ทวี สุรฤทธิกุล ประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด แต่ก็ดีลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ฝูงชนอเมริกันจำนวนหนึ่ง ได้บุกเข้าไปที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันดีซี เพื่อประท้วงไม่ยอมรับชัยชนะของนายโจ ไบเดน ที่มีต่ออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบใหม่ตอนปลายปี 2563 และจะต้องมีพิธีเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มกราคม 2564 ซึ่งผู้เขียนได้ดูภาพข่าวจากโทรทัศน์ในเช้าวันศุกร์ที่ 7 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ที่สหรัฐอเมริกาถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มีการจัดพิธีรำลึกอย่างยิ่งใหญ่ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้ออกมากล่าวสุนทรพจน์สู่สาธารณชนผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อร่วมรำลึกในโอกาสนี้ด้วย ในข่าวดังกล่าว ได้เสนอสกู๊ฟของ VOC หรือ Voice of America ที่ได้ไปสัมภาษณ์นักวิชาการบางท่าน เพื่อให้วิเคราะห์ว่าทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญยิ่งนัก ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนจับความได้ มีนักวิชาการท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า เหตุการณ์บุกรัฐสภาของชาวอเมริกันในวันนั้น สะท้อนถึง “ความเสื่อมถอย” ของระบอบประชาธิปไตย และเช่นเดียวกันกับที่มีประชาชนในประเทศอื่น ๆ ของโลกก็ก่อความรุนแรง ก็เป็นเนื่องด้วยความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองของตนเองนั่นเอง โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยอีกหลาย ๆ ประเทศ ที่ก็มีปัญหาแบบเดียวกันกับสหรัฐ และนี่ก็จะกลายเป็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้บางประเทศอาจจะต้องปรับแก้รูปแบบการปกครอง หรือบางทีก็อาจจะต้อง “เปลี่ยน” เป็นระบอบอื่นไปเลย นักวิชาการท่านดังกล่าวยังได้อธิบายว่า สาเหตุของความวุ่นวายดังกล่าวในหลาย ๆ ประเทศ ต่างก็มี “บริบท” หรือปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกันไป โดยที่ในสหรัฐอเมริกา นอกจากจะไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งที่คนที่พวกผู้ประท้วงเชียร์ คือทรัมป์ต้องพ่ายแพ้แก่ไบเดนแล้ว ยังมีปัญหาการรังเกียจคนต่างเชื้อชาติ หรือเรื่องชาตินิยมในหมู่คนอเมริกันบางส่วนนั้นด้วย ในขณะที่ประเทศอย่างตุรกีและอินเดียก็จะเป็นปัญหาสังคมด้านอื่น ที่จะหนักไปในเรื่องศาสนาและประวัติศาสตร์ ส่วนประเทศอย่างชิลีและเปรูก็จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจคือความยากจนข้นแค้นเป็นหลัก (พอดีผู้เขียนจับความได้เพียงบางประเทศเท่านี้) และในช่วงท้ายผู้รายงานข่าวของ VOC ได้พูดถึงการคลี่คลายของปัญหา บอกว่าความวุ่นวายดังกล่าวได้มีอุปสรรคเกิดขึ้นไปทั่วโลก ทำให้ความวุ่นวายเหล่านั้นต้องบรรเทาเบาบางไปเอง นั่นก็คือวิกฤติโควิด 19 ที่ทำให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ได้ใช้มาตรการการควบคุมทางสังคมและสาธารณสุขที่เข้มงวด และบางประเทศได้ฉวยโอกาสในการใช้อำนาจแบบนั้น เข้าจัดการกับปัญหาทางการเมือง คือการควบคุมม็อบไม่ให้แพร่กระจายเชื้อโรค ที่แต่ละประเทศถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาทางการเมือง ผู้เขียนดูข่าวนี้ไปก็คิดเข้ามาที่การเมืองของประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน และด้วยแนวคิดที่นักวิชาการเหล่านั้นได้เอามาอธิบาย ผู้เขียนจึงได้รู้ว่าประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างมากไม่แพ้อีกหลาย ๆ ประเทศเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งได้มองเห็นสาเหตุของความวุ่นวายในระบอบประชาธิปไตยของไทยว่า คงจะมีสาเหตุมาจากโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาด้วยตั้งแต่แรกที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เพราะคณะราษฎรเองก็ไม่ยอมปล่อยอำนาจไปสู่ประชาชน ต่อจากนั้นเราปกครองมาด้วยระบอบ “ศักดินาประชาธิปไตย” ที่อำนาจอยู่ในมือของชนชั้นนำมาโดยตลอด แม้แต่ในสมัยที่นายกรัฐมนตรีมาจากรัฐสภาเลือกหรือมาจากผู้แทนราษฎรด้วยแล้ว รัฐบาลและบรรดาสมาชิกรัฐสภาก็ยังต้องยอมก้มหัวให้แก่ “ผู้ถือครองอำนาจ” ที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า “พวกอำมาตย์” (ในความหมายของผู้ที่สนับสนุนระบอบทักษิณจะหมายถึง ทหาร ข้าราชการ กลุ่มทุน และผู้ที่อยู่เหนือทั้ง 3 กลุ่มนี้) แม้ในกระทั่งทุกวันนี้ระบอบประยุทธ์ก็ปกครองด้วยกลุ่มคนดังกล่าว ผู้เขียนค่อนข้างจะเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถ้าจะมองด้วยทัศนะของกูรูการเมืองไทยที่ผู้เขียนเคารพนับถือท่านหนึ่ง ซึ่งก็คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น ท่านเคยบอกว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นเรื่องการเปลี่ยนอำนาจจาก “เจ้าพวกเก่า” มาสู่ “เจ้าพวกใหม่” เท่านั้น แม้ว่าต่อมาเจ้าพวกใหม่ที่ชื่อว่า “คณะราษฎร” จะแตกคอกัน แต่แกนนำของคณะราฎรในฝ่ายทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ยังครองอำนาจต่อมา และได้สถาปนาลัทธิ “นายทุนขุนศึก” ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงวันที่นักศึกษาและปัญญาชนได้เดินขบวนขับไล่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่พอเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ขึ้นมามีอำนาจบ้าง ใน พ.ศ. 2518 แต่ก็อยู่ได้เพียง 2 รัฐบาล ก็ถูกทหารมายึดอำนาจคืนไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่ง พ.ศ. 2522 ก็คืนอำนาจให้บางส่วนผ่านการเลือกตั้ง โดยที่ทหารก็ยังครองอำนาจต่อมา ตามแผนการที่วางไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 จนหมดยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เปิดโอกาสให้นักเลือกตั้งขึ้นมาครองอำนาจอีกครั้ง แต่ทหารก็อดที่จะเข้ามายึดอำนาจคืนไปอีกไม่ได้ ก็ทำรัฐประหารอีกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน กระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 หลายคนก็คิดว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประชาธิปไตยเสียที ต่อพอเลือกได้นายกรัฐมนตรี “สามานย์” เข้ามาใน พ.ศ. 2544 ประชาธิปไตยก็ยิ่งแย่ลงไปอีก จนกระทั่งต้องเดินขบวนกันขับไล่ยืดเยื่อมาอีก 4 - 5 รัฐบาล กระทั่งจอมพล เอ๊ย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำทหารเข้ามา “ปรับทัศนคติ” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ถึงวันนี้ทหารก็พยายามรักษาอำนาจไว้ให้อยูในมือหมู่อำมาตย์ดังเดิม อย่างทีเห็นเป็นเงื่อนกลอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะมีใครเชื่อแบบผู้เขียนไหมว่า ขณะนี้ประชาธิปไตยของไทยได้ถึง “คลองตัน” คือไปไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะอำนาจน่าจะอยู่ในมือทหารและ “อำมาตย์” นี้ไปอีกนาน และยิ่งทหารรู้อยู่รู้เล่น ที่ให้นักการเมืองทะเลาะกัน ประชาชนก่อความวุ่นวาย ข้าราชการหย่อนประสิทธิภาพ เศรษฐกิจผุพัง เพื่ออ้างสิทธิ์ในการสืบต่ออำนาจของทหาร ที่เป็น “ผู้กล้า - ผู้เก่ง” แต่เพียงกลุ่มเดียว ที่จะจัดการปัญหาทั้งปวงของประเทศนี้ได้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่งการเมืองไทยน่าจะถึง “บางจาก” คือการจากไปของทหาร ที่ต้องขึ้นอยู่กับการตัด “ห่วงโซ่อุปทาน” ที่ต้องพึ่งพากันและกัน หรือเลี้ยงดูกันอยู่ในหมู่อำมาตย์นั้นเสีย ดังที่อดีตนายกรัฐมนตรี “หน้าเหลี่ยม” เคยพยายาม และให้บริวารสืบทอดเจตนานั้นมาจนถึงกลุ่มคนเสื้อแดงและม็อบสามกีบในทุกวันนี้ ที่พวกคนเหล่านั้นก็คาดหวังว่าการต่อสู้นี้ “คงอีกไม่นาน” แต่ประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่นี้ก็น่ากลัวเหมือนกัน คืออาจจะเป็นยุคของ “ซอมบี้ดิจิตอล” ก็ได้