ทวี สุรฤทธิกุล การซื้อเสียงในการเลือกตั้งอาจจะเป็นอดีตด้วยวิธีการทางดิจิทัลในโลกยุคใหม่ มีคนล้อเลียนว่า คณะกรรมการเลือกตั้งหรือ กกต. น่าจะเรียกว่า “ก้าวไปกับเต่า” เพราะดูไม่ค่อยพัฒนาอะไรมากในทางที่จะแก้ปัญหาการเลือกตั้ง ยังคงก้มหน้าก้มตาไปยุ่งกับงานธุรการและงานด้านกฎหมายเป็นหลัก โดยไม่ได้เงยหน้ามาดูชาวบ้านเขาเลยว่า โลกนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ลำพังงานด้านธุรการและกฎหมาย(ที่หมายถึงการควบคุมการเลือกตั้งด้วยงานเอกสารและระเบียบทางกฎหมายเป็นหลัก) ก็ไม่เพียงแต่จะทำให้ทั้ง กกต.และพรรคการเมืองต่าง ๆ มีภาระเหนื่อยยากหยุมหยิมจนไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว แต่ยังแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ “ล้าหลัง” ไม่ปรับตัว และส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยให้ล้าหลังตามไปด้วย ก็ด้วยความไม่ทันเกมและปรับตัวไม่ทันโลกยุคใหม่ของ กกต.นี่เอง ผู้เขียนจำได้ว่า ในตอนที่ “กกต.ยุคใหม่” ได้จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และเป็นความหวังว่าจะได้เข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้งให้ดีขึ้น ขณะนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ได้จัดให้มีการอภิปรายในเรื่องการเลือกตั้งกับการปฏิรูปการเมือง โดยได้เน้นไปที่การแก้ปัญหาการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง วิทยากรท่านหนึ่งที่เป็นนักการเมืองมืออาชีพ ได้เล่าประสบการณ์ของท่านว่า การซื้อเสียงกำลังเปลี่ยนรูปแบบไป คือแทนที่จะเดินเอาเงินไปแจกตามบ้าน หรือผ่านระบบหัวคะแนน เขาทราบว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนใช้การโอนเงินผ่านธนาคาร รวมถึงที่มีการซื้อประกันชีวิต หรือการจ่ายเงินผ่านการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ด้วย เช่น การวางมัดจำซื้อขายรถปิ๊กอัพให้หัวคะแนน จนถึงซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แม่บ้าน ต่อมาในตอนที่มีการเลือกตั้งก็ได้มีการซื้อเสียงแบบนั้นจริง ๆ รวมถึงการจ่ายเงินผ่านการซื้อของจากชาวบ้านโดยตรง เช่น ซื้อไก่ตัวละ 400 บาท(ทั้งที่ไก่จริง ๆ ตัวละไม่ถึง 100 บาท) โดยมีความหมายว่าซื้อเสียง ๆ ละ 500 บาท ดังนั้นถ้าบ้านใดมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 3 คน ก็จะบอกว่าขอซื้อไก่ 3 ตัว แล้วก็มีการจ่ายเงินให้บ้านนั้น 1,500 บาท ซึ่งเป็นข่าวฮือฮาอยู่พักใหญ่ โดยที่ กกต.ในสมัยนั้นไม่ได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งแต่อย่างใดเลย แต่จะมาตามเอาเรื่องและแก้ปัญหาจากข่าวสารที่ปรากฏ หรือ “ตามล้างตามเช็ด” เอาภายหลัง ซึ่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง กกต.ก็จะทำงานในลักษณะนั้น การซื้อเสียงในการเลือกตั้งในโลกยุคใหม่น่าจะทำได้สะดวกและ “ปลอดภัย” กว่าการโอนเงินในยุคแก่อน เพราะมีแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย ซึ่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาก็มีข่าวว่ามีการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่น่าเชื่อได้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการซื้อเสียงอยู่ด้วย นักกฎหมายบางคนบอกว่า คงไปจัดการกับธุรกรรมในลักษณะนั้นได้ยาก เพราะไม่ใช่เพียงแต่จะมีจำนวนมหาศาลแล้ว แต่ยังมีกฎหมายทางธุรกิจคุ้มครองอยู่ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องข้อมูลอีเล็คทรอนิคที่มีความยุ่งยากในการแยกแยะว่าอะไรทุจริต รวมถึงที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ซึ่งหน่วยงานอย่าง กกต.คงไม่มีปัญญาไปตรวจสอบ ดังนั้นการทุจริตผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ จึงต้องหาหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ เพื่อจับให้ได้ “คาหนังคาเขา” เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าของที่ยังหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ถ้าหากเรามามองว่า การซื้อเสียงนี้เป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของประเทศ เหมือนกับภัยด้านความมั่นคง เพราะการซื้อเสียงทำให้ได้นักการเมืองขี้โกงเข้ามบริหารประเทศ เท่ากับว่าเราเลือกเอาคนเลว ๆ เหล่านั้นเข้ามาบ่อนทำลายประเทศ เราก็น่าจะมีการสร้างเครื่องมือ “แรง ๆ” เพื่อสู้กับปัญหานั้น อย่างที่เรื่องความมั่นคงนั้นมีพระราชกำหนดในภาวะฉุกเฉินเป็นต้น ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราน่าจะต้องมีการควบคุมทางการเงินอย่าง “แข็งกร้าว” โดยมีผู้เสนอว่า กกต.อาจจะต้องสร้างแอปพลิเคชั่นที่มีลักษณะที่เป็นการ “ควบคุมเฉพาะ” สมมุติชื่อว่า “กกต.เปย์” โดยให้ผู้สมัครแต่ละคน รวมถึงพรรคการเมือง ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เปิดบัญชีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้กับ กกต.ในแอปนี้ โดยการใช้จ่ายต่าง ๆ ของผู้สมัครและพรรคการเมืองในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะต้องกระทำผ่านแอปนี้เท่านั้น ซึ่งก็จะช่วยให้ กกต.ทราบว่ามีการใช้จ่ายเงินอะไรอย่างไร แต่ที่สำคัญจะช่วยลดงานด้านธุรการได้เป็นอย่างมาก เพราะในแอปนี้จะมีเครื่องมือที่ช่วยในการจัดทำบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของ กกต.พร้อมสรรพ รวมถึงการตรวจสอบตามกฎหมาย เช่น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งของผู้สมัครแต่ละคน จะมีการกำหนดวงเงินให้ และสามารถใช้อะไรได้บ้าง เหล่านี้ก็จะทำให้ทุกอย่างโปร่งใส และถ้าจะให้ดีก็ควรจะเปิดเผยสู่สาธารณะด้วย เพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบ อันเป็นสิทธิหน้าที่ของประชาชนที่รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่การร่วมตรวจสอบในกระบวนการเลือกตั้งนี้อยู่ด้วย ที่สำคัญคือ “ความเป็นเจ้าของพรรค” ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นี้ วิธีการแบบนี้เปรียบได้กับ การที่ให้แต่ละพรรคเอา “ตุ่มน้ำ” ซึ่งก็คือแหล่งเก็บรายได้ของผู้สมัครและพรรคการเมือง ออกมาวางไว้ที่ข้างนอกบ้าน น้ำฝนหรือใครเอาน้ำมาเติมตรงไหน เมื่อไหร่ เท่าไหร่ ก็มองเห็น แล้วก็ควบคุมให้เปิดก๊อกน้ำแต่เพียงเท่าที่จำเป็นหรือสมควรต้องใช้ ซึ่งก็จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยตลอดเช่นกัน อย่างนี้แล้วและด้วยกฎหมายที่ออกมาใช้เป็นพิเศษสำหรับเปิดปิดก๊อกน้ำนี้ ก็จะเหมือนกับการเอากิจกรรมต่าง ๆ มาวางไว้ในที่แจ้ง การแข่งขันในการเลือกตั้งก็จะ “สุจริตและเที่ยงธรรม” อย่างที่ กกต.ต้องการ การเมืองไทยก็จะใสสว่าง แต่ที่สำคัญพวกคนที่มุ่งหวังจะใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงต่าง ๆ ก็จะทำได้ยาก (คือต้องไปแบบทำที่อื่น หรือวิธีอื่น ซึ่งก็คงจะทำได้ แต่ก็จะเสี่ยงต่อการถูกจับผิด และเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้ง่ายมากขึ้น) ถ้อยคำที่พูดกันว่า พรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนโน้นคนนี้มีเงินอู้ฟู่เพราะมี “ท่อน้ำเลี้ยง” ก็จะมีความยากลำบากมากขึ้น และ กกต.ก็คงไม่ยอมให้ใครแอบต่อท่อน้ำเลี้ยงเข้ามาได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถประยุกต์ใช้แอปพลิเคชั่นแบบเดียวกันนี้ ควบคุมการใช้จ่ายเงินขององค์การสาธารณะต่าง ๆ เช่น NGO หรือมูลนิธิ สมาคม และองค์กรการกุศลทั้งหลาย ซึ่งก็มีข่าวว่าบางองค์กรนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้นด้วยก็ได้ เพราะเผด็จการนี้ต้องสู้กับภัยทางความมั่นคงทุกชนิด ไหน ๆ ก็เป็นเผด็จการมาจนถึงขั้นนี้แล้ว จะเป็นถึง “เผด็จการดิจิตอล” ต่อไปคงไม่เป็นไร