันนี้เพื่อจะได้มีอนาคตที่ยั่งยืน” “บางทีเผ่าพันธุ์ของเราในโลกใบนี้น่าจะอยู่รอดได้ในอนาคตด้วยความรู้ที่เรามีอยู่แล้วแต่ได้ลืมไป”