เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit สองปีที่ผ่านมา สังคมใช้เวลา ใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาโรคระบาด การซื้อวัคซีน การฉีดวัคซีน การรักษาผู้ป่วย การซื้อยาจากต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญน้อยมากกับการสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาทางเลือกในการป้องกันและดูแลรักษาด้วยภูมิปัญญาและการพึ่งพาตนเอง ไม่ว่าผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวัคซีนต่างก็ยอมรับเหมือนกันอย่างหนึ่งว่า วิธีดีที่สุดในการรับมือกับโรคระบาดนี้ คือ การดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ใช่แค่ล้างมือ ถือระยะห่าง แต่สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงที่สุดตามธรรมชาติ จะเห็นได้ว่า ผู้มีสุขภาพดี ภูมิต้านทานดี วัคซีนไม่ว่าเข็มที่เท่าไรคือตัวกระตุ้นเท่านั้น แล้วทำไมเราไม่สร้างสุขภาพ ไม่สร้างภูมิต้านทาน ไม่ส่งเสริมวิธีการขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ รับรู้ และสู้กับโรคระบาดไม่ว่าสายพันธุ์ไหน ไม่ใช่วิ่งตามวัคซีนไปไม่รู้จบ เพราะไวรัสก็จะกลายพันธุ์ไปไม่รู้จบ เกิดสายพันธุ์ใหม่ เหมือนที่ได้เกิดซาร์ส เกิดเมอร์ส รวมไปถึงที่เกิดในหมูหมากาไก่อีกเท่าไร เรารับแต่ข้อมูลแทบจะข้างเดียวเกี่ยวกับคุณูปการของวัคซีน มีแต่ข่าวคนที่ติด ป่วย ตายเกือบทั้งหมดล้วนไม่ได้ฉีดวัคซีน ยิ่งเป็นคนดังที่เคยปฏิเสธวัคซีน ถ้าป่วยแล้วตายก็กลายเป็นข่าวใหญ่ แต่คนที่ฉีดสองเข็มสามเข็มยังติดยังตาย ไม่เป็นข่าว ลองคิดดูว่า ใครได้ประโยชน์จากข่าวเหล่านี้ ข่าวน้อยใหญ่จึงวนเวียนอยู่แต่เรื่องวัคซีน เรื่องติดเท่าไร ป่วยเท่าไร ตายเท่าไร จนเบื่อหน่ายไม่อยากฟัง ไม่อยากติดตาม หรืออาจเพราะคนเบื่อถึงมีการสรุปว่า โควิด-19 อาจกลายเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ตัวหนึ่งเท่านั้น มีสำนักข่าวในฝรั่งเศสวิเคราะห์ว่า ในประเทศยากจนและกำลังพัฒนา คนตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ความอดอยาก หิวโหย ความเครียด จนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ มีมากกว่าตายเพราะโควิดมากนัก แต่ไม่มีการพูดถึง ประเทศรวยทั้งหลายมัวแต่วุ่นอยู่กับการฉีดวัคซีนเข็มที่สามสี่ห้า นักวิเคราะห์ฝรั่งเศสถามว่า ในเมื่อโลกวันนี้เชื่อมต่อกันหมด สัมพันธ์กันหมด แก้ปัญหาต้องแก้ทั้งโลกพร้อมกัน ไม่ใช่แก้แต่ที่บ้านคุณ เพราะที่สุดก็แก้ไม่ได้ ไวรัสก็กลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ และอาจกลายพันธุ์อื่นในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะคุณคิดแต่จะเอาตัวรอดคนเดียว แต่เมื่อไวรัสยังระบาดในประเทศอื่นๆ ที่สุดก็กลับมาระบาดที่บ้านคุณอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะฉีดกี่เข็ม อย่างที่กำลังเกิดขึ้น เหมือนการแก้ปัญหายุงชุมในบ้านคุณด้วยการปิดบ้านฉีดยาฆ่าแมลง แต่ยุงก็ไม่หมด เพราะที่สุดคุณก็ต้องเปิดประตูเข้าออก ยุงก็ยังเข้าบ้านได้ไม่ว่าจะมีมุ้งลวดหรือยากันยุง เพราะเมืองคุณทั้งเมืองฉีดยากันยุงแต่ในบ้านคนรวย ส่วนบ้านคนจน ชุมชนแออัด ยังมีน้ำเน่า น้ำขังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วจะแก้ปัญหายุงชุมในเมืองนี้ได้อย่างไร เพราะยุงไม่ได้บินอยู่ในแต่ในชุมชนแออัด โลกวันนี้ก็เป็นเหมือนเมืองหนึ่งแบบนี้ ปัญหาการเมืองโลก เป็นปัญหาโลกแตก โลกาวิบัติ เรื่องอุดมคติกับความเป็นจริงพูดง่ายแต่ทำยาก ยังห่างไกลกันนัก ยากที่จะให้ประเทศร่ำรวยเข้าใจและยอมรับระบบโลกที่เป็นธรรมมากกว่านี้ เอาแค่ทุนนิยมที่ประเทศร่ำรวยเหล่านี้เป็น “นายทุน” ก็มองไม่เห็นหนทางที่จะลดราวาศอกในการทำ “กำไร” ไม่ว่าจากยา วัคซีน สารเคมี และธุรกิจสุขภาพ แพทย์พาณิชย์ โลกต้องการ “สุขภาพ” มากกว่า “วัคซีน” แต่ทุนนิยมสามานย์และแพทย์พาณิชน์เอาวัคซีนมาก่อนสุขภาพ และบีบให้รัฐบาลเดินตามแนวคิดนี้ตลอดมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อสุขภาพกลายเป็นธุรกิจ ก็ย่อมต้องเอากำไรเป็นที่ตั้ง อเมริกาไม่ได้สรุปบทเรียนจากร้อยปีที่ผ่านมา ที่สร้างแต่ถนนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์และน้ำมัน ไม่มีนโยบายเรื่องรถไฟความเร็วสูงจนถึงวันนี้ อเมริกาจึงเต็มไปด้วยถนนแปดเลน สิบเลน สองระดับสามระดับ แต่ก็แก้ปัญหารถติดไม่ได้ แก้ปัญหามลพิษไม่ได้ ขณะที่จีนสร้างรถไฟความเร็วสูงกว่า 38,000 กม. ญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปก็ทำมานานแล้ว เรื่องสุขภาพ โลกกำลังเน้นแต่เรื่องวัคซีน เดินตามหลังอเมริกา ที่มีผลประโยชน์เรื่องวัคซีนมากที่สุด ไม่สนใจเรื่องการส่งเสริมสุขภาพแบบอื่น มีแต่ข่าวเรื่องวัคซีนใหม่ เรื่องยาใหม่ จึงไม่แปลกที่จะมีทฤษฎีสมคบคิดที่มีฐานความจริงไม่น้อยเกิดขึ้นเต็มไปหมด ด้วยเหตุนี้ วิธีที่สังคมไทยจะทำได้ดีกว่าเพียงการเดินตามหลังกระแสโลกวันนี้อย่างง่ายๆ คือ การพัฒนาทางเลือกเพื่อสร้างสุขภาพของประชาชนด้วยภูมิปัญญาและทรัพยากรของตนเอง ซึ่งมีอย่างพอเพียง อยู่ที่ว่า เปิดใจยอมรับได้หรือไม่เท่านั้น หรือว่ายังแกะไม่หลุดจากอเมริกาผู้สร้างกระแสวัคซีนเหนือกระแสสุขภาพ ลองคิดแบบบูรณาการดูว่า การส่งเสริมอาหารสุขภาพ การส่งเสริมการทำสมาธิเพื่อให้คลายเครียดและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยท่าพื้นฐานมวยไทย รวมทั้งเพื่อป้องกันตัวเอง การส่งเสริมการนวดไทย เอาแค่สี่อย่างนี้ให้ดีที่สุด สี่อย่างที่เป็นเอกลักษณ์ไทย จะไม่ได้แต่สุขภาพของปวงชนที่จะฟื้นคืนมา แต่จะได้การท่องเที่ยวคุณภาพ ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดอะไรอีก ผู้คนทั่วโลกต้องการสุขภาพ ไม่ใช่วัคซีน แต่ถูกทำให้หายใจเข้าออกเป็นวัคซีนเพราะการครอบงำของอำนาจนำ (hegemony) ทางสาธารณสุขของ “แพทย์เทพเจ้ากาลี” อย่างที่อีวาน อีลลิชบอก แปลกใจว่า บ้านเราแพทย์ดีๆ มีมากมาย ทำไมถึงมีพลังน้อยมากในการพัฒนาทางเลือกเพื่อสุขภาพของประชาชนคนไทย หรือว่าแพทย์เหล่านี้แม้ไม่มีผลประโยชน์กับธุรกิจยา ธุรกิจวัคซีน แต่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบ “วันเวย์-ทางด่วน” คิดถึงแต่ “โรค” ไม่ได้คิดถึง “คน” จึงติดกับดักวัคซีนไม่ต่างจากแพทย์พาณิชย์อื่นๆ เพราะถ้าเอา “คน” มาก่อน ก็จะไม่เอาวัคซีนนำหน้าสุขภาพอย่างที่เห็นในบ้านเมืองวันนี้