ทวี สุรฤทธิกุล อาจจะมีบางสถานการณ์ที่ทหารเอาไม่อยู่ โดยทั่วไปหลังการยึดอำนาจ ทหารจะมีปัญหาในการบริหารอำนาจอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรก การจัดวางอำนาจใหม่ หมายถึงการมอบหมายให้บุคคลเข้าประจำในส่วนอำนาจต่างๆ ได้แก่ องค์กรนิติบัญญัติเพื่อรองรับความชอบธรรมให้กับคณะปฏิวัติ และคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการควบคุมการบริหารของประเทศ ซึ่งก็ต้องพิจารณาหาบุคคลที่ไว้วางใจไม่คิดคดทรยศ เป็นบุคคลที่ทหารควบคุมและชี้นำได้ ที่สำคัญที่สุดคือต้องให้ความร่วมมือและขับเคลื่อนการทำงานต่างๆ อย่างเต็มที่ ส่วนต่อมา การรักษาอำนาจให้มั่นคงเข้มแข็ง หมายถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่คณะผู้ปกครอง ได้แก่ การกำจัดเสี้ยนหนามศัตรูคู่แข่ง การแสวงหาพันธมิตรเครือข่ายมาปกป้องคุ้มครอง หรือบางคณะรัฐประหารอาจจะสร้าง"ความน่าสะพรึงกลัว" ข่มขวัญหรือสร้างกระแสไม่ให้มีใครต่อต้านหรือคิดล้มล้าง แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือการโปรยปรายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เช่น จัดประชานิยมให้แก่ประชาชน เป็นต้น อีกส่วนหนึ่ง การสืบทอดอำนาจ หมายถึงการทำให้อำนาจนั้นมีความต่อเนื่อง ให้คณะรัฐประหารได้อยู่ในอำนาจต่อไป อาจจะด้วยหลายๆเหตุผล เช่น ถ้าลงจากอำนาจแล้วอาจจะอยู่ในอันตรายถูกล้างแค้น หรือยังมีภารกิจติดพันต้องทำต่อไปอีก เช่น การปฏิรูปประเทศ หรือยัง "หวาน ลิ้น" ในผลประโยชน์ ไม่อยากสูญเสียประโยชน์ที่ได้มาจากการมีอำนาจนี้ รวมถึงอาจจะรักษาอำนาจไว้เพื่อให้คนที่วางใจได้มารับไม้ต่อ ในกรณีของประเทศไทย เรามีการรัฐประหารมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำรัฐประหารแบบ "ตกกระไดพลอยโจน" ไม่ได้มีการวางแผนมาอย่างรอบคอบหรือเป็นระบบ คือถูกสถานการณ์บีบบังคับ เพราะความบกพร่องของรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่น กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 อันนำมาซึ่งการรัฐประหารในปี 2490 หรือด้วยเหตุความวุ่นวายของการเมืองในประเทศและความขัดแย้งในหมู่ประชาชนหรือผู้มีอำนาจ ได้แก่ การรัฐประหาร 2519, 2534, 2549 และล่าสุด 2557 นี้ โดยเหตุที่การรัฐประหารดังกล่าวขาดการตระเตรียมหรือวางแผนมาอย่างรัดกุม ส่งผลให้ทุกครั้งหลังการรัฐประหารมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
ประการแรก การสร้างความชอบธรรมหรือการยอมรับให้เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหามากนักในระยะแรก เพราะผู้คนยังเกรงขามในกำลังของกองทัพ จึงยอมให้ทหารเข้าควบคุมกลไกต่างๆ ของประเทศโดยดี แต่ในระยะต่อมาก็จะเกิดการต่อต้านออกมาเป็นระยะ ทั้งทางลับและทางเปิดเผย ที่สุดก็อาจจะสร้างความผุกร่อนให้กับความชอบธรรม แล้วคณะทหารก็จะถูกต่อต้านหรือล้มล้างในที่สุด ประการต่อมา การสร้างความนิยมและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เนื่องจากคณะรัฐประหารไม่ได้มีการเตรียมการอะไรมาก่อนเมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็จำเป็นจะต้องหาคนเข้าไปทำงานในส่วนต่างๆ ของกลไกรัฐ ได้แก่ รัฐสภาและรัฐบาล ซึ่งอาจจะหาคนมาร่วมงานได้ยากเว้นแต่ทหารด้วยกัน หรือคนที่อยากมาเสวยอำนาจซึ่งก็ไม่ค่อยมีฝีมือ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือคอยแต่กอบโกยแบบ "น้ำขึ้นต้องรีบตัก" ประการสุดท้าย การเตรียมมอบอำนาจหรือ "เปลี่ยนผ่าน" นับว่าเรื่องนี้เป็นความบกพร่องที่ร้ายแรงที่สุดในทางการเมืองการปกครอง อันเกิดจากความ "อ่อนหัด" หรือไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้(รวมถึงที่ไม่อยากรู้และไม่อยากเข้าใจ เพราะหลงมัวเมาในอำนาจ) จึงคิดแต่ความอยู่รอดปลอดภัยของคณะทหารเป็นหลัก ทำให้เกิด "ตะกอนอำนาจ" สร้างปัญหาให้แก่การปกครองภายหลังรัฐประหารนั้นมากมาย วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวมีไม่มากนัก ที่เราเห็นทหารไทยแก้ปัญหาดังกล่าวในเวลาที่ผ่านมาก็เช่นการเสริมคนดีมีชื่อเสียงมาประดับ เพื่อสร้างความชอบธรรมหรือความน่าเชื่อถือให้กับคณะรัฐประหาร หรือการใช้นโยบาย "พิมพ์นิยม" คือการทำให้ประชาชนมีความพอใจด้วยประชานิยมต่างๆ หรือสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน(อย่าง ที่ คสช.ใช้กระบวนการปฏิรูปประเทศ)เพื่อดูมีความเป็น "ประชาธิปไตยนิดๆ" เพื่อที่จะ"สยบ" ความเคลื่อนไหวของคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทหารคิดจะเอามาเป็นพวก บางครั้งเมื่อสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่ทหารต้องการ หรือมีสถานการณ์อื่นที่อุบัติขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน ที่แม้ว่าจะอยู่ในภาวะครอบงำทางอำนาจของคณะทหารนั้นอยู่แล้ว แต่ด้วยโครงสร้างอำนาจที่ทหารจัดวางไว้ก่อนหน้านี้ไม่อาจรับกับความรุนแรงของสถานการณ์นั้นได้ทหารก็อาจจะต้องมีการ "เอ็กเซอร์ไซส์" บางอย่างตามมา เช่น เพิ่มระดับความเข้มข้นของการใช้อำนาจ หรือที่สุดต้องเข้าจัดการกับอำนาจนั้นเสียใหม่ ด้วยวิธีการที่ทหารทำได้ง่ายที่สุด นั่นก็คือ "การยึดอำนาจตัวเอง"ที่เรียกว่า "ปฏิวัติซ้ำ" หรืออาจจะทำ "รัฐประหารซ้อน" โดยทหารกลุ่มใหม่ หรืออาจจะเป็นทหารที่อยู่ในคณะผู้มีอำนาจเดิมแต่เพิ่งขึ้นมามีความเข้มแข็งภายหลังจนสามารถขึ้นมายึดอำนาจทหารกลุ่มเดิมได้ ไม่รู้ว่าประเทศไทยจะเจออะไรในช่วงเวลาต่อไป