รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คนไทยเดินทางท่องเที่ยวลดลงในทุกภูมิภาคของประเทศ สาเหตุหลักคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวที่ผ่านมา สะท้อนได้จากตัวเลขสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก คือ - ปี 2562 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 166.84 ล้านคน-ครั้ง ลดลงร้อยละ 0.06 ทำรายได้ราว 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.18 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา -ปี 2563 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 90.56 ล้านคน-ครั้ง ลดลงร้อยละ 47.58 ทำรายได้ราว 04.8 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 55.40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา -ล่าสุดเดือนตุลาคมปี 2564 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 3.70 ล้านคน-ครั้ง ลดลงร้อยละ 66.64 ทำรายได้ราว 1.04 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 78.03 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่ศูนย์ “Set zero” และตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวพลิกกับมาสดใสอีกครั้ง ได้แก่ หน่วยงานและกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบคมนาคมและแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าการท่องเที่ยวไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำที่สุดมาแล้วหลังจากเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 การท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยจะมากขึ้นเท่าใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยประเมินภาพอนาคตการท่องเที่ยวของคนไทยไว้ 3 กรณีจากดีที่สุดไปแย่ที่สุด คือ กรณีที่ 1 (ดีที่สุด) คนไทยจะท่องเที่ยวในประเทศราว 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 8.5 แสนล้านบาท กรณีที่ 2 (ปานกลาง) คนไทยจะท่องเที่ยวในประเทศราว 140 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7.8 แสนล้านบาท กรณีที่ 3 (แย่ที่สุด) คนไทยจะท่องเที่ยวในประเทศราว 122 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 6.8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คนไทยจะใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศราว 4,900 บาทต่อคน การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วและช่วยฉุดจีดีพีของประเทศให้ดีขึ้น ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับโควิด-19 หรือการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ เช่น แผนป้องกันโควิด-19 สร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 กับประชาชนอย่างทั่วถึงตามแผนครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และส่งผลกระทบอย่างสาหัสให้กับผู้คนเป็นจำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องในระยะ 2-3 ปีมานี้ แต่การท่องเที่ยวยังคงเป็นหัวใจหลักที่จะต่อลมหายใจและความหวัง ตลอดจนส่งความสุขในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวส่งท้ายปี 2021 เพราะการเดินทางท่องเที่ยวนั้นช่วยเติมเต็มชีวิตมนุษย์ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ที่สัมผัสได้จริง สร้างความรื่นเริง หรรษา เบิกบานใจ และทำให้สุขภาพแข็งแรง เพื่อเป็นการสะท้อนถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยช่วงส่งท้ายปีเก่า 2021 และต้อนรับปีใหม่ 2022 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้ายปี 2021” โดยมีข้อคำถามที่โดนใจหลายข้อ เช่น คนไทยยังกล้าไปท่องเที่ยวกันหรือไม่ ความเสี่ยงหรือความกลัวจากการท่องเที่ยวคืออะไรบ้าง เตรียมเงินใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเท่าใด เดินทางไปท่องเที่ยวอย่างไร อยากให้ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวอะไรบ้าง ฯลฯ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนี้คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนและตัดสินใจในอนาคต และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ฉายภาพพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโปรดพลิกและคลิกย้อนดู ผลสำรวจ “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้ายปี 2020” ที่พบว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจของคนไทยคือ เที่ยวอย่างระมัดระวังตัวมากขึ้น ไม่ไปเที่ยวในที่คนพลุกพล่าน และเลือกสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น จังหวัดที่ตั้งใจจะไปเที่ยวมากที่สุดคือ เชียงใหม่ ตามติดด้วยกรุงเทพฯ ชลบุรี น่าน และเชียงราย ตามลำดับ ส่วนสิ่งที่จะกระทบกับการวางแผนการท่องเที่ยวมากที่สุดคือ โควิด-19 เป็นต้น ส่วนผลการสำรวจในปีนี้ พฤติกรรรมการท่องเที่ยวของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือเหมือนเดิม โปรดติดตามต่อไปครับ...