ทวี สุรฤทธิกุล ถ้า ดร.พี่เอ้ ได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร อนาคตพรรคประชาธิปัตย์อาจพลิกฟื้น พรรคประชาธิปัตย์แต่แรกเริ่มใน พ.ศ. 2490 นั้น เป็นพรรคของคนกรุงเทพฯ อันเนื่องด้วยบุคคลที่ลงสมัครในนามของพรรคในยุคนั้น ล้วนแต่เป็น “คนดัง” หรือ “เซเลบ” ที่เด่นดังกันอยู่ในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลักของยุคนั้น เช่น นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เลขาธิการพรรค เป็นต้น รวมถึงในต่างจังหวัด ที่ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ก็มักจะได้รับการเลือกตั้งในเขตเมือง หรือในเขตที่มีความเจริญในแต่ละจังหวัดนั้น เพราะมีหนังสือพิมพ์ส่งไปถึง รวมทั้งคนในเมืองก็จะมีฐานะดีกว่าคนที่อยู่นอกเมือง จึงสามารถซื้อหาวิทยุมาฟังได้ ซึ่งคนดังเหล่านั้นก็จะมีข่าวอยู่บ่อย ๆ คนในเมืองจึงได้สัมผัสข่าวสารเกี่ยวกับคนดังเหล่านี้อยู่เสมอ รวมทั้งที่คนในเมืองมักจะชอบจับกลุ่มสนทนาเกี่ยวกับข่าวสารต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น ในร้านกาแฟ โดยภูมิภาคที่มีกิจกรรมแบบนี้มากก็คือในจังหวัดทางภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ได้เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่สำคัญในยุคต่อมา แต่ในยุคหลังเมื่อมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ ขึ้นมา และปัญหาการโยกย้ายถ่ายเทผู้คนในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียฐานเสียงในเมืองไปค่อนข้างมาก ไม่เว้นแม้แต่ในภาคใต้ที่ในการเลือกตั้งครั้งหลัง ๆ ก็สูญเสียที่นั่งให้กับพรรคอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือ การเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่หรือการเข้ามาของผู้สมัครหน้าใหม่ค่อนข้างจะทำได้ยาก เนื่องจากในแต่ละเขตเลือกตั้งมักจะมี “เจ้าที่ เจ้าถิ่น” ครองพื้นที่เลือกตั้งนั้นอยู่อย่างยาวนาน แต่ในภายหลังที่มีคนรุ่นใหม่อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาใน พ.ศ. 2538 ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พลิกฟื้นขึ้นมาอยู่ช่วงหนึ่ง จนถึงภายหลังที่นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2554 ก็น่าจะเป็นจุดสูงสุดของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหลัง แต่แล้วเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้มาร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังถอยไปสู่วังวนของความตกต่ำ เช่น การแยกตัวออกไปของ “ดาวดัง” หลาย ๆ คน รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างกลุ่มนิวเดม ก็ถูกกีดกันในการมีบทบาท จนดูเหมือนจะแยกกันไปคนละทางกับบทบาทของพรรคที่หนุนเผด็จการ คสช. หรือแม้แต่นายอภิสิทธิ์ก็ได้กลายเป็น “คนวงนอก” เมื่อได้ลาออกจาก ส.ส.ของพรรค ที่ต้องลดบทบาทลงไปด้วยเช่นกัน แล้วก็มาถึงยุคของ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือที่ในโลกโซเชียลเรียกว่า “ดร.พี่เอ้” ซึ่งมีข่าวว่าได้เปิดตัวเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถือว่าเป็นเลือดใหม่ในทางการเมือง สำหรับตัวผู้เขียนนั้นได้รู้จักกับ ดร.สุชัชวีร์ มาตั้งแต่ที่ ดร.สุชัชวีร์ได้มาเรียนในหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยผู้เขียนเป็นกรรมการและอาจารย์ประจำหลักสูตร ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ทางสถาบันพระปกเกล้าก็ได้เชิญ ดร.สุชัชวีร์ให้มาเป็นกรรมการหลักสูตรนี้ด้วย รวมถึงที่เป็นโค้ชหรือผู้ดูแลโครงงานให้กับนักศึกษารุ่นต่อ ๆ มา ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่เป็นรุ่นที่ 11 จึงค่อนข้างจะแปลกใจที่ทราบข่าวว่า ดร.สุชัชวีร์ มาลงสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเท่าที่ได้รู้มา ดร.สุชัชวีร์นั้นสนใจการเมืองอยู่มาก และพอจะทราบแต่ว่า ถ้าเขาจะทำงานการเมือง ก็จะทำงานในกลุ่มการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่เขาอาจจะตั้งขึ้นเอง หรือร่วมกับคนรุ่นใหม่ตั้งขึ้น แต่นี่ก็ต้องถึงว่าเป็น “ก้าวกระโดดที่น่าตื่นเต้น” ที่ ดร.สุชัชวีร์ ได้อาศัยรากฐานที่มีมานานของพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นมาสู่วงการเมืองได้อย่างเอิกเกริก อันนับได้ว่าเป็นความชาญฉลาดของทั้งผู้ที่ตัดสินใจทาบทาม ดร.สุชัชวีร์มาลงสมัครในตำแหน่งนี้ กับทั้งตัว ดร.สุชัชวีร์เองที่ไม่ต้องสร้างพรรคการเมืองใหม่ให้เหนื่อยยาก ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่า ด้วยความสนใจทางการเมืองของ ดร.สุชัชวีร์ ในตอนแรกก็คงอยากจะตั้งพรรคการเมืองใหม่จริง ๆ แต่พอได้มาเห็น “ขาลง” ของพรรคเกิดใหม่ทั้งหลาย รวมถึงที่ล่าสุดได้มีการแก้ระบบบัตรเลือกตั้ง ที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคใหญ่ ๆ ทำให้ ดร.สุชัชวีร์ต้องมาคิดหนักว่าจะทำงานการเมืองด้วยพรรคการเมืองแบบไหนดี อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้แย้งว่านี่ ดร.สุชัชวีร์ลงแค่ผู้ว่าฯกรุงเทพฯนะ คงจะไม่ได้หวังเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งระดับชาติหรอก แต่ในความเชื่อของผู้เขียน ที่ได้ร่วมปลูกฝังคนรุ่นใหม่จำนวนมากในหลักสูตร ปนป.มากับ ดร.สุชัชวีร์ และที่ ดร.สุชัชวีร์ได้ร่วมศึกษามาด้วยนั้น ซึ่งหลักสูตรนี้มุ่งหวังให้นักศึกษาพัฒนาตนเองไปสู่ “ผู้นำระดับสูง” ในทุกองค์กร จึงเชื่อมั่นว่า ดร.สุชัชวีร์จะไม่หยุดอยู่แค่ตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ แต่ถ้ามีโอกาสเขาคงจะก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะในทางการเมืองนั้นก็คงจะขึ้นไปให้ถึงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” นั้นให้ได้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่สร้างดาวรุ่งมาในยุคหนึ่ง เช่น ยุค พ.ศ. 2512 (ยุคของนายชวน หลีกภัย และ ส.ส.หนุ่มสาวจำนวนมาก) หรือยุค พ.ศ. 2538 (ยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคนรุ่นใหม่ในยุคหลัง) ถ้าจะถือว่าใน พ.ศ.นี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ “ถูกลอตเตอรี่” ที่ได้ ดร.สุชัชวีร์เข้ามาเป็นแกนทางการเมืองในนามของพรรคก็คงไม่ผิด เพราะถ้าหาก ดร.สุชัชวีร์ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็อาจจะนำพา “วันชื่นคืนสุข” กลับมาสู่พรรคประชาธิปัตย์ได้อีกครั้ง ที่อาจจะสดชื่นรื่นเริงไปทั้งพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ “เหี่ยวเฉา” มานาน ก็อาจจะ “ชื่นบาน” คืนมาอีกครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “เจ้าที่ เจ้าถิ่น” ในพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศนั้นจะให้การต้อนรับและ “ส่งเสริม” ดร.สุชัชวีร์ขนาดไหน คือขออย่าได้ปัดแข้งปัดขาหรืออิจฉาริษยาผู้ที่เข้ามาใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีโปรไฟล์ “เด่น-ดัง-ดี” ในระดับ ดร.สุชัชวีร์นี้ พรรคประชาธิปัตย์ควรดำเนินกิจกรรม “ยอยศพระลอ” ให้ชื่อเสียงของ ดร.สุชัชวีร์นี้กระหึ่มไปทั่วประเทศ เพื่อเรียกศรัทธาและความยิ่งใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ให้คืนมา และเพื่อคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังอยากจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง