ทวี สุรฤทธิกุล นักการเมืองมีปัญหามาก แต่ทหารไม่มีปัญหา การเมืองไทยก็อยู่ใต้ท็อปบู๊ตดังเดิม คนที่สนใจติดตามการเมืองไทยอาจจะพอสังเกตได้ว่า การเมืองไทยยังคงอยู่ในบริบทเดิม ๆ อันหมายถึงยังคงมีโครงสร้างเดิม ๆ จึงเกิดกระบวนการทางการเมืองแบบเดิม ๆ ที่สุดคือเราก็ยังคงอยู่ที่เดิม คือภายใต้การบงการของกองทัพ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองไทยไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ในสมัยเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึง เมื่อปี 2560 ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้เขียนได้ไปวิเคราะห์การเมืองในช่องทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง และได้ตอบคำถามพิธีการในรายด้วยความมั่นใจเป็นอย่างมากว่า การเมืองไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มากนัก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ให้ทหารสืบทอดอำนาจ โครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองทั้งหลายได้ถูกกำหนดไว้อย่างถี่ถ้วนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้ทหารยังคงมีอำนาจครอบงำการเมืองไทยอยู่ต่อไป โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังอยู่ในเวลาของการเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งทั้งสองสถาบันคือพระมหากษัตริย์กับทหารยังคงมีความสัมพันธ์ในทางที่ส่งเสริมกันและกันอย่างลึกซึ้งและแน่นหนา พอมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็ปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐที่มีทหารกำกับควบคุมก็ชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับการเลื่อนไหลเข้ามารวมของพรรคที่อยากเป็นรัฐบาล อันแสดงถึงการยอมสยบต่อทหารของบรรดานักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนราษฎร ในเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ “ออร่า” ของพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ที่น่าจะเป็นเพราะอุบัติเหตุของการยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยที่ผู้แทนราษฎรในฝ่ายนี้เองก็ยังงง ๆ ว่าเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรได้อย่างไร ซึ่งมองเห็นภาพความเป็นมือใหม่ได้ชัดเจน เมื่อต้องมาทำงานการเมืองในรัฐสภาที่เมไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรด จึงถูกบดบังรัสมีไปมาก และหลายคนต้องดับไป อย่างหัวหน้ากลุ่มที่ชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงที่การจับประเด็นการเมืองในเรื่องที่อันตราย อย่างเรื่องการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงต้องถูกมัดรวมไปกับกลุ่มม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ที่ก็ถูกจับกุมและต้องขังด้วยคดีต่าง ๆ จนแทบจะไม่เหลือแกนนำออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งก็แน่นอนว่าภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่ทหารยังยึดครองอำนาจและความได้เปรียบไว้อย่างเหนียวแน่น กลุ่มการเมืองที่ยังคงใช้ยุทธศาสตร์ที่เป็นปฏิปักษ์กับกษัตริย์ก็จะยังถูก “ระเบิดนาปาล์ม” ทำลายล้างอยู่ในทุกสมรภูมิการเลือกตั้ง คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ชื่นชมทหาร ภายใต้ความเชื่อที่มั่นคงว่า “ทุกปัญหาต้องจบ ความสงบต้องมาก่อน” ก็จะยังเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่จะไม่เอาฝ่ายที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในทั้งสองสถาบันนี้ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมนี้กำลังตีปีก ด้วยเชื่อว่ากลุ่มก้าวหน้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นกำลังจะสิ้นสภาพไป ผู้เขียนได้คุยกับนักวิชาการในกลุ่มก้าวหน้า เขาพูดวิเคราะห์ให้ฟังว่า การเมืองไทยอาจจะเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการเมืองไทยเพียงแค่ 2 ส่วน หนึ่งคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสองคือสถาบันกองทัพ โดยในการต่อสู้ที่ผ่านมาอาจจะเป็นการกระทำแบบ “ตีวัวกระทบคราด” คือพยายามที่จะให้สถาบันกษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลง โดยการมุ่งไปเปลี่ยนแปลงที่สถาบันทหารเป็นสำคัญ แต่ความจริงแล้วผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์สำหรับประเทศไทย จะเกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงของพระมหากษัตริย์เองเป็นสำคัญ คือแม้แต่สถาบันทหารก็ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากทหารก็ต้องพึ่งกษัตริย์ในการที่จะทำให้ทหารนั้นคงมีอำนาจอยู่ต่อไป ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นก็ต้องรอให้สถาบันทั้งสองนี้ “ก้าวเดิน” ไปพร้อม ๆ กัน เหมือนกับการเล่นวิ่งสามขา ที่คนสองคนเมื่อถูกมัดขาข้างหนึ่งไว้ด้วยกัน ขาคู่นี้และอีกสองขาของแต่ละคนก็จะต้องก้าวไปในจังหวะที่พร้อม ๆ กันนั้นด้วย ในอดีตเวลาที่มีปฏิวัติรัฐประหาร ทหารมักจะมีสภาพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Solidarity ค่อนข้างสูง ซึ่งก็มีพลังมากพอที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะขัดขวาง จึงต้องยอมตามพลังของความเป็นปึกแผ่นระหว่างทหารทั้งหลายนั้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดก็ตามที่ทหารมีความแตกแยกอ่อนแอ ทหารแต่ละฝ่ายก็จะแย่งชิงกันให้อยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ให้มากที่สุด หรือไม่ก็ต้องชิงเอาองค์พระมหากษัตริย์นั้นมาอยู่ในฝ่ายของตน ซึ่งนั่นก็หมายถึงชัยชนะทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในมือของฝ่ายตนโดยสิ้นเชิงแล้ว ในขณะที่ทหารที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ในครอบครองก็จะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หรือเป็น “กบฏ” อย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยมาโดยตลอดนั้น ซึ่งถ้าหากจะพิจารณาด้วยทฤษฎีนี้ ขณะนี้ทหารไม่ได้มีความแตกแยก ทั้งพระมหากษัตริย์เองก็ทรงเป็นทหาร จึงทำให้กองทัพมีสภาพที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ การเมืองไทยจึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดที่ฝ่ายก้าวหน้าต้องการ ผู้เขียนใคร่นำเสนออีกทฤษฎีหนึ่ง อันเป็นทฤษฎีที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อธิบายให้ลูกศิษย์หลายต่อหลายคนฟัง คือทฤษฎี “ความไม่เอาไหนของบางสถาบัน” ได้แก่ สถาบันพรรคการเมือง สถาบันรัฐสภา และสถาบันระบบราชการ โดยท่านบอกว่า ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผู้มีอำนาจในยุคแรกคือคณะราษฎรนั้นก็ไม่ได้สร้างระบบรัฐสภาให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะความพยามยามที่จะผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มคณะราษฎร ดังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ต้องทรงสละราชสมบัติ เพราะความหวงอำนาจของคณะราษฎรดังกล่าว จนเมื่อคณะราษฎรเกิดความขัดแย้งกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2490 ตามมาด้วยคณะราษฎรฝ่ายทหารได้ทำลายคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนออกไป พร้อมกับที่ได้พยายามจะอิงแอบสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น แต่ก็สู้ทหารในสายที่เข้าถึงพระองค์ได้มาก ซึ่งก็คือทหารในฝ่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่อมาก็คือนายทหารที่นำกองทัพเข้าไปค้ำราชบัลบังก์ และนำมาซึ่งความผูกพันอันเหนียวแน่นของสถาบันทั้งสองนี้ อันเป็นที่มาของ “การเมืองแบบไทย ๆ” ที่ยังปรากฏอยู่ใทหารคณะ คสช.นี้ สิ่งที่ผู้เขียนจะได้อธิบายต่อไปตามทฤษฎี “ความไม่เอาไหนของสถาบันอื่น ๆ” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ยังมีรายละเอียดที่จะต้องอธิบายอีกพอสมควร จึงขอเอาไปอธิบายสัปดาห์หน้าหลังวันขึ้นปีใหม่ แล้วก็จะพบข้อสรุปว่า ทำไมการเมืองไทยในปีหน้าจึงไม่น่าจะมีอะไรใหม่ แม้ว่าบิ๊กตู่เองก็อาจจะไม่ค่อยเอาไหนเท่าไหร่ แต่ก็หาคนที่จะมาโค่นล้มบิ๊กตู่คนนี้ได้ยาก