เสรี พงศ์พิศ Fb Seri Phongphit ปลายปีมีบทเรียนชีวิตและสังคมหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น คือ ดราม่าต่างๆ ซึ่งหนักหน่วงจนถึงรุนแรงเพราะทุกคนมีเครื่องมือสื่อสารอยู่ในมือ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องการวิ่งครั้งใหม่ของคุณตูน บอดี้ สแลม ครั้งที่แล้วที่เขาวิ่งก็เป็นดราม่า เพราะคนไม่เห็นด้วยก็มี โยงไปเรื่องการเมืองก็มาก บอกว่าวิ่งให้ตายก็แก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซื้อเครื่องมือแพทย์ให้พอ ไม่ใช่รอให้ตูนวิ่ง ก็ถูก แต่ไม่ใช่ถูกคนเดียว คงมีความสับสนในประเด็น เพราะไม่ใช่ว่าทุกเรื่องต้องให้รัฐบาลทำ ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกที่ทำได้ทุกเรื่อง ไม่งั้นคงไม่มีมูลนิธินับแสนนับล้านที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำอะไรให้สังคม ไม่ว่าจะเพื่อกิจการระดับชาติหรือระหว่างชาติ อย่างมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิฟอร์ด มูลนิธิโฟล์กสวาเกน มูลนิธิโตโยต้า มูลนิธิบิลเกต และอื่นๆ ที่บรรดามหาเศรษฐีที่ตั้งใจจะมอบทรัพย์สินที่มีคืนให้สังคมในรูปแบบการสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน ยา ระบบสาธารณสุข การศึกษาและด้านต่างๆ รวมไปถึงส่งเสริมประชาธิปไตย ที่วิพากษ์วิจารณ์คุณตูนหลายคนหลายกลุ่มก็คงได้รับเงินสนับสนุนจากบุคคล องค์กร มูลนิธิในประเทศต่างประเทศ เพราะไปขอจากรัฐบาลประเทศไทยเขาคงไม่ให้ เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดในเรื่องวิธีคิด จึงจัดสรรค์งบประมาณไปสนับสนุนเรื่องที่ตนเองคิดว่าสำคัญกว่า ถ้าใจกว้างพอก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าคุณตูนคงไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรแทนรัฐบาล เพียงแต่เขาอยากแสดงน้ำใจช่วยเหลือคนที่ยากลำบากเท่าที่ตนเองจะมีวิธีทำได้ พอดีเขาเป็นบุคคลสาธารณะ มีชื่อเสียง ภาพลักษณ์ดี มีคนสนับสนุน เขาก็ใช้วิธีการระดมทุนในแบบของเขา หลายคนก็ทำในแบบของตน เหมือนจุดเทียนขึ้นมาคนละเล่ม ดีกว่านั่งด่าความมืด ด่าให้ตายไฟก็ไม่มา จนน้ำลายท่วมสภาก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง บางคนคิดแต่อย่างเดียวว่า ต้องปฏิวัติ ล้มระบบโครงสร้าง รื้อใหม่เท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้ และที่ตูนทำ หรือมูลนิธิต่างๆ เป็นการทำให้การปฏิวัติล่าช้า คำที่หลายปีก่อน ผู้นำซ้ายจัดของอินเดียวิจารณ์คุณแม่เทเรซา และแนะนำไม่ต้องไปช่วยคนจนบนถนนเมืองกัลกัตตา แต่ให้ไปรณรงค์หรือหาวิธีบอกกับรัฐบาลให้แก้ปัญหาความยากจนและความเจ็บป่วยจากรากเหง้า ให้เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนระบบโครงสร้างของรัฐบาลอินเดีย คุณแม่เทเรซาตอบว่า ท่านเพียงแต่อยากให้คนที่ป่วยและกำลังจะตายรู้ว่า ยังมีคนที่รักเขาอยู่ เท่านั้นเอง คุณค่าและความหมายของการกระทำของท่าน คือ ไม่ปล่อยให้คนตายเพื่อรอให้การปฏิวัติสำเร็จแล้วค่อยทำ ความจำเป็นและปัญหาของชีวิตตรงหน้ามีอยู่มากมายที่รอไม่ได้ ต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา โดยไม่มีใครปฏิเสธว่า การแก้ไขที่ได้ผลกว่า คือ การพัฒนานโยบายที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่ข้าวปลาอาหารเราต้องกินวันนี้ รอแต่งานเลี้ยงใหญ่เมื่อปฏิวัติสำเร็จอาจตายก่อน เมื่อปี 1988 มีการประชุมนานาชาติเรื่องจิตอาสาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานในพิธีเปิด ท่านกล่าวประโยคแรกที่จำได้ดีเพราะนั่งฟังอยู่ว่า “สหรัฐอเมริกาเกิดมาด้วยจิตอาสา” และคงไม่ใช่การตีฝีปาก เพราะไม่ว่าอเมริกาหรือประเทศไหน การก่อเกิดและการพัฒนาและอยู่จนถึงวันนี้ได้ก็เพราะจิตอาสาของผู้คนในสังคมนั้น ที่ช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันรับใช้กันและกันด้วยจิตสาธารณะ ทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสังคมจึงเป็น “ทุนทางสังคม” ที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกัน ไว้ใจกัน เป็นพี่น้องกัน ถ้าใช้ทุนนี้อย่างเหมาะสม สังคมก็จะพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง มีเทศบาลและอบต.หลายแห่งที่เป็นต้นแบบของการพัฒนา ที่มีการบริหารจัดการโดยมีฐานบนทุนทางสังคม จิตอาสาของสมาชิกที่แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ไม่ใช่เลือกมาแล้วก็เป็นหน้าที่ของพวกคุณ แม้แต่ใบไม้ไม่กี่ใบหน้าบ้านก็รอให้เทศบาลมาเก็บกวาด จิตอาสา จิตสาธารณะ คือคุณค่าของการเคารพในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของคนในสังคม ไม่ว่าสังคมในระบอบใดก็ต้องมี ไม่เช่นนั้น ปฏิวัติเสร็จก็จะได้สังคมแบบอะนิมอล ฟาร์ม ของจอร์จ ออร์เวลที่เขียนไว้ ว่าเมื่อบรรดาสัตว์ไล่คนที่เป็นนายออกไป ก็ตั้งตนเป็นผู้บริหารฟาร์มแทน แต่ไปๆ มาๆ กลับเลวร้ายไปกว่าคนที่ตนเองโค่นล้มนั้นอีก ออกฎหมายที่อ้างว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่บางตัวเท่าเทียมมากกว่าตัวอื่น” สิ่งที่คุณตูนทำเพื่อสังคมด้วยการวิ่ง ไม่ได้แตกต่างไปจากการกระทำดีๆ อีกมากมายที่ผู้คนทำให้กันและกันวันนี้ ไม่มีใครอ้างว่าไปทำแทนรัฐบาล แต่ทำไปเพราะต้องการช่วยเหลือคนอื่นที่ยากลำบาก และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมต่างหาก ที่ฝนแล้ง น้ำท่วม เกิดภัยพิบัติก็ไม่มีใครรอว่าเมื่อไรรัฐบาลจะมาช่วย แต่ลงมือช่วยกันทันที และก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลด้วยที่ต้องช่วยเหลือดูแล แต่รัฐราชการใช้เวลานานกว่าจะขยับ ดูแต่สองปีที่เกิดโควิดระบาด ทุกประเทศได้เห็นจิตอาสาหลายรูปแบบที่น่าชื่นชม รัฐบาลผู้เดียวคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เกิดจิตอาสาที่รวมตัวกันช่วยเหลือคนที่อยู่บ้าน ไปซื้อของ ซื้ออาหาร ช่วยส่งของ ส่งจดหมาย และอีกหลายอย่าง เหมือนสังคมตกอยู่ในความมืด มีคนที่ช่วยกันจุดเทียนคนละเล่มเพื่อส่องทางเดิน จนกว่าฟ้าจะสาง จะเห็นแสงทองผ่องอำไพ ที่ใครๆ ก็หวังว่าจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ สังคมในอุดมคติที่เราต้องการ น่าจะมีฐานบนระบบคุณค่าที่เราต้องร่วมกันสร้างตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าปราศจากรากฐานคุณธรรม สังคมระบอบใดที่ตามมาก็คงไม่ต่างจากฟาร์มสัตว์ของจอร์จ ออร์เวล สังคมไทยเปลี่ยนมากี่รัฐบาล ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เพราะสังคมที่แบ่งแยกและแตกแยกปกครองง่าย ทุนทางสังคมถูกทำลาย ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน การเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไร้ฐานคุณค่าที่หนักแน่นดีงาม ได้รัฐบาลไหนมาก็ไม่แตกต่างกัน สิ่งที่คุณตูนทำ และหลายคนทำเพื่อคนอื่นควรได้รับการยกย่อง เป็นแบบอย่างแรงบันดาลใจ เป็นการสืบสานและส่งเสริมทุนทางสังคมให้แข็งแรงในสังคมที่มีมือถือสื่อสารกันมากกว่าจำนวนพลเมือง แต่คนก็อยู่อย่างโดดเดี่ยว เหมือนพอใจอยู่ในความมืด ได้แต่รอว่าเมื่อไรไฟฟ้าจะมาหรือฟ้าจะสาง ขอให้บทเรียนสำคัญในปีเก่าที่กำลังผ่านไป ให้พลังทางปัญญาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต