เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit ตลาด “นักปั่น” อาจจะดันให้บอนสีราคาต้นเป็นล้าน แต่จะอยู่ได้นานเท่าไร สู้บอนโบราณที่ปู่ย่าตายายเรากินกันมาเป็นร้อยปี มูลค่านับไม่ถ้วนได้หรือ ใครไม่เคยกินแกงบอนแบบพื้นบ้านอีสาน ใส่น้ำปลาร้ารสนัวก็ไม่รู้ว่าอร่อยเพียงใด อีก “ผำ” ไข่มรกตในน้ำใสประกายงามยิ่งกว่าไข่ปลาคาเวียร์ ที่คนอีสานคนเหนือกินเป็นอาหารมานับพันปี ที่ก่อนนี้ถูกดูถูกว่าอาหารคนจน วันนี้กำลังถูก “ปั่น” ให้เป็นซูเปอร์ฟู้ดจากกระทรวงเกษตรฯ นอกจากเป็นอาหารพิเศษในประเทศแล้ว ยังถูกผลักให้เป็นดาราแนวหน้าในตลาดต่างประเทศอีกด้วย ยังมี “เทา” หรือสาหร่ายน้ำจืดที่คนอีสานคนเหนือคุ้นเคยมานาน แต่ระยะหลังหากินยากแล้ว เพราะน้ำเน่าน้ำเสีย เทาไม่อาจเกิดได้ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการน้ำสะอาดที่ให้ชีวิต แต่ถ้าที่ใดยังพอหาได้ก็ได้เห็น “ลาบเทา” อาหารวิเศษที่กินแล้วอาจระลึกชาติได้ ใครยังไม่เคยกินทูนหรือคูนกับส้มตำก็ควรได้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะใส่พริกกี่เม็ด เผ็ดเพียงใด ทูนเจ้าก็ดูดพิษร้อนได้ไม่เหลือ แล้วยังเอามาแกงทำอาหารต่างๆ ได้อีก ที่ได้บุกเบิกทางมาก่อนหลายปีก็คือ “บุก” ที่มีสรรพคุณเป็นเลิศว่าลดน้ำตาล เบาหวาน ไขมัน ความดัน อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ เป็นเส้นแทนก๋วยเตี๋ยว เป็นแป้งทำขนมหม้อแกงเป็นอาหารสุขภาพได้ดีเยี่ยม ยังมีบรรดาหัวที่อยู่ในดินอีกมากมาย ไม่ว่าเผือก มัน กลอย ที่บรรพบุรุษกินแทนข้าวในยามข้าวยากหมากแพง ฝนแล้งน้ำท่วม ซึ่งไม่ได้ทำให้อิ่มท้องอย่างเดียว แต่เต็มไปด้วยสรรพคุณอาหารที่โปรโมตให้เป็นซูเปอร์ฟู้ดได้ด้วยเทคโนโลยีและการตลาดในยุคดิจิทัล ไม่แพ้ “ผำ” หรืออะไรที่ไปขุดมาจากภูมิปัญญา แล้วบรรดาผักต่างๆ ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเราเคยนำมาเป็นอาหาร เป็นเครื่องเคียง เครื่องเทศ เป็นยา สารพัดชนิด ต้องให้ฝรั่งญี่ปุ่นวิจัยแล้วไปจดสิทธิบัตร เราคนไทยถึงได้ตื่นจากหลับของความไม่รู้ ดูถูกภูมิปัญญาตนเองแบบสายเกินไป ไม่ว่าเปล้าน้อย กวาวเครือขาว หรือเห็ดรักษามะเร็งที่เคยมีมากมายในป่าเหนืออีสาน ถูกต่างชาติเก็บไปวิจัยทำยาไม่เหลือ จะน่าเสียดายถ้าหากผักเชียงดา ราชินีผักภาคเหนือที่ลดน้ำตาลอย่างวิเศษ ผักเหรียง ราชินีผักภาคใต้ที่มีสรรพคุณอาหารที่ไม่ว่าผักฝรั่งหรือไทยต้องชิดซ้ายให้ ใบหญ้านางที่ “ฆ่า” กรดยูริกในหน่อไม้และยอดผัก ทำให้คนกินได้ไม่เจ็บข้อเจ็บเข่า อันเป็นผลงานวิจัยหนึ่งในน้อยชิ้นของมหาวิทยาลัยไทย เหล่านี้ต้องถูกนำไปจดสิทธิบัตรเป็นของต่างชาติ เพราะ “เจ้าของบ้านเดิม” ไม่ส่งเสริมการวิจัยให้ถึงที่สุด พอใจแต่ในภูมิปัญญา แต่ไม่ใส่ใจในลิขสิทธิทางปัญญา ในโลกาภิวัตน์แห่งทุนนิยม ที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา โลกวันนี้หมุนกลับ กลับไปหาของโบราณ เราจึงเห็นอะไรก็โบราณไปหมด เป็นแบรนด์ที่ขายดี ไม่ได้มีแต่ก๋วยเตี๋ยวโบราณ ลูกชิ้นปลาโบราณ ขนมโบราณ ไอศกรีมโบราณ แต่อาหารหวานคาวของทุกภาคเริ่มปรากฏในเมนูร้านเมืองกรุงและภูมิภาคอย่างน่าตื่นเต้น นับได้เป็นร้อยๆ รายการ ด้วยชื่อที่คนสมัยนี้ไม่เคยได้ยิน แต่เมื่อได้ลิ้มลองแล้วล้วนติดใจ เพราะอร่อยด้วยฝีมือในร้านที่มักมีชื่อให้เครดิตบรรพบุรุษ “ครัวคุณย่า” “สูตรคุณยาย” แล้วจะแปลกอะไรถ้าหาก CNN จะยกให้มัสมั่นไทยเป็นอาหารยอดนิยมอันดับหนึ่งมาหลายปีไม่มีหลุดตำแหน่ง แล้วมิชลินจะชอบให้ดาวร้านอาหารที่มีสูตรโบราณ รสชาติกลมกล่อมด้วยฝีมือ ศิลปะแห่งความเรียบง่ายของการปรุงอาหาร ที่สืบสานมาจากปู่ย่าตายาย โลกวันนี้ใส่ใจสุขภาพ รู้แล้วว่า สุขภาพจะดีหรือไม่อยู่ที่อาหารการกิน “คุณกินอะไรก็ได้อันนั้น” ฝรั่งบอก หมอองค์รวมจึงสอนว่า กินอาหารเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร กินอาหารขยะก็ได้ขยะ ที่วิเศษที่สุด คือ ข้าวพื้นเมืองของไทยที่มีสรรพคุณเป็นยา สร้างเสริมสุขภาพ เพิ่มภูมิต้านทาน ฟื้นฟูดูแลคนเจ็บคนป่วยให้แข็งแรง คนโบราณจึงให้คนป่วยทานข้าวต้ม ซึ่งเป็นข้าวซ้อมมือ มีสารอาหารมากกว่าข้าวขัดขาวทุกวันนี้ ที่ของดีเอาไปให้หมู ข้าวสังข์หยด ข้าวหน่วยเขือ ข้าวก่ำ ข้าวเล้าแตก ข้าวลืมผัว ข้าวสินเหล็ก ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวเล็บนก และอื่นๆ รวมไปถึงที่ผสมกันไปมาได้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ฟังชื่อก็ขายได้แล้ว เครดิตให้นักการตลาด วันนี้มีหลายบริษัทที่เดินหน้าแปรรูปข้าวเป็นยาที่เพิ่มมูลค่าให้ข้าวพื้นเมืองมหาศาล อันนี้ต่างหากที่เป็นซูเปอร์ฟู้ดตัวจริง และน่าจะยั่งยืนยิ่งกว่าพืชผักใดๆ เพราะเป็นอะไรที่คนในโลกส่วนใหญ่รับประทาน กระทรวงเกษตรฯจึงไม่ควรไปส่งเสริมแค่ “ผำ” ให้เป็นซูเปอร์ฟู้ด แต่ควรให้ความสใจ “ข้าวไทย” ให้มากที่สุด เพราะจะแก้ปัญหาชาวนาในระยะยาวได้ยั่งยืน วางแผนวางยุทธศาสตร์ข้าวอินทรีย์ ข้าวโบราณให้ชัดเจนด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ให้เขานินทาแต่เรื่องผลประโยชน์กับนายทุนสารเคมี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การปลูก ชาวบ้านพร้อมที่จะปลูกถ้าได้ราคาดี มีตลาดรองรับจริง ซึ่งรัฐที่มีนโยบายและเจตจำนงทางการเมืองแนวแน่สามารถทำได้ ที่สำคัญ การส่งเสริมการวิจัยพืชพันธุ์ธัญญาหารพื้นบ้านของไทยยีงมีน้อยเกินไป ตามสื่อโซเชียล เห็นแต่อาหาร ผักผลไม้ฝรั่ง แทบจะไม่เห็นการนำเสนอผลการวิจัยอาหารไทย ผักผลไม้ไทย ไม่ต้องพูดถึงการส่งเสริมของดีที่ภูมิปัญญาส่งต่อกันมา อย่างผลไม้พื้นบ้าน ผลไม้ป่าที่หายไป บางอย่างได้กลับมาเพราะการฟื้นฟูของชุมชน อย่างหมากเม่าที่ภูพาน สกลนคร ผลงานของเครือข่ายอินแปงกับสถาบันราชมงคล ที่ทำให้แพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ ทำอย่างไรผลไม้ป่าผลไม้บ้านอีกร้อยแปดจึงจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุน เพราะทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นซูเปอร์ฟู้ด โควิดกลายพันธุ์ จนวัคซีนตามไม่ทัน แทนที่จะรอแต่วัคซีน ทำไมเราไม่ส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยบรรดาซูเปอร์ฟู้ดจากภูมิปัญญาให้มากกว่าแค่ “ผำ”